ปริญญา‘ปลอม’ในสังคม‘เปลือก’ : โดย กล้า สมุทวณิช

จุดด่างพร้อยอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศไทย คือการกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปหรือเทียบเท่า

เจตนารมณ์ของผู้ร่างในตอนนั้นเท่าที่จำได้คือความเชื่อที่ว่า ผู้แทนราษฎรนั้นจะต้องมีความรู้ไม่น้อยกว่าราษฎร ดังนั้นความรู้อย่างน้อยระดับปริญญาตรีที่เป็นเหมือนวุฒิการศึกษาเบื้องต้นในระดับอุดมศึกษาจึงเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ

คุณสมบัติของ “ผู้แทนราษฎร” (ซึ่งแม้แต่สมาชิกวุฒิสภาเองตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน) นั้นจึงเป็นการกีดกันประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศในการเข้าสู่ตำแหน่งผู้แทน ซึ่งอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า นี่คือจุดที่แย่ที่สุดของรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ซึ่งในภายหลังตามรัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญปัจจุบัน คุณสมบัติเรื่องการศึกษาขั้นต่ำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนี้ก็ถูกยกเลิกแล้ว และไม่ว่าใครต่อใครก็เห็นตรงกันว่า ถ้าจะมีเหตุให้ต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับนั้นกลับมาใช้แล้ว อย่างน้อยในเรื่องนี้ก็ต้องแก้ไข

ผลของรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ทำให้นักการเมืองที่ไม่เคยเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.มาก่อน (ซึ่งเป็นข้อยกเว้นในการไม่ต้องมีวุฒิการศึกษาตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว) ต้องเร่งขวนขวายหา “ปริญญา” มาประดับตัวเพื่อเล่นการเมือง บางคนก็ไปสายมืดใช้วุฒิการศึกษาที่เชื่อว่าไม่ได้ไปเรียนมาจริง โชคร้ายถูกจับได้ก็มีผู้ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ต้องตรวจสอบและวินิจฉัยว่า ส.ส.ท่านนั้นจบปริญญาตรีจริงหรือไม่ จนพ้นตำแหน่งกันไป (กรณีของ ส.ส.ท่านนั้น ในส่วนของ “ปริญญาตรี” ของท่านไม่มีปัญหา เพราะสำเร็จจากมหาวิทยาลัยเอกชนที่ได้รับการยอมรับ แต่วุฒิที่เอาไปสมัครเรียนปริญญาตรีนั่นต่างหากที่เชื่อว่าไม่ได้ไปเรียนไปผ่านมาจริง)

Advertisement

หรือก่อนหน้านั้น เรื่องของ “การศึกษา” ก็เคยเป็นประเด็นโจมตีกันในทางการเมือง เช่น ที่อดีตนายกรัฐมนตรี นายบรรหาร ศิลปอาชา ถูกพรรคประชาธิปัตย์ไปขุดเอาวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของท่านมาอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นว่าท่านลักลอกผลงานของผู้อื่นดัดแปลงมาเป็นวิทยานิพนธ์ หรืออาจจะไม่ได้ทำวิทยานิพนธ์เอง ทั้งๆ ที่ปัญหาว่าท่านจะสำเร็จปริญญามหาบัณฑิตหรือไม่นั้น มันไม่ได้เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินหรือความน่าไว้วางใจในทางการเมืองใดๆ เลย

บทบัญญัติดังกล่าวของรัฐธรรมนูญ 2540 ดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงยุคสมัยแห่งความ “บ้าปริญญา” ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ “การศึกษา” ของค่านิยมในสังคมไทยซึ่งเข้าสู่จุดสูงสุด และแม้ในปัจจุบันก็เหมือนไม่ได้บรรเทาเบาบางลง

ความ “บ้าปริญญา” ในสมัยนั้นและต่อมาอีกยาวนานไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเมือง แต่ยังลุกลามไปถึงตลาดงาน ที่ไม่ว่างานไหนๆ บริษัทห้างร้านหรือองค์กรก็เรียกร้องผู้จบปริญญาตรีกันโดยไม่จำเป็น แม้แต่ในงานที่สมัยก่อนสำเร็จเพียงประกาศนียบัตรวิชาชีพก็ทำงานได้และทำได้ดีด้วย และเท่ากับเป็นแรงกดดันให้คนที่จบปริญญาตรีและอยากทำงานในระดับสูงขึ้นจะต้องไปเรียนปริญญาโท หรือคนที่ยังไม่มีปริญญาตรีไม่ว่าจะมีประสบการณ์ในการทำงานมาแค่ไหน หรือทำงานได้ดีเพียงใด ก็จำเป็นต้องไปเรียน “ปรับวุฒิ” เพื่อกลับมาทำงานเดิมๆ ให้ก้าวหน้า

Advertisement

ผลของค่านิยมดังกล่าวทำให้มีการเปิดหลักสูตรปริญญาตรีและปริญญาโทกันเกร่อเกลื่อนด้วยระดับความง่ายยากแตกต่างกันไป บางหลักสูตรคนเขาก็นินทา หรือเป็นที่รู้กันในวงการว่าเป็นหลักสูตรที่เปิดขึ้นมาเพื่อ “อัพวุฒิ” ให้แก่ผู้ที่ต้องการจะมีปริญญา เรื่องนี้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ มหาวิทยาลัยก็ได้เงินไป ผู้อยากได้วุฒิก็เอาวุฒิมา ซึ่งส่วนใหญ่ก็เอาใบปริญญาไปใส่กรอบตั้งโชว์ที่บ้านหรือนำหน้าชื่อหรือต่อท้ายนามสกุลเล่นโก้ๆ โดยไม่ได้ประสงค์จะใช้วุฒินั้นอย่างเป็นทางการอะไรจริงจัง ดังนั้นหลักสูตรประเภท “จ่ายครบจบแน่” เหล่านี้ก็ไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อวงการวิชาการหรือการศึกษาอะไรเท่าใดนัก

และถ้าจำไม่ผิด (เพราะนี่คือข้อมูลจากการสังเกต) ประเพณี “บัณฑิตตัวน้อย” ที่มีการจัดพิธีคล้ายรับปริญญาให้เด็กอนุบาลก็เริ่มขึ้นในช่วงนั้น และเป็นมรดกตกทอดมาจนทุกวันนี้

ค่านิยมที่เชื่อว่าปริญญาคือการศึกษา ผู้มีการศึกษามากคือผู้มีปัญญามาก และผู้ที่มีปัญญามากกว่าคือผู้ที่เสียงดังกว่าและทุกคนสมควรจะต้องฟัง ใครสักคนที่พูดเรื่องอะไรก็ตามออกสื่อ ก็จะต้องห้อยท้ายแสดงปริญญาทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น และก็ไม่ต้องพิจารณาด้วยว่าปริญญาที่ว่านั้นมันเกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องที่พูดหรือแสดงความคิดเห็นหรือไม่ ผู้จบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมอาจจะแสดงความเห็นในเรื่องของเศรษฐกิจหรือกฎหมาย (ซึ่งก็เป็นเสรีภาพที่ใครๆ ก็พูดได้) แต่สื่อก็จะต้องพะคำนำหน้าให้ว่าเป็น “ดร.”

สภาพสังคมที่บูชาปริญญาว่าเป็นเปลือกห่อความรู้และปัญญาเช่นนี้ยังตกทอดต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ปัญหาของสังคมไทยเท่านั้น การให้ความสำคัญกับเปลือกแห่งปริญญานั้นน่าจะเป็นปัญหาร่วมกันของสังคมเอเชียตะวันออก ซึ่งสะท้อนแสดงออกมาผ่านสื่อทั้งบันเทิงและไม่บันเทิงที่เราคงนึกกันออก ในขณะที่ในสังคมตะวันตกนั้น ปริญญามีไว้เพียงเพื่อใช้สมัครงานตามความจำเป็นและความต้องการ ในบางสังคมประเทศนั้นจบเพียงระดับมัธยมปลายก็เพียงพอต่อการทำงานทั่วไปที่อาศัยทักษะและประสบการณ์แล้ว ส่วนปริญญาตรีก็จะได้ทำงานที่จะต้องใช้ความรู้อย่างจำเพาะเจาะจง หรืออย่างมากระดับปริญญาโทก็คือผู้ที่จะได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญด้านนั้นสมดังชื่อปริญญาที่เป็น Master Degree ส่วนปริญญาเอกนั้น เท่าที่เห็นในสังคมเช่นนั้น ผู้ที่จะเรียนคือคนที่ตั้งใจว่าจะก้าวเข้าสู่โลกของนักวิชาการและอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เช่นนั้นการเรียนปริญญาเอกที่จะต้องทำวิจัยก็เป็นส่วนหนึ่งของ “การงาน” ที่จะต้องผ่านให้ได้เพื่อแสดงให้เห็นซึ่งถึงความพร้อม

ความเชื่อว่า คนมีการศึกษา “เสียงดัง” กว่า มี “ความชอบธรรม” ในการแสดงความคิดเห็นมากกว่านั้นแสดงให้เห็นชัดเจนจากอีกหลายเรื่องในสังคมไทย อย่างที่ในช่วงแห่งความสับสนของการเรียกร้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง (ที่เราก็รู้กันแล้วว่ามันจบลงอย่างไร) ก็มีหลายหนและหลายคนที่ได้แสดงความเห็นว่า หรือพลเมืองแต่ละคนควรจะมีสิทธิเลือกตั้งลดหลั่นกันไปตามการศึกษา เช่น ปริญญาตรีได้ 2 เสียง ปริญญาโทก็ 3 เสียงเพิ่มกันไป

หรือแม้แต่การที่มีผู้ที่ชอบใช้คำนำหน้าชื่อว่า “ดร.” ในการแสดงตนต่อสังคมชาวเน็ตท่านหนึ่งพยายามโจมตีวุฒิการศึกษาของ ปิยบุตร แสงกนกกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกด้านกฎหมายมาจากประเทศฝรั่งเศส ว่าเป็นปริญญาเอกที่มาจากมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับไม่สูง (เมื่อเทียบกับบุคคลผู้นั้น) ซึ่งเรื่องนี้ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่ามหาวิทยาลัย Toulouse Capitole จะมีแรงกิ้งเท่าใดหรือได้รับการยอมรับในเรื่องมาตรฐานทางวิชาการหรือไม่ (เรื่องนี้วิญญูชนที่สติดีปัญญาไม่พร่องคงพอพิจารณาได้) แต่เจตนารมณ์ของผู้โจมตีก็คือการทำลายความน่าเชื่อถือของปริญญาเอก (และคำนำหน้าชื่อ ดร.) ของปิยบุตร ซึ่งผู้กระทำนั้นอาจจะหวังว่าจะเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของผู้แทนราษฎรท่านนั้น ทั้งๆ ที่มันไม่ได้เกี่ยวกันสักนิด เพราะความน่าเชื่อถือของคำพูดหรือความคิดเห็นของใครย่อมขึ้นกับความสมเหตุสมผลและความถูกต้องของข้อมูลในความคิดเห็นหรือคำพูดนั้น ไม่ใช่วุฒิการศึกษาของผู้พูด

ดังนั้น เอาเข้าจริง ผมจึงไม่ค่อยให้น้ำหนักอะไรกับประเด็นเรื่องการใช้วุฒิการศึกษาปริญญาเอกที่น่าเคลือบแคลงของรัฐมนตรีคนดังในรัฐบาลที่กำลังเป็นกระแสในตอนนี้เลย เพราะมันมีเรื่องใหญ่กว่านั้นที่ควรเพ่งเล็งการแต่กระนั้นการตรวจสอบเรื่องวุฒิการศึกษาของท่านผู้นั้นของหลายคนหลายฝ่ายก็เป็นสิ่งที่สมควรกระทำ เพราะแม้ว่าการจะสำเร็จปริญญาเอกหรือไม่นั้น ไม่ใช่สิ่งจำเป็นอันใดที่จะนำมาใช้พิจารณาเกี่ยวกับความชอบธรรมของท่านในการบริหารราชการแผ่นดินเลยแม้แต่น้อย

แต่ในเมื่อท่านจะเข้าสู่สนามแห่งการ “อวดวุฒิ” ท่านก็ควรจะต้องเล่นตามกติกา ให้คนเขาตรวจสอบกันว่าไอ้ที่ท่านอวดอ้างนั้น ท่านได้มาจริงหรือไม่อย่างไร ซึ่งฝ่ายที่ประสงค์จะตรวจสอบก็อาจจะต้องแม่นในหลักการว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐมนตรีผู้นั้นจบหรือไม่จบปริญญาเอก แต่เป็นเรื่องของการอวดคุณวิเศษอันไม่มีในตนต่อสาธารณะ ที่แม้ในทางการเมืองจะไม่ใช่เหตุอาบัติปาราชิก แต่ก็เป็นเรื่องของความชอบธรรมและความซื่อสัตย์สง่างาม รวมถึงความเคารพในตัวเองด้วย

เราเพ่งเล็งและโจมตีกันเรื่องนี้น่าจะดีกว่าการวิ่งวนอยู่ในหลุมทรายของความบ้าคลั่งปริญญาและวุฒิการศึกษา เพราะปริญญานั้นไม่ใช่ความรู้ และความรู้นั้นก็ไม่ใช่ปัญญาในตัวของมันเอง

และในยุคสมัยที่ “ความรู้” และ “การศึกษา” กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่เราอาจจะจินตนาการได้ยาก ว่าการเข้ามา Disrupt เรื่องปริญญาและการศึกษาในรูปแบบที่เรารู้จักคุ้นเคยนั้นจะมาในรูปแบบไหน บริษัทใหญ่ๆ ที่ทำงานด้านเทคโนโลยีระดับโลก เช่น Apple หรือ Google เริ่มให้ความสำคัญกับใบปริญญาและวุฒิการศึกษาน้อยลง จนถึงระดับไม่พิจารณาเรื่องการศึกษาแบบปริญญาเลยในหลายตำแหน่งที่มุ่งเน้นในเรื่องนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ส่วนบริษัทยุคใหม่ในประเทศไทยก็เริ่มจะเห็นการประการรับสมัครงานประเภทว่าต้องการคนที่ทำอะไรได้บ้าง มากกว่าระบุไว้แบบสมัยก่อนว่า “…จบปริญญาตรี สาขา…”

แน่นอนว่าการศึกษาในยุคต่อๆ ไปนั้นจะยังคงมีอยู่ แถมยังเป็นไปได้ที่จะทวีความเข้มข้นขึ้นไปอีกด้วย คนที่ได้รับการศึกษาไม่เพียงพออาจจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอาจจะเป็นปัญหาหนักกว่านี้ แต่การศึกษาในวันข้างหน้า แม้ว่าจะยังมีสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัย แต่เราอาจจะไม่มี “ปริญญา” ในรูปแบบเดิมอีกต่อไป

เช่น เราอาจจะไม่มี “นิติศาสตรบัณฑิต” แต่จะมีผู้ที่รู้กฎหมายและสามารถร่างสัญญารวมถึงการต่อรองเพื่อให้การดำเนินงานหรือธุรกิจเป็นไปได้ภายใต้กติกาของบ้านเมือง โดยที่ผู้นั้นอาจจะไม่ต้องไปเรียนวิชาที่ว่าด้วยการดำเนินคดีในศาลเลยแม้แต่หน่วยกิตเดียว แต่เป็นการลงเรียนด้านการสั่งการ AI ที่ทำหน้าที่วางแผนในการว่าความต่อสู้คดีแทน หรือเราอาจจะไม่ต้องการผู้จบนิเทศศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์ แต่เราต้องการส่วนผสมของผู้ที่มีความรู้ทั้งสองศาสตร์นี้ในการอธิบายให้สังคมเข้าใจถึงบริบทปัญหาของเศรษฐกิจโลกในยุคนั้น

ในโลกที่ถ้าเราถามลูกๆ ของเราใน พ.ศ.2574 ว่าหนูเรียนจบอะไรมา เธอจะเตรียมคำตอบให้เรายากมาก และคำตอบนั้นอาจจะเป็นว่าเธอมีความรู้ในเรื่องใดและจะเอาไปใช้ประยุกต์กับเรื่องอะไร

ซึ่งผมก็ได้แต่หวังว่าเมื่อถึง พ.ศ.นั้น ไม่รู้ว่าจะต้องเสพได้รู้ข่าวสารด้วยวิธีใด แต่ก็คงจะไม่ต้องอ่านข่าวจับผิดเรื่องใครใช้ปริญญาปลอม หรือมหาวิทยาลัยใครลำดับเหนือกว่าด้อยกว่าใครอีกแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image