ทำเนียบขาวขาดสายเหยี่ยว ความขัดแย้งจีน-สหรัฐไม่เปลี่ยนแปลง : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งปลด “จอห์น โบลตัน” ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงทำเนียบขาวออกจากตำแหน่งนั้น นำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ต่อแต่นี้ไปนโยบายต่างประเทศของสหรัฐจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ประการใด

เนื่องจาก “จอห์น โบลตัน” เป็นนักการเมืองสายเหยี่ยวระบือนาม และมีฉายานามว่า “คนบ้าสงคราม” จึงเป็นเหตุให้ประชาคมโลกเข้าใจว่าเขาคือผู้ที่กระหายสงคราม

แต่ความเป็นจริงปรากฏว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐ “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็นผู้กำกับมาโดยตลอด และก็เป็นที่รับรู้ร่วมกันของ 2 พรรคการเมืองในวงกว้าง

สำหรับ “จอห์น โบลตัน” เป็นเพียงที่ปรึกษาในแนวทางการรบเท่านั้น

Advertisement

ฉะนั้น การจากทำเนียบขาวของเขาจึงไม่เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐในสมัยของ “โดนัลด์ ทรัมป์” คงยังต้องดำรงอยู่ในสภาพความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง

ตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคง คือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาว ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอันดับ 1 สำหรับนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดี

ตั้งแต่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ขึ้นดำรงตำแหน่งเพียงระยะเวลา 32 เดือน เขาได้เปลี่ยนคนไปแล้ว 3 ครั้ง “จอห์น โบลตัน” ทำหน้าที่เพียง 17 เดือนก็ถูกปลด

แต่เขาก็มิใช่อายุราชการสั้นที่สุด

หาก “ดาบแรก” คือ Michael Flynn อยู่ได้เพียง 24 วัน แต่มิได้เป็นข่าวเกรียวกราว

แต่การถูกปลดของ “จอห์น โบลตัน” ที่กลายเป็นข่าวใหญ่ น่าจะเกิดจาก 2 สาเหตุ

1.เป็นสายเหยี่ยวสุดโต่ง ไม่ยอมผ่อนสั้นผ่อนยาว

2.หลังจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ปลดเขาออก ก็ได้ประกาศว่าไม่ตัดประเด็นการเจรจากับอิหร่าน และส่งสัญญาณว่าจะพิจารณาให้บรรลุสัญญาชั่วคราว อันเกี่ยวกับสงครามการค้ากับจีน

การถูกปลดของ “จอห์น โบลตัน” จึงยังเป็นที่สงสัยคลางแคลงใจของประชาคมโลก

“จอห์น โบลตัน” เป็น “สายเหยี่ยว” ตัวจริง สมัย George W.Bush เขาเป็นตัวการร่วมในการกำหนดนโยบาย “โหดร้าย” โดยเป็นผู้กำกับการวางแผนโจมตีเกาหลีเหนือ อิหร่าน และอิรัก

ก่อนที่รับหน้าที่ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของ “โดนัลด์ ทรัมป์” เขาได้เสนออย่างจริงจังและแข็งขันให้ยกเลิกสัญญานิวเคลียร์อิหร่าน

ส่วนนโยบายที่มีต่อจีน เขาเห็นว่าประเทศจีนขยายขอบเขตการทหารที่ทะเลใต้ จึงเสนอให้สหรัฐเข้าทำการแทรกแซงทะเลใต้

นอกจากนี้ยังไม่ยอมรับ “นโยบายจีนเดียว” จึงสนับสนุน “ไต้หวัน” ในทุกทางเท่าที่ทำได้ เช่น ให้การต้อนรับข้าราชการไต้หวันที่ไปเยือนสหรัฐ เป็นต้น

พฤติการณ์ของ “จอห์น โบลตัน” ขัดต่อกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายหลายฉบับ

ฉายา “คนบ้าสงคราม” นั้นสมดังชื่อ ครั้นเมื่ออิหร่านยิงตกเครื่องบินไร้คนขับของสหรัฐ เขาเสนอให้ส่งกองทัพถล่มอิหร่านโดยพลัน แต่ “ทรัมป์” สั่งยุติการบุกอิหร่านก่อนหน้าเครื่องบินรบออกปฏิบัติการเพียงเล็กน้อย

ตั้งแต่เรื่องสั่งระงับการโจมตีอิหร่าน ความไม่ลงรอยระหว่าง “ทรัมป์” กับ “โบลตัน” ก็ได้เริ่มแพร่กระจายไปในโลกโซเชียลตามลำดับและกลายเป็น Talk of the world

ในที่สุด การที่ “ทรัมป์” และ “โบลตัน” ศรศิลป์ไม่กินกันนั้น

ได้รับการยืนยันจากทำเนียบขาว

นโยบายต่างประเทศของสหรัฐได้มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง เช่น

1 ผ่อนปรนการคว่ำบาตรอิหร่าน

1 เจ้าหน้าที่จีน-สหรัฐ กลับเข้าโต๊ะเจรจาอีกวาระ 1 เพื่อเตรียมการประชุมเดือนตุลาคม

ต้องยอมรับว่า หลังจากที่ “จอห์น โบลตัน” พ้นจากตำแหน่ง ความตึงเครียดสหรัฐ-อิหร่าน ความตึงเครียดสหรัฐ-จีน ได้ผ่อนคลายลงไปพอสมควร

หากการเปลี่ยนแปลงท่าทีของสหรัฐจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ “โบลตัน” โดยตรง หรือเป็นเทคนิคทางการเมืองของ “ทรัมป์” ยังยากแก่การยืนยัน

เพราะเนื่อง “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็นคนพูดจาหุนหันพลันแล่น เพื่อความสะดวกไปเฉพาะคราวหนึ่งๆ เท่านั้น ทั้งนี้ โดยไม่รักษาคำพูด ทำลายเครดิตของตน จึงขาดความเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า “จอห์น โบลตัน” สายเหยี่ยวสุดโต่งได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่สายเหยี่ยวอีกหลายคนยังอยู่ เช่น

1 “ไมค์ เพนซ์” รองประธานาธิบดี

1 “ไมค์ ปอมเปโอ” รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ

1 “มาร์ค เอสเปอร์” รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม

1 “โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์” ผู้แทนเจรจาการค้าจีน-สหรัฐ

บรรดา “สายเหยี่ยว” ยังอยู่กันพร้อมหน้า สหรัฐสามารถใช้จุดแข็งจัดทัพใหม่ โดยการสร้างวินัยการเมืองสากล ตลอดจนนโยบายต่างประเทศ

การที่ “จอห์น โบลตัน” พ้นจากตำแหน่ง จึงไม่เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่

โซเชียลมีเดียในสหรัฐรายงานว่า ความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” และ “จอห์น โบลตัน” คือปัญหาอิหร่านและเกาหลีเหนือ

แต่ไม่ปรากฏว่ามีประเด็นนโยบายที่มีต่อจีนแต่ประการใด

ฉะนั้น จึงพอจะอนุมานได้ว่า นโยบายที่สหรัฐมีต่อจีนในอนาคต ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องจากที่ “จอห์น โบลตัน” พ้นตำแหน่ง เหตุผลคือ

“โดนัลด์ ทรัมป์” มีนโยบายจำกัดการพัฒนาของจีน อันเป็นที่ยอมรับของอเมริกันชนว่าสอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา

และจากนี้ไปสหรัฐ-จีนยังจะต้องดำรงสภาพการแข่งขันชิงชัยอย่างเต็มรูปแบบและต่อเนื่อง

ตราบนานแสนนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image