โครงการสามัคคีโฟล์กซอง มิติใหม่ของดนตรีบำบัด

“มันคือเสียงเพลงที่เกิดจากคอนเสิร์ตเล็กๆ ที่แสนอบอุ่นแต่มีพลัง อยากให้ทุกคนจดจำวันนี้ให้ดี เพราะมันจะตราตรึงอยู่ในใจของน้องๆ ทุกคน ตลอดไป” เสียงจากผู้สนับสนุนโครงการสามัคคีโฟล์กซอง “Folk Song in Harmony” จัดโดยมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ร่วมกับแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2562 ณ คอนเสิร์ตฮอลล์ “Yamaha Music Hall” ชั้น 4 อาคารสยามกลการ ถนนพระราม 1 กรุงเทพมหานคร

รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เปิดเผยว่า งานศิลปะทุกชนิดเป็นเสรีภาพที่ทุกคนจะทำได้ หัวใจที่เสรีนำไปสู่การพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ เด็กเกิดมาทุกคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน แต่ความสามารถนั้นต้องมาจากการฝึกฝน ฝึกฝนให้เชี่ยวชาญ เพราะสุดท้ายแล้วเราจะพบว่าไม่มีใครทำให้เราเก่งได้ นอกจากตัวเราเองต้องฝึกทุกวัน เด็กที่เข้าร่วมโครงการในวันนี้ถือว่าได้รับโอกาสที่ดีมาก เขาสามารถเดินต่อไปได้อย่างมีความหวัง ขอให้ทุกคนอย่าสิ้นหวัง คนเราเลือกเกิดไม่ได้ เราลบอดีตไม่ได้ เราเขียนประวัติศาสตร์ของเราใหม่ไม่ได้ แต่ทุกคนสามารถเลือกอนาคตได้ ด้วยการสร้างด้วยมือของเราเองครับ

นางสาวทยารัตน์ โสภณพงษ์ หรือครูทอมมี่ สมาชิกวงจันทร์แรม กล่าวว่า เมื่อ 4 เดือนที่แล้วได้รับการติดต่อจากมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ให้เข้าร่วมโครงการสามัคคีโฟล์กซอง “Folk Song in Harmony” โดยการถ่ายทอดความรู้ เทคนิคและวิธีการให้กับเด็กและเยาวชนทั้ง 5 ศูนย์ฝึก และ 1 โรงเรียน ได้แก่ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านอุเบกขา ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านมุทิตา ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายสิรินธร โรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ และโรงเรียนฟ้าใสวิทยา

สิ่งที่วงจันทร์แรมได้ในวันแรกที่เข้าบ้าน ไม่ใช่ความรุนแรง ความก้าวร้าว แต่สิ่งที่เราได้คือแพสชั่น (Passion) เราเห็นแววตาเด็กที่พร้อมจะเปิดใจเรียนรู้ดนตรี บางคนไม่เคยรู้จักดนตรีหรือบางคนไม่มีโอกาสได้จับเครื่องดนตรีเลยด้วยซ้ำ มันเหมือนกับเรามาเติมเต็มให้กับเขา เราได้สอนดนตรีตั้งแต่ระดับพื้นฐาน เราวางแผนร่วมกับมูลนิธิ และแผนงาน ว่าแต่ละสัปดาห์เราจะสอนอะไร เราเป็นนักดนตรีก็อยากเทให้เขาได้ทั้งหมดเหมือนกัน แต่ด้วยระยะเวลาและการประเมินความจำเป็นเราจึงจะต้องตัดทอนสิ่งที่เป็นประโยชน์และเด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้จริง เช่น การอ่านโน้ต เขาไม่สามารถอ่านโน้ตทั้งเล่มได้

Advertisement

นั่นคือโจทย์ที่วงจันทร์แรมต้องมาขบคิดว่าจะมีเทคนิคอะไรที่เขาจะเข้าใจได้ง่ายและเร็วที่สุด เราได้ฝึกความเป็นมืออาชีพผ่านการสอนดนตรีให้เด็กทุกบ้าน เด็กต้องฟังพูดอ่านเขียนได้ ต้องรู้จักทฤษฎี รู้จักการรวมกับวง ฉะนั้นเขาจะได้รู้จัก 3 อย่าง คือ พื้นฐาน การรวมวง และประยุกต์ใช้ ไม่ว่าสถานการณ์เฉพาะหน้าเป็นยังไง เขาจะต้องรับมือได้อย่างมืออาชีพ และปัญหาเราเจอคือ เครื่องดนตรีมีจำกัด เราก็จัดหามาให้เด็กได้เล่นกันครบวงเลย

และสิ่งที่น่าทึ่งคือ เขาทำได้ เขามีศักยภาพมากกว่าที่เราคิด เราจึงต้องดันเขาไปให้สุด แม้ว่าวงจันทร์แรมจะต้องขยันมากขึ้น เหนื่อยหนักมากขึ้น

ครูทอมมี่กล่าวต่อว่า ความรู้และเทคนิคที่ทุกคนได้รับจนถึงวันนี้เขาสามารถนำไปถ่ายทอดให้กับรุ่นน้องได้ และสามารถต่อยอดด้วยการเรียนและเล่นดนตรีอาชีพได้ ครูอยากให้ทุกคนจำเสียงบรรยากาศของวันนี้ มันคือภาพจำที่ดี ซึ่งมันสำคัญกว่าทฤษฎีทั้งปวง อยากให้จำความรู้สึกตอนที่เราเล่นดนตรีแล้วเรายิ้มไปด้วยกัน มันมีความหมายและสร้างช่วงเวลาแห่งความสุข ตลอดเวลาเราไม่เคยมีความตึงเครียด ไม่เคยขู่เข็ญให้เขาต้องเล่น เราอยู่กันแบบพี่สอนน้อง เราพูดเรื่องดนตรีกันทั้งวัน มันหมายความว่าเขาคิดเสมอว่าเขาจะสามารถเก่งขึ้นเรื่อยๆ

Mind set เขาถูกเซตไว้แล้ว เพราะเราสร้างแวดล้อมให้เขาอยู่กับดนตรี เขาก็อยู่ได้ด้วยความสุข ไม่เบื่อหน่าย ไม่เคยออกนอกกรอบเลย

เพื่อนสนิทที่ไว้ใจมากที่สุด เป็นเหตุให้ผมมีความผิด ฐานรับซื้อของโจรและต้องเข้ามาอยู่บ้านนี้รวมระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน ชัย (นามสมมุติ) อายุ 17 ปี เยาวชนจากศูนย์ฝึกอบรมเด็กชายบ้านมุทิตา กล่าวถึงเรื่องที่เป็นเหมือนฝันร้ายในอดีตที่ทำให้เขาต้องเข้ามาใช้ชีวิตที่บ้านมุทิตาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนถึงวันนี้กว่า 1 ปีแล้ว แต่เดิมผมไม่ใด้เกเรหรือยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดนะครับ ผมเรียนหนังสือตามหน้าที่ ใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป

แต่เมื่อผมโตขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับพ่อแม่ห่างเหินมากขึ้น เราทะเลาะมีปากเสียงกันทุกครั้งที่คุยกัน ผมเริ่มไม่ฟังเสียงของพ่อแม่ นั่นคือต้นเหตุที่ทำให้ผมหันไปพูดคุยและพึ่งพาเพื่อนในกลุ่มตลอด ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ และผมรู้แล้วว่าเส้นทางที่ผมเดินนั้นมันบิดเบี้ยว ผมจึงต้องเข้ามาใช้ชีวิตในบ้านมุทิตาแห่งนี้

เมื่อมูลนิธิ และครูวงจันทร์แรมก้าวเข้ามาวันแรก ครูใจดีมากครับ ไม่มีสายตาดูถูกเหยียดหยามเราเลย แม้เราจะเป็นเยาวชนผู้กระทำผิดมาก่อน ครูเป็นเสมือนพี่ที่มาถ่ายทอดการเล่นดนตรี สอนวิธีอ่านโน้ต ตอนแรกผมก็กังวลว่าโน้ตแต่ละตัวคืออะไร เป็นยังไง เราจะทำได้ไหม เห็นแต่คนมีฐานะเขาไปเสียเงินเรียนกัน แต่ผมและเพื่อนก็พร้อมลุยและลองเล่นเลย ผมมีความสุขกับเสียงดนตรีมาก

ผมได้ระเบียบวินัยจากบ้านนี้ การช่วยเหลือเพื่อนในวง การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น อีกไม่นานเมื่อพ้นโทษออกไป ผมจะได้มีอาชีพดูแลลูกและภรรยาต้องทำงานหาเงินให้พ่อแม่ และการเล่นดนตรีจะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างรายได้ให้ผม ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกคน ถ้าอยู่ข้างนอกเราคงไม่มีโอกาสได้เรียนดนตรีแบบนี้ ตอนเราอยู่ข้างนอกเรากลับเจอแต่สิ่งที่ไม่ดี แต่ในบ้านนี้เรากลับได้เรียนรู้เรื่องดีและเห็นค่าของการทำดีครับ

“โอ้” (นามสมมุติ) เด็กหนุ่มอายุ 20 ปี จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก เปิดเผยว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว มีความผิดฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครอง และต้องใช้ชีวิตที่บ้านนี้ต่อไปอีก 5 ปีครับ เปิดเผยว่า ครั้งแรกที่มีครูจากมูลนิธิ และวงจันทร์แรม เข้ามาสอน ผมดีใจมากและเกิดแรงบันดาลใจ อยากเล่นดนตรีอย่างจริงจัง และในที่สุดเราก็ทำสำเร็จครับ ผมกับเพื่อนรวมตัวกันเป็นวงเพื่อไปเล่นดนตรีเปิดหมวกที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและตลาดนัดจตุจักร ได้เงินมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งมันทำให้ผมภูมิใจมาก นอกจากนี้ ผมยังได้มิตรภาพจากเพื่อนทุกบ้านเลยครับ กิจกรรมในครั้งนี้ทำให้เราได้รู้จักกัน ได้มีกิจกรรมระหว่างบ้านร่วมกัน ทำให้พวกเราคลายเครียด ดนตรีคือยาบำบัดชั้นดี เราสามารถเล่นดนตรีได้ทุกที่ ตอนนี้เสียงดนตรียังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับพ่อแม่ดีขึ้นมาก ความผูกพันในครอบครัวเริ่มก่อกำเนิด เรามีบทสนทนาที่ดีด้วยกันเสมอ แม่ขอให้ผมเล่นเพลงโปรดให้แม่ฟังทุกครั้งที่เจอกัน ผมดีใจที่ เสียงดนตรีจากลูกชายทำให้คนเป็นแม่ยิ้มได้ครับ

นางสาวธนิดา ธรรมวิมล หรือ ดา เอ็นโดรฟิน กล่าวว่า วันนี้มาเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคน เพราะเราเคยผ่านจุดนี้มาแล้ว คือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ทำให้เราต้องไปพบเจอเรื่องดีบ้างร้ายบ้าง แต่พอเราได้เล่นดนตรี เสียงดนตรีมันยึดเหนี่ยวเราไว้

ดนตรีกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราได้ผ่อนคลายและเสียงดนตรีหรือเสียงร้องของเรายังสร้างความสุขให้กับผู้ฟัง ดนตรีสร้างอาชีพเราได้ทำอาชีพที่เรามีความสุข มันคือสิ่งวิเศษที่สุด

รองศาสตราจาร์ ดร.เกสินี ประทุมสุวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วันนี้เป็นคอนเสิร์ตเล็กๆ อบอุ่น แต่มีพลังและแผนงาน พร้อมสนับสนุนโครงการนี้ทุกปีเรื่อยมา จนมาถึงวันนี้ เรารับรู้ได้เลยว่าเด็กทุกคนตื่นเต้นมาก เขาตื่นเต้นกับสถานที่ Yamaha Music Hall ไม่เหมือนตอนแสดงที่บ้าน เราสัมผัสได้ถึงความจริงใจสิ่งที่เด็กทุกบ้านถ่ายทอด เขาทำให้คนฟังมีความสุข อิ่มตา อิ่มหู อิ่มใจ และเด็กทุกคนบอกว่านี่คือความฝันของเขา ในอนาคตเมื่อเขากลับไปอยู่ในสังคม ชีวิตเขาอาจจะสะดุดบ้าง แต่สิ่งนี้คือคำตอบที่จะเยียวยาให้เขาดำเนินชีวิตต่อไปได้

โครงการนี้ต้องมีต่อไป เพราะเราเห็นแล้วว่ามันเกิดผลสัมฤทธิ์ และแม้ว่าเขาจะไม่ได้ประกอบอาชีพนักดนตรีหรืออยู่กับเส้นทางสายดนตรี แต่การที่เขามีดนตรีในหัวใจเสียงดนตรีจะสามารถเยียวยาจิตใจเขาได้ ทำให้เขาใจเย็นขึ้น มีสติมากขึ้น มีภาพหลังที่ดีในตอนที่อยู่ในบ้านหรือหากเขาประกอบอาชีพที่มันไปด้วยกันกับความชอบ นั่นคือเขาโชคดี ถ้าเขาได้ร้องเพลงเป็นอาชีพแล้วมีความสุขมันก็ทำให้เขาดำเนินชีวิตต่อไป

สุดท้าย อยากให้ทุกคนระลึกถึงวันนี้ เพราะมันคือ ความมหัศจรรย์ หลังจากนี้ขอให้ทุกคนเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเองให้ดี อะไรไม่ดีให้ลืมไป ขอให้เริ่มต้นสร้างชีวิตใหม่ และกลับมาช่วยงานที่บ้าน มาสอนน้องเล่นดนตรีแบบที่เขาเคยได้รับโอกาส

มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image