น.3คอลัมน์ : คำมั่น สัญญา ปม แก้ไขรัฐธรรมนูญ นโยบาย เร่งด่วน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังยืนกรานในจุดแข็งที่ “รัฐธรรมนูญได้ผ่านประชามติ” และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ระบุอย่างหนักแน่นจริงจัง

“กำลังแก้ปัญหาน้ำท่วมอยู่ ยังไม่ใช่เวลาที่จะมาคุยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ”

พรรคประชาธิปัตย์ก็เพิ่งผ่านมติเห็นชอบให้เสนออนุมัติเพื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

พรรคชาติไทยพัฒนาก็ผ่านมติแบบเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์

Advertisement

ต้องยอมรับว่า ไม่ว่ามติของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่ามติของพรรคชาติไทยพัฒนา สอดรับกับญัตติก่อนหน้านี้ของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยื่นต่อสภา

ปรากฏการณ์เช่นนี้หมายความว่าอย่างไร

ทาง 1 เท่ากับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา มีความเห็นต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

Advertisement

ทาง 1 ก็คล้อยตามทิศทางของ “ฝ่ายค้าน”

ในความเป็นจริง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา ดำเนินการอยู่ในกรอบอันชอบด้วยเหตุผลอย่างสมบูรณ์

เพราะการแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของรัฐบาล

คงจำได้ว่าก่อนการตกลงจะขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์มีเงื่อนไขให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ในที่สุด การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็น 1 ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

รูปธรรมอันเด่นชัดก็คือ ในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็อ่านอย่างชัดถ้อยชัดคำ

ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา จึงมีเหตุผล

และที่สำคัญ เหตุผลนี้ไม่เพียงแต่เป็นเหตุผลในลักษณะจำเพาะของพรรคประชาธิปัตย์หากแต่ยังเป็นเหตุผลในการอนุวัตตามนโยบายของรัฐบาล

พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา จึงไม่ผิด

หากจะถือเป็นปัญหา หากจะถือเป็นประเด็น ก็คือ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันมีการตีความวลีที่ว่า “นโยบายเร่งด่วน” ผิดกัน

นั่นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา ตีความอย่างหนึ่ง

นั่นก็คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคร่วมพลังประชาชาติไทย ตีความไปอีกอย่างหนึ่ง

จึงมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้เป็นเอกภาพ

คำถามก็คือ อะไรคือกรอบ อะไรคือนิยามอย่างแท้จริงของ “นโยบายเร่งด่วน” เป็นภายในกำหนด 1 ปี หรือว่าไม่มีกรอบ ไม่มีเวลาที่แน่นอน

คำถามนี้ย่อมมาจาก “ประชาชน”

พลันที่รัฐบาลบรรจุและถือว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วน นั่นหมายถึง ข้อผูกมัด นั่นคือคำมั่น

เป็นคำมั่นในลักษณะ “สัญญาประชาคม”

นับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม เป็นต้นมา ประเด็นว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญย่อมอยู่ในความสนใจ ของสังคมโดยรวม

คำถามก็คือ รัฐบาลจะ “ปฏิบัติ” อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image