บทนำมติชน : ฝุ่นควัน-ภัยที่ต้องรับมือ

เดิมทีประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับภัยจากน้ำท่วม ภัยแล้ง และภัยหนาว ซึ่งถือเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ เพราะประเทศไทยอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นทางผ่านของน้ำ และเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรผันไปตามฤดูกาลทำให้พื้นที่ที่ขาดน้ำในฤดูร้อนก็จะต้องเผชิญหน้ากับภัยแล้ง หรือพื้นที่ใดที่มีอุณหภูมิหนาวยะเยือกจนกลายเป็นปัญหา พื้นที่นั้นก็เผชิญหน้ากับภัยหนาว มีประชาชนที่ตกอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือ

การเกิดขึ้นของภัยดังกล่าวมีขึ้นเป็นประจำทุกปี จึงมีเวลาที่จะรับมือกับภัยที่จะเกิดขึ้น แม้ภัยธรรมชาติบางอย่างหรือบางปีจะเกิดขึ้นมากกว่าปกติแต่ก็ถือเป็นเหตุฉุกเฉินที่จะรับสถานการณ์ เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 แม้จะเป็นอุทกภัย แต่ก็ถือว่าเป็นมหาอุทกภัยซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี หรือเหตุการณ์แผ่นดินไหวจนเกิดเหตุสึนามิก็เช่นกัน เป็นภัยที่ต้องระมัดระวังเพราะไม่ได้เกิดขึ้นตลอด จึงได้แต่ระวังป้องกัน เช่น การวางทุ่นในมหาสมุทรเพื่อรับทราบว่าเกิดสึนามิหรือไม่ จะได้ประกาศเตือนภัยและอพยพได้ทันท่วงที

ภัยที่นานๆ เกิดขึ้นดังกล่าวแตกต่างจากภัยที่เกิดจากน้ำท่วม ภัยแล้ง และภัยหนาว เพราะอุทกภัย ภัยแล้งและภัยหนาว ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ขณะเดียวกันก็เป็นภัยที่เกิดขึ้นประจำทุกปี จึงเป็นเรื่องที่ตั้งแต่ท้องถิ่นชุมชน อำเภอ จังหวัด และประเทศ ต้องเตรียมการเอาไว้รับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการระวังป้องกัน การเตรียมรับภัย เตรียมงบประมาณ และแสวงหาวิธีบรรเทาความเดือดร้อนที่
เกิดขึ้น

ในช่วงหลัง นอกจากน้ำท่วม ภัยแล้ง และภัยหนาวแล้ว ภัยจากฝุ่นควันซึ่งเกี่ยวโยงกับสุขภาพเริ่มกลายเป็นภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในพื้นที่ประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ รวมถึงพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครก็เริ่มเผชิญหน้ากับปริมาณฝุ่นจิ๋ว พีเอ็ม 2.5 และมีผลต่อสุขภาพ ดังนั้น ทั้งท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด และประเทศ หากวางแผนจะรับมือกับภัยเกิดขึ้นทุกปี ควรแล้วหรือไม่ที่จะรวมเอาภัยที่เกิดจากฝุ่นควันมาผนวกเอาไว้ด้วย เพราะวางมาตรการป้องกัน และแก้ไข ตลอดจนเยียวยากับผู้ที่ต้องเป็นเหยื่อของภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image