ครูกูเกิล กับการอ่านและรู้เท่าทันสื่อ : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบโต้ข้อกล่าวหาโจมตี ดูถูกคนไทย ไม่เปิดใช้กูเกิลว่า ถูกบิดเบือน ตนหมายถึงว่าต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ได้หมายถึงว่าคนไทยไม่ได้ใช้หรือใช้ไม่เป็น

เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่อีกฝ่ายต้องยอมรับการโต้ตอบ ประชาชนคนกลางตัดสินใจได้เองว่า ควรจะเชื่อฝ่ายไหนมากกว่ากัน

ขณะเดียวกันก็เป็นอีกบทเรียนหนึ่งของการพูดต่อที่สาธารณะของผู้นำ การใช้ถ้อยคำ ประกอบกับบุคลิกภาพ ใจร้อน พูดเร็ว โกรธง่ายหายเร็ว ก็ตาม

กรณีนี้ก่อนให้คะแนนไปทางฝ่ายใด คนกลางคงต้องมาไล่เรียงประเด็นกันให้ชัด เพราะมีแง่คิดได้หลายแง่หลายมุมทีเดียว

Advertisement

เริ่มตั้งแต่ประเด็นแรก คนไทยเปิดใช้กูเกิลมากหรือน้อยเพียงไร ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจก็พบแล้วว่าคนไทยเปิดใช้กูเกิลไม่น้อยหน้าไปกว่าประเทศไหนๆ ในโลก อยู่ในระดับแถวหน้าเสียด้วยซ้ำ

ประการต่อมา คนไทยเปิดใช้กูเกิลอย่างไร ใช้ไปในสิ่งที่เกิดประโยชน์มากพอหรือไม่ ตรงนี้แหละที่เป็นจุดประสงค์การพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการให้คนไทยใช้กูเกิลให้เกิดประโยชน์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะการหาความรู้ต่างๆ มองด้วยความเป็นธรรมก็เป็นเจตนาดี

อย่างไรก็ตาม มีอีกมุมหนึ่งของการใช้กูเกิลหรือเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ คือ เปิดใช้กูเกิลจนกลายเป็นที่พึ่งเดียวในการแสวงหาคำตอบเรื่องต่างๆ อย่างไม่ลืมหูลืมตา เชื่อไปหมดว่าข้อมูลที่ปรากฏในกูเกิลคือความจริง กูเกิลกลายเป็นครู เป็นศาสดา เป็นพระเจ้า เป็นหนทางนำไปสู่ความจริง ไม่คิดตรวจสอบ หรือหาช่องทางอื่นๆ เพื่อเปรียบเทียบความถูกต้อง แต่ตกเป็นทาสของความรวดเร็วทันสมัยลูกเดียว

Advertisement

ประเด็นนี้จึงเป็นอย่างที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยกแนวทางในการสอนลูก มาประกอบการวิจารณ์คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า “เวลาค้นหาความรู้โดยใช้กูเกิลต้องระวัง ความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือของข้อมูลอย่างยิ่ง”

แนวคิด วิธีการที่ว่านี้ก็คือ การใช้ช่องทางการสื่อสาร หาข้อมูลข่าวสาร อย่างมีวุฒิภาวะ ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงสำหรับพฤติกรรมการใช้สื่อสมัยใหม่ของคนโดยรวมทีเดียว สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการศึกษา ที่มุ่งเน้นการสอนให้ท่อง ให้จำ ให้ทำตาม มากกว่า สอนให้คิด สงสัยและตั้งคำถาม จึงทำให้เกิดปัญหาการบริโภคสื่อโดยขาดวุฒิภาวะ รู้ไม่เท่าทันสื่อตามมา

ที่ผ่านมาคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ยกขึ้นเป็นประเด็นแรกของการปฏิรูป คือ การปฏิรูปการรู้เท่าทันสื่อของประชาชน ให้มีหลักสูตรด้านสื่อศึกษาได้รับการบรรจุในการศึกษาภาคบังคับ (ระดับมัธยมศึกษา) และระดับอุดมศึกษา ภายในปี 2562

เวลาผ่านไปใกล้จะสิ้นปีแล้ว เรื่องนี้ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน หาเจ้าภาพไม่ได้ทั้งกระทรวงการอุดมศึกษาที่ตั้งขึ้นใหม่ และกระทรวงศึกษาธิการ ปล่อยให้สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย โรงเรียน ดำเนินการกันไปตามที่เห็นเหมาะสม ขาดศูนย์กลางรวบรวมข้อมูล ข่าวสารที่เป็นระบบว่าใครทำอะไรบ้าง อย่างไรในเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ

นอกจากนี้ ประเด็นที่สืบเนื่องจากพฤติกรรมการเปิดใช้กูเกิล ยังมีที่น่าติดตามอีกว่า กูเกิลส่งผลต่อพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทยและทั่วโลกอย่างไร ทำให้คนอ่านหนังสือน้อยลงหรือเพิ่มขึ้น

เพราะการอ่านเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะเป็นกุญแจไขไปสู่ความรู้ ความคิด ทั้งหลายทั้งปวง

องค์กรความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ถือเอาการอ่านเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดประเมินความสามารถของนักเรียน (pisa) ผลการทดสอบนักเรียนไทยจากคะแนนเต็ม 500 คะแนน ปี 2000 ได้ 431 คะแนน ปี 2003 ได้ 420 คะแนน ปี 2006 ได้ 417 คะแนน ปี 2009 ได้ 421 คะแนน ปี 2012 ได้ 441 คะแนน ปี 2015 ได้ 409 คะแนน ปี 2018 จะประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ธันวาคม 2562

ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พศ.2560-2564 กำหนดเป้าหมายผลคะแนนสอบ Pisa ในแต่ละวิชาไม่ต่ำกว่า 500 ผลจะออกมาอย่างไร จึงน่าติดตามอย่างยิ่ง

ใครจะยึดเอาหลักเกณฑ์ของ PISA เป็นมาตรฐานหรือไม่ก็ตาม การอ่านมีความสำคัญต่อการพัฒนาคนอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นนักคิด อย่าง
ฟรานซิส เบคอน คงไม่กล่าวไว้ว่า “การอ่านทำให้คนเป็นคนอย่างสมบูรณ์ การประชุมทำให้คนเตรียมพร้อม การเขียนทำให้คนแม่นยำ”

แต่คำคมของมหาบุรุษโลกอีกคน คือ ประธานเหมาเจ๋อตุง แห่งประเทศจีน ก็น่าฟังไม่น้อยเช่นกัน

ประธานเหมาเคยพูดกับมาดามเจียงชิงว่า พจนานุกรมงั้นหรือ พจนานุกรมก็แค่หน้ากระดาษที่เต็มไปด้วยถ้อยคำที่ตายแล้ว หล่อนบอกถึงความแตกต่างระหว่างต้นกล้ากับวัชพืชได้หรือเปล่า อะไรจะง่ายไปกว่าการเป็นหนอนหนังสือ เรียนรู้ที่จะเป็นพ่อครัวหรือพ่อค้าเนื้อยังจะยากกว่า

หนังสือไม่มีขา จะเปิดหรือปิดเมื่อไหร่ก็ได้ หมูเสียอีก มีขาวิ่งได้ มีเส้นเสียงร้องโหยหวนได้

คนฆ่าเนื้อต้องไล่จับเพื่อฆ่ามัน พ่อครัวต้องทำให้เนื้อเหม็นๆ ของมันมีรสโอชา นี่แหละ ความสามารถที่แท้จริง

ประธานเหมาต้องการสอน ลงมือทำสำคัญกว่า ไม่ใช่ดีแต่อ่าน น่าคิด ไหมล่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image