ปมด้อย โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

การเจรจาการค้าจีน-สหรัฐรอบใหม่กำหนดวันที่ 10 ตุลาคม ณ กรุงวอชิงตัน

(หมายเหตุ : บทความเขียนวันที่ 7 ตุลาคม)

หลิว เห้อ รองนายกรัฐมนตรีจีน เป็นผู้แทนฝ่ายจีน

สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เป็นผู้แทนสหรัฐ

Advertisement

ก่อนการประชุม ดูเหมือนบรรยากาศค่อนข้างดี ดีที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างได้ชะลอการเก็บเพิ่มพิกัดอัตราภาษีการนำเข้าสินค้า รัฐบาลจีนได้เริ่มซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐ เช่น ถั่วเหลือง เนื้อหมู

กอปรกับเป็นห้วงเวลาที่ทั้ง 2 ประเทศประสบพบพานเหตุการณ์ใหม่ในประเทศ

1 โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังถูกสอบสวนกรณี “ยูเครน” เพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง

1 ทั้ง 2 ประเทศประสบแรงกดดันปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำมากขึ้น

น่าจะเป็นต้นเหตุในการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงย่อมมีทั้งคุณและโทษ

ทว่า ปัญหาศรศิลป์ไม่กินกันทางการเมืองยังไม่มีปรากฏการณ์ที่บรรเทาเบาบางหรือการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

หากการเจรจาการค้าครั้งใหม่สามารถบรรลุข้อตกลงชั่วคราว

เชื่อว่าความขัดแย้งในมุมกว้างของจีนและสหรัฐ ก็คงยากที่จะมีการเปลี่ยนแปลง

การที่วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ กล่าวว่า ประเด็นปัญหาฮ่องกงต้องมีผลกระทบต่อการเจรจาครั้งนี้ นั้น

ไม่เห็นพ้อง เหตุผลคือ

1 ปัญหาต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนนั้น ได้เกิดขึ้นท่ามกลางการเจรจาการค้าที่เซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนกรกฎาคม และได้ยุติลงแล้ว

1 กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนฮ่องกงและประชาธิปไตย อันได้ผ่านสภาคองเกรสแล้วนั้น มีผลกระทบต่อจีนแผ่นดินใหญ่เพียงเล็กน้อยและมีขีดจำกัด

ฉะนั้น ปัญหาฮ่องกงจึงไม่น่าจะเป็นเหตุกระทบถึงการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐครั้งนี้

ในทางตรงกันข้าม ประเด็นปัญหา “เผือกร้อน” ในสภาคองเกรสคือการไต่สวน เพื่อทำการถอดถอน “โดนัลด์ ทรัมป์” ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี

อาจนำมาซี่งการเปลี่ยนแปลงในการเจรจาในวันที่ 10 ตุลาคม

เพราะว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” กำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ต่างข้อกล่าวหา “ข่าวฉาวยูเครน” ถ้าเขาไม่สามารถนำสืบข้อต่อสู้กับข้อกล่าวหา โอกาสที่จะย่ำรอย “ริชาร์ด นิกสัน” อดีตประธานาธิบดี ย่อมมีสูง

เมื่อเขาต้องจดจ่ออยู่กับการแก้ต่างข้อกล่าวหา สมาธิในการทำสงครามการค้าก็ลดน้อยถอยลงเป็นธรรมดา อีกทั้งเป็นแรงกดดันให้เขาถวิลหาโอกาสเพื่อบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับจีนที่มีความจำกัด อันประสงค์การสนับสนุนในนาทีวิกฤต เพื่อธำรงฐานทางการเมืองของตนไว้

และในเวลาเดียวกัน เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณซบเซา เป็นต้นว่า ดัชนีแห่งอุตสาหกรรมการผลิตชี้วัดอัตราการตกต่ำถึงที่สุดในรอบหลายปี

เศรษฐกิจอ่อนแรงเป็นเหตุให้ยอดการนำเข้าสินค้าลดลง

และอาจเป็นเหตุให้การขาดดุลการค้าลดลง

ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการทำให้การค้าจีน-สหรัฐเกิดความสมดุล

ในทำนองเดียวกัน จีนก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเช่นกันในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต หรือธุรกิจอื่นๆ เป็นต้น

วิเคราะห์จากเปลือกนอก ทั้งจีนและสหรัฐต่างก็มี “ปมด้อย”

จึงน่าเชื่อว่า ทั้ง 2 ฝ่ายอาจมีความประสงค์ให้บรรลุข้อตกลงการเจรจาทางการค้า

ทว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” และ “สี จิ้นผิง” ต่างวางมาดและดูเชิงกันอยู่ แต่ไม่มีใครเปิดโปงใคร เพราะต่างก็รู้ว่าแท้จริงแล้วผู้ใดเป็นอย่างไร เหมือนไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่

กรณีพอจะอนุมานได้ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายคงยากที่จะทำการ “ถอย” ให้กัน

นักวิเคราะห์เห็นว่า หากจีนเห็นว่าสถานะทางการเมืองของ “ทรัมป์” เข้าขั้นวิกฤต ก็คงยากที่จะ “ถอย” ให้สหรัฐ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงทางการค้า

นอกจากนี้ พฤติการณ์อันพูดจาหุนหันพลันแล่นของ “ทรัมป์” ยังอยู่ในความทรงจำของจีน

จีนจึงไม่มีความเชื่อมั่นในการที่บรรลุข้อตกลงชั่วคราว

ในด้านสหรัฐ หากบรรลุข้อตกลงชั่วคราวทางการค้ากับจีน ก็จะเป็นการขัดกับคำประกาศของ “ทรัมป์” ที่ว่า สงครามการค้า สหรัฐจะต้องเป็นฝ่ายชนะ

อันอาจเป็นเหตุให้คะแนนสนับสนุนไม่เพิ่มกลับลด

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ความสำเร็จของการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐในครั้งนี้ ความสำเร็จคงยาก แต่สังคมโลกฝากความหวังไว้กับ “ทรัมป์-สีซัมมิท” ในกลางเดือนพฤศจิกายนที่ประเทศชิลี ซึ่งจะมีการประชุมเอเปค

แต่ “โดนัลด์ ทรัมป์” กำลังประสบมรสุมทางการเมืองอย่างเข้มข้นและร้อนแรง เมื่อถึงวันประชุมเอเปค จะไปร่วมประชุมและพบกับ “สี จิ้นผิง” ได้หรือไม่ ต้องตั้งคำถามไว้ก่อน

หากในทางการนำสืบอันเกี่ยวกับข้อกล่าวหาข่าวฉาว “ยูเครน” สามารถยืนยันความเป็นจริง

เก้าอี้ “ประธานาธิบดี” สั่นคลอนแน่นอน

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image