วิสเซิลโบลว์เออร์กับการอิมพีชเมนต์ทรัมป์ : โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

วิสเซิลโบลว์เออร์ (whistleblower) แปลว่า ผู้เป่านกหวีด หมายถึงบุคคลผู้นำข้อมูลภายในขององค์กร เกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมาย การใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การทุจริต การใช้เงินอย่างไม่ถูกต้อง การทุจริต หรือการกระทำที่เป็นภัยต่อสุขภาพและความปลอดภัยของสังคม ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อให้มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริง หรือนำมาใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง (ไม่เกี่ยวกับพวกที่ออกมาเป่านกหวีดก่อความวุ่นวายบนท้องถนนและสถานที่ราชการเมื่อ 5-6 ปีก่อนของประเทศไทยนะครับ)

ในหลายประเทศ มีการตรากฎหมายคุ้มครองผู้นำข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิดปกติภายในองค์กรออกมาเปิดเผย ไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือพนักงานบริษัท เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เป็นต้น แต่เมืองไทยไม่มีนะครับ

การเป่านกหวีดเป็นเสมือนการแสดงถึงการไม่เห็นด้วยต่อการกระทำที่น่าสงสัยว่าจะไม่ถูกต้อง ทุจริต ผิดกฎหมาย จึงต้องการให้เบาะแสกับผู้ที่รับผิดชอบ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในองค์กรธุรกิจ ซึ่งผู้เป่านกหวีดนั้น ก็คือลูกจ้างคนหนึ่งที่ได้พบเห็นการกระทำความผิดดังกล่าวในองค์กรของตน และมีความประสงค์จะเปิดเผยสิ่งที่ตนพบเห็นเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมขององค์กร โดยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดไปยังผู้มีอำนาจหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบ แสวงหาหลักฐาน และลงโทษผู้กระทำความผิดต่อไป โดยทั่วไปแล้วมักให้เกียรติแก่นายราล์ฟ เนเดอร์ ผู้เริ่มรณรงค์การคุ้มครองผู้บริโภคนามอุโฆษชาวอเมริกัน (ปัจจุบันอายุ 85 ปี ยังมีชีวิตอยู่) ได้เสนอแนวความคิดเรื่องผู้เป่านกหวีดนี้ขึ้น โดยเสนอให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองผู้เป่านกหวีดนี้ด้วยซึ่งก็เป็นผลให้รัฐสภาสหรัฐผ่านกฎหมายคุ้มครองวิสเซิลโบลว์เออร์ (ผู้เป่านกหวีด) ทั้งในองค์กรของรัฐและเอกชนใน พ.ศ.2532 (ทำให้นึกถึง น.ส.ชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์ อดีตพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ผู้ที่ได้เปิดเผยพบการทุจริตหลายรูปแบบเกี่ยวกับการทุจริตเงินชดเชยโครงการรับจำนำข้าวและโครงการมันสำปะหลัง ทั้งการจ่ายเงินซ้ำซ้อน, การนำเงินในโครงการมันสำปะหลังมาหักชำระในโครงการจำนำข้าว ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดก่อนการทุจริตระบายข้าวจีทูจีที่ศาลตัดสินไปแล้ว ถูกให้ออกจากงานเพราะเมืองไทยไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้เป่านกหวีดนี่เอง)

อีทีนี้ก็ถึงเรื่องวิสเซิลโบลว์เออร์กับอิมพีชเมนต์หรือกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกเปิดโปงว่าได้โทรศัพท์ไปหานายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีคนใหม่ของยูเครน (คนที่เคยมีอาชีพเป็นพิธีกรตัวตลกทางโทรทัศน์มาก่อนจะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของประเทศยูเครน) ขอให้ขุดคุ้ยคดีทุจริต นายฮันเตอร์ ไบเดน ผู้เคยทำงานในบริษัทพลังงานของยูเครนแห่งหนึ่งมานานหลายปี นายฮันเตอร์เป็นลูกชายของอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้เป็นตัวเต็งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในนามตัวแทนของเดโมแครต ในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนปีหน้า (พ.ศ.2563) โดย ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวหากับประธานาธิบดีเซเลนสกีว่าสองพ่อลูกไบเดนคอร์รัปชั่น แต่เขาไม่มีหลักฐานยืนยันจึงอยากจะขอให้ประธานาธิบดีเซเลนสกีขุดคุ้ยคดีขึ้นมานั่นเอง โดยคำร้องเรียนของวิสเซิลโบลว์เออร์กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของทรัมป์เกิดภายหลังเขาสั่งให้รัฐบาลระงับเงินช่วยเหลือแก่ยูเครนเกือบ 400 ล้านดอลลาร์ เงินนี้ได้รับอนุมัติในเวลาต่อมา แต่ก่อนหน้านั้นรัฐบาลยูเครนได้รับแจ้งเตือนทำนองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประธานาธิบดีนี้ขึ้นอยู่กับว่าประธานาธิบดียูเครนจะ “รับลูก” คำขอร้องของประธานาธิบดีทรัมป์อย่างไร

Advertisement

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์เปิดเผยว่า บุคคลที่เป็นวิสเซิลโบลว์เออร์ผู้ทำหนังสือร้องเรียนเปิดโปงพฤติกรรมของประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ชายของซีไอเอประจำทำเนียบขาว

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวโจมตีผู้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวว่าเป็นสายลับ ต้องถูกลงโทษขั้นรุนแรง และมีความผิดเท่ากับกบฏ ซึ่งก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์ปฏิเสธข้อกล่าวหาเขาโทรศัพท์ไปกดดันประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ให้ช่วยขุดคุ้ยคดีทุจริตของนายฮันเตอร์ ไบเดน ลูกชายของนายโจ ไบเดน แต่ในที่สุดก็ยอมรับว่าได้คุยเรื่องนายไบเดนกับผู้นำยูเครนจริง แต่ไม่เคยกดดันให้ประธานาธิบดีเซเลนสกีสอบสวนขุดคุ้ยคดีทุจริตของนายฮันเตอร์ ไบเดน ขึ้นมา

นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร แห่งพรรคเดโมแครต แถลงข่าวการเริ่มกระบวนการถอดถอนผู้นำสหรัฐ ว่าการกระทำของประธานาธิบดีทรัมป์นั้นมีมูลและเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญสหรัฐ และใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อทำลายล้างนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม

หนังสือร้องเรียนของวิสเซิลโบลว์เออร์กล่าวโทษว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เพียงใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยการบีบบังคับให้ยูเครนแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ.2563 เพื่อประโยชน์ทางการเมืองส่วนตัวเท่านั้น แต่ทางทำเนียบขาวยังพยายามปกปิดหลักฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมของประธานาธิบดีทรัมป์ด้วย จากรายงานที่คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐภายใต้การนำของพรรคเดโมแครตเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2562 เปิดเผยว่า วิสเซิลโบลว์เออร์กล่าวไว้ในคำร้องเรียนต่อผู้ตรวจการของซีไอเอมีความยาว 9 หน้า ลงวันที่ 12 สิงหาคมปีนี้ว่า เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวหลายรายเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการย้ายบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ กับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นสถานที่เก็บข้อมูลปกติไปเก็บไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์อื่นต่างหากที่ใช้เก็บและจัดการข้อมูลลับที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ โดยรายงานกล่าว “เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวรายหนึ่งกล่าวถึงการกระทำนี้ว่าเป็นการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในทางที่ผิด เพราะการโทรศัพท์นี้ไม่ได้มีข้อมูลใดที่มีความอ่อนไหวต่อความมั่นคงของชาติ”

ครับ ! สรุปแล้วการอิมพีชเมนต์ประธานาธิบดีทรัมป์ครั้งนี้ว่าด้วยความผิด 2 เด้ง คือพยายามทำลายคู่แข่งทางการเมืองด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมายและกระทำการพยายามปกปิดความผิดครั้งนี้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image