อีสานน้ำปริ่ม รัฐบาลปริ่มน้ำ น้ำท่วมท่วมปาก

อีสานน้ำปริ่ม รัฐบาลปริ่มน้ำ น้ำท่วมท่วมปาก

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าด้วย “ท่าที” ของรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาน้ำท่วม

เริ่มต้นขึ้นจากภาพที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางลงไปยังภาคใต้

และ “พบปะชื่นมื่น” กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ผู้มีส่วนผลักดันสถานการณ์ให้เข้าสู่ทางตันจนเกิดการรัฐประหารปี 2557

Advertisement

ในขณะที่มีการแพร่ภาพอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ทำให้จังหวัดอุบลราชธานีแปรสภาพเหมือนทะเลสาบขนาดใหญ่

โลกเสมือนมีการเผยแพร่แฮชแท็ก #saveubon กันอย่างกว้างขวาง

พร้อมกับการปรากฏตัวของอดีตพระเอกภาพยนตร์ ผู้หันมาเอาดีทางบริการสาธารณะอย่าง บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์

Advertisement

ที่โพสต์ตัดพ้อรัฐบาล และประกาศควักเงินส่วนตัวประเดิมจำนวน 1 ล้านบาท

เพื่อนำไปช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยในอุบลราชธานี

เพียงชั่วข้ามคืน ยอดบริจาคที่หลั่งไหลเข้ามาบัญชีของอดีตพระเอกหนุ่มเฉียดทะลุ 250 ล้านบาท

ในขณะที่วันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีที่ไปเป็นประธานการสัมมนายุทธศาสตร์ชาติ ก็หลุดปากว่า “เบื่อ”

ที่ไปไหนมีแต่คนขอเงิน

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ตั้งใจจะโยงเรื่องดังกล่าวกับกรณีน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือไม่

แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าด้วย “ความไม่จริงใจ-ความไม่เหมาะสมต่อกาลเทศะ” ที่ดังกระหึ่มอยู่แล้ว

ยิ่งกึกก้องยิ่งขึ้น

น้ำที่ท่วมปริ่มอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี เหมือนถูกเทระบายเข้ามาท่วมทำเนียบรัฐบาล

อาการปริ่มน้ำของรัฐบาลที่ดำรงมาเป็นเวลา 2 เดือน

ถูกน้ำที่ปริ่มเอ่อเข้ามาท่วมปากเพิ่มขึ้นอีกเรื่อง

ดูเหมือนทีมงานของนายกรัฐมนตรี จะตระหนักและเข้าใจปฏิกิริยาอันเกิดจากความอึดอัดคับข้องใจของประชาชนจำนวนไม่น้อยได้ดี

เพียงหนึ่งวันหลังจากนั้น ท่าทีของนายกรัฐมนตรีจึงพลิกกลับมาจากหน้ามือเป็นหลังมือ

มีการตีปี๊บประโคมว่ารัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพจัดงานรับบริจาคจากพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน

มีการเรียกตัว บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ให้กลับจากอุบลราชธานีมานั่งรับโทรศัพท์รอการบริจาค

ผลจากการระดม “สปอนเซอร์ใหญ่” -หน่วยราชการ-รัฐวิสาหกิจ

ชั่ว 2 ชั่วโมงครึ่งของการเปิดรับบริจาค รัฐบาลสามารถระดมเงินได้ทั้งสิ้น 263 ล้านบาท

แต่ในคืนเดียวกันนั้น เงินบริจาคผ่านบัญชีของอดีตพระเอกใหญ่พุ่งไปเกินกว่า 300 ล้านบาทเรียบร้อย

อย่างไรก็ดี กรณีนี้จำนวนเงินไม่ใช่ประเด็นใหญ่

ประเด็นหลักของเรื่องเงินบริจาคนั้นอยู่ที่ บรรยง พงษ์พานิช ผู้มีประสบการณ์ตรงกับเงินช่วยผู้ประสบภัยสึนามิ 1,100 ล้านบาท ที่ใช้ไปจริง 200 ล้านบาท

ขณะที่อีก 900 ล้าน ไม่ได้ถูกใช้ไปตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค

ว่า

เงินบริจาคที่จะต้องเข้าสู่ระบบและระเบียบการเบิกจ่ายของรัฐนั้น

– สามารถใช้จ่ายได้รวดเร็วทันกาลและทันการณ์หรือไม่

– มีความเปิดเผยโปร่งใส สามารถชี้แจงต่อประชาชนได้อย่างไร

และประเด็นของการวิพากษ์วิจารณ์อีกข้อหนึ่งจากคนจำนวนไม่น้อยก็คือ

ในเมื่อรัฐบาลมี “งบฉุกเฉิน” อยู่ถึง 50,000 ล้านบาท

เงินก้อนนี้ถูกใช้ไปในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างไร

ลงถึงพื้นที่ตามวันและเวลาที่ต้องการหรือไม่

จากกรณีคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่ถึงขั้นต้องมีการเปิดประชุมสภาเพื่ออภิปรายโดยไม่มีการลงมติก็ดี

กรณีคุณสมบัติของรัฐมนตรีไม่ว่าจะเป็นประวัติในอดีต หรือคุณวุฒิการศึกษาที่น่าเคลือบแคลงก็ดี

ซ้ำเติมด้วย “ท่าที” ที่พลาดพลั้งจากกรณีน้ำท่วม ที่แม้จะพลิกพลิ้วหาทางออกได้อย่างหวุดหวิดหวาดเสียวก็ดี

ล้วนแล้วแต่แสดงถึงอาการ “ปริ่มน้ำ” ของรัฐบาลอย่างชัดเจน

ต่อให้อุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือจังหวัดอุบลราชธานีลดลงไป

น้ำที่ท่วมปากอยู่ในทำเนียบรัฐบาลก็อาจจะไม่ลดตามลงไปง่ายๆ

ถ้ายังไม่มีการตรวจสอบ ทบทวน หรือแก้ไขการทำงานและจุดยืน

2 เดือนยังทุลักทุเลปานนี้

อนาคตจะมีหน้าตาแบบไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image