ที่เห็นและเป็นไป : ประเทศที่ไม่มีผู้รับผิดชอบ

หลังจากที่รอกันมาหลายวันว่า กลไกการบริหารจัดการประเทศของเราจะให้คำตอบได้ว่า “การถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเข้ารับตำแหน่งทำหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี” ซึ่งเป็นปัญหาค้างคาใจจะมีทางออก หลังสภาผู้แทนราษฎรนำเรื่องนี้มาอภิปรายเพื่อหารือและหาทางออกร่วมกับรัฐบาลเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา

แต่หลังจากอภิปรายกันมาทั้งวันถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ปัญหาที่จะตามมา และทางออกที่น่าจะเกิดผลดี     กลับกลายเป็นว่าทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม

เหมือนไม่มีหนทางที่จะให้คำตอบกับความข้องใจของประชาชน

เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดถ้อยความที่จะใช้ในการถวายสัตย์ปฏิญาณไว้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีกล่าวไม่ครบถ้อยความตามรัฐธรรมนูญ ไม่กล่าวในส่วนที่ว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

Advertisement

เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ เกิดความคิดในหมู่นักกฎหมายโดยเฉพาะในหมู่นักกฎหมายมหาชนว่า “เท่ากับการเข้ารับหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ยังไม่สมบูรณ์” และเป็น “ความไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ” คือ    “การปฏิญาณว่าจะทำตามรัฐธรรมนูญอันถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เท่ากับคณะรัฐมนตรีไม่รับปากว่าจะบริหารประเทศโดยเคารพกฎหมาย ซึ่งไม่มีผู้นำประเทศใดๆ ในโลกทำกัน”

ฝ่ายค้านซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบให้รัฐบาลบริหารประเทศด้วยความถูกต้อง พยายามร้องขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาในเรื่องนี้

จากการอภิปรายทั่วไปดังกล่าว จะเห็นได้ว่า “ฝ่ายค้าน” ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์อย่างยิ่ง โดยชี้ให้เห็นว่าการไม่ทำเป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้นจะส่งผลเสียหายต่อประเทศอย่างไร และรัฐบาลเองย่อมหนีไม่พ้นต้องถูกกังขาว่าที่ทำงานกันไปทั้งหมดนั้น มีอำนาจตามกฎหมายแล้วหรือยัง ซึ่งหากไม่หาคำตอบให้ชัดเรื่องอาจจะบานปลายใหญ่โตก็ได้

หากที่สุดแล้วเป็นการทำหน้าที่โดยไม่มีอำนาจ

มีความพยายามที่จะใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นคำตอบ

แต่เมื่อที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัย ทำให้ปัญหายังคงอยู่ต่อไป เป็นรัฐบาลที่บริหารประเทศโดยยังความกังขาว่ามีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่

แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลพยายามที่จะชี้แจงยืนยันความมีอำนาจของตัวเอง แต่นั่นเป็นการตีความที่อยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ที่ได้กับคณะรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่การตีความที่ทำให้ข้อสงสัยของประชาชนทั่วไปมีคำตอบ

การบริหารประเทศยังดำเนินไปด้วยความอึมครึม ท่ามกลางความคิดเห็นที่ขัดแย้งในสาระสำคัญของ “การมีอยู่ซึ่งอำนาจ และเจตนาการเคารพกฎหมาย”

การอยู่ร่วมกันเป็นชาติ เป็นประเทศ จำเป็นต้องสร้างสำนึกร่วมกันว่าทุกคนทุกฝ่ายจะเคารพกติกาการอยู่ร่วมกัน

และผู้นำประเทศ หรือรัฐบาลต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ที่ชัดเจนของผู้มีสำนึกดังกล่าว

การที่ “ผู้นำประเทศ” พูดถึงการรักษากฎหมาย หรือกติกาการอยู่ร่วมกันได้ไม่เต็มเสียง หรือถึงขั้นหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึง

ย่อมเป็นภาวะที่น่าเป็นห่วง

ยิ่งคล้ายกลับว่าประเทศหมดสภาะที่จะหาคำตอบให้ความสงสัยในสาระสำคัญของการอยู่ร่วมกันนี้

ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งสำหรับคำตอบได้

ยิ่งชวนเป็นห่วงในระดับที่น่าสะพรึง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image