ภาพเก่า…เล่าตำนาน : สวนลุมพินี…ที่คนไทยชื่นชอบ โหยหา

ย้อนอดีตกลับไปราว 100 ปีเศษ ชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับชาวสยามบันทึกไว้ว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองอยู่บนพื้นที่ราบ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นท้องนา กว้างไกลสุดสายตา บางพื้นที่เป็นสวน ชาวสยามใช้แม่น้ำลำคลองเดินทางไปมาหาสู่กันเป็นหลัก ช่วงหน้าฝนน้ำเจิ่งนองไปทั่วพื้นที่

ตอนต้นรัตนโกสินทร์ อาคาร ร้านค้า บ้าน สิ่งปลูกสร้าง ถนนเส้นแรก รวมศูนย์กระจุกตัวอยู่ย่านกลางของกรุงเทพฯ คือ รอบๆ พระบรมมหาราชวัง (วัดพระแก้ว) ตัวเมืองและความเจริญค่อยๆ กระจายตัวออกไป ไม่มีข้อมูลว่ามีป่าดงดิบ ป่าทึบในกรุงเทพฯ

ตอนเริ่มสร้างบ้านสร้างเมืองของชาวสยาม แนวคิดเรื่อง “ต้นไม้ใหญ่” กับ “ความเป็นเมืองที่เจริญแล้ว” ต้องแยกออกจากกันเด็ดขาด

ชาวสยามบางส่วนมองว่าบ้านเมืองที่พัฒนา คือตึกสูงเรียงรายในเมืองต้องไม่มีต้นไม้ให้รกตา จึงเกิดการตัดต้นไม้ใหญ่น้อยแทบไม่เหลือหรอเพื่อสร้างถนน สร้างอาคารบ้านเรือน รวมทั้งการถมคูคลองที่มีมาแต่อดีตเพื่อทำถนน

Advertisement

ความคิดเรื่องสวนสาธารณะในเมือง “พื้นที่สีเขียว” ไม่อยู่ในความคิดของชาวสยาม เพราะนึกไม่ออกว่ามีประโยชน์อันใด และเป็นสิ่งที่ละเลยไปอย่างน่าเสียดาย

ศูนย์การค้าขนาดมโหฬาร อาคารสถานที่ โรงเรียน ร้านอาหาร บ้านเรือน สถานที่ราชการทุกแห่งติดเครื่องปรับอากาศ ช่วยกันพ่นลมร้อนออกมาใส่กันและกันแบบใครดีใครอยู่

ปัจจุบันเกิดภาวะโลกร้อน ฝุ่นจิ๋ว ควันพิษ อุณหภูมิเฉลี่ยในบ้านเมืองสูงขึ้น ความคิดดังกล่าวเริ่มพลิกกลับ ชาวกรุง ชาวเมืองทั้งหลายกลับโหยหาที่จะขออยู่กับธรรมชาติ โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ พืชและสวน การศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมยืนยันว่า ป่าสามารถอยู่ในเมืองได้ คนในเมืองจะมีความสุขมากขึ้นหากมีสิ่งแวดล้อมที่ดี สามารถสร้างสุขภาพจิต สร้างบรรยากาศที่มนุษย์ขาดแคลน

Advertisement

ในภาพรวมทั้งประเทศ ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 102.2 ล้านไร่ ถูกทำลายลงไปมากจนน่าตกใจ รัฐบาลมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าอีกให้ถึง 129 ล้านไร่ใน 20 ปีข้างหน้า และในเวลาเดียวกันก็จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง

ตามข้อมูลของ กทม. มีสวนสาธารณะ 12 แห่ง รวมพื้นที่ 3,712 ไร่ เฉลี่ยแล้วคนกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว 3 ตร.ม.ต่อคน ในขณะที่ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 16 ตร.ม.ต่อคน โดยสวนป่าในเมืองต้องประกอบด้วยความหลากหลายด้านชนิดพันธุ์ไม้ มีต้นไม้สภาพดีที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ และมีพันธุ์ไม้ธรรมชาติหรือองค์ประกอบของต้นไม้พื้นถิ่น แต่เนื่องจากไม่มีพื้นที่ปลูกป่าในกรุงเทพฯ แล้ว ดังนั้น คนเมืองต้องสนับสนุนการปลูกป่าในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น พื้นที่สาธารณะชานเมือง

กรุงเทพฯ นับว่าโชคดีที่ในหลวง ร.6 ทรงมีพระวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสวนสาธารณะ ที่เป็นมรดกตกทอดที่ดีงามมาจนถึงปัจจุบัน สวนสาธารณะที่เป็นคุณูปการ เป็นสวรรค์ เป็นที่พึ่งพิงของคนกรุงเทพฯ กลุ่มหนึ่ง คือ สวนลุมพินี ถนนพระราม 4

ภาพเก่าเล่าตำนานขอนำเสนอประวัติของ สวนลุมพินี ที่คนไทยเรียกกันว่า สวนลุมฯ ครับ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง ร.6 จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสยาม ด้วยพระราชประสงค์จะให้ชาวสยามได้เห็นสินค้าต่างๆ ที่ชาวสยามผลิตได้เอง และต้องการนำเสนอสินค้าไทยให้ชาวต่างประเทศได้เห็น เมื่อมีการซื้อขายสินค้ากัน ก็จะทำให้เกิดกระแสการเงินหมุนเวียน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

สถานที่จัดงานจะต้องมีพื้นที่กว้างขวาง ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลไม่มีงบประมาณ ในหลวง ร.6 จึงพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ที่ “ทุ่งศาลาแดง” ประมาณ 336 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินส่วนพระองค์ที่เหลือจากการแบ่งเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้จัดงานแสดงสินค้า

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ทรงสละพระราชทรัพย์เป็นทุนประเดิมในการเตรียมสถานที่เพื่อจัดงานแสดงสินค้าในฤดูหนาวปี 2468 เรียกชื่อว่า “งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์” และยังเป็นการเฉลิมฉลองที่พระองค์ทรงครองราชย์มาครบ 15 ปีเท่ารัชกาลที่ 2 ด้วย พระองค์พระราชทานนามสถานที่แห่งนี้ว่า “สวนลุมพินี” ตามชื่อสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ณ ตำบลลุมพินีวัน ประเทศเนปาล

ในหลวง ร.6 ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่า พื้นที่ตรงนี้จะเป็นอุทยาน เป็นสวนขนาดใหญ่ มีต้นไม้แบบป่าในเมือง ร่มรื่นสวยงามแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เป็นรมณียสถานสำหรับประชาชนพักผ่อนหย่อนใจเช่นเดียวกับสวนสาธารณะในต่างประเทศที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรมาจากมหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ

สวนสาธารณะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกในประเทศอังกฤษในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ตรงกับช่วงระหว่างกลางสมัยกรุงธนบุรีถึงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ อังกฤษเป็นประเทศมหาอำนาจในด้านอุตสาหกรรม ทำให้แรงงานมหาศาลจากชนบทอพยพมาอยู่ในเมืองกันอย่างแออัดและก่อกำเนิด “สลัม” ที่ขาดสุขลักษณะ

ผู้ใช้แรงงานหนักเหล่านี้เมื่อต้องการพักผ่อน จึงบุกรุกไปใช้ที่ว่างเปล่าเพื่อทำกิจกรรม เล่นกีฬาและบางครั้งรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นเป็นคดีความเสมอ จนบางครั้งรุกลามกลายเป็นเหตุจลาจลรุนแรงขึ้น

ในเวลาต่อมา ชาวสลัมเหล่านี้มีความอึดอัดมากขึ้นจึงเกิดการเรียกร้องที่กลายเป็น “ขบวนการอุทยานเพื่อประชาชน” (People’s Parks Movement) จนทำให้ทางราชการจึงผ่อนปรนโดยยอมให้ประชาชนเข้าไปใช้พื้นที่อุทยานไฮด์ หรือไฮด์ปาร์ก (Hyde Park) เพื่อการพักผ่อนตามความพอใจ

ตั้งแต่นั้นมาอุทยานต่างๆ จึงยอมเปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้โดยเรียกว่า “อุทยานประชาชน” (people’s parks) และได้กลายเป็นอุทยาน หรือสวนสาธารณะ (public parks) ในปัจจุบัน

สวนสาธารณะเบอร์เก็นเฮด (Birkenhead Park) ใกล้เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ถือเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของโลกที่สร้างด้วยเงินภาษีของประชาชน เปิดใช้เมื่อปี พ.ศ.2390

ตั้งแต่นั้นมา แนวคิดการจัดทำสวนสาธารณะได้แพร่หลายไปตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก รวมทั้ง “เซ็นทรัลพาร์ค” (Central Park) ในมหานครนิวยอร์ก (ออกแบบโดย เฟรเดอริก ลอว์ ออล์มสเตด พ.ศ.2401 ใช้เวลาสร้างมากกว่า 10 ปี) ปัจจุบัน เรื่องของสวนสาธารณะสำหรับชุมชนได้กลายเป็นบรรทัดฐานในการวางแผนและพัฒนาเมือง

ขอวกกลับมาที่เรื่องของ สวนลุมพินี ของเราครับ

การก่อสร้างสวนลุมฯ เริ่มด้วยการขุดสระน้ำขนาดใหญ่เพื่อนำดินขึ้นมาถมที่ มีเกาะอยู่กลางน้ำ โดยปลูกพันธุ์ไม้พื้นเมืองจากทุกภาคของประเทศ ตัดถนน สร้างตึกแบบกรีก สร้างหอนาฬิกา มีร้านค้าภายในเตรียมจัด “งานแสดงสินค้า” ซึ่งถ้าเป็นสมัยปัจจุบันก็ เรียกว่างาน Trade fair

ส่วนการคมนาคมภายนอก เพื่อให้ประชาชนและชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวสวนลุมฯ ได้สะดวก จึงต้องวางรางรถรางจากถนนเจริญกรุง เลียบคลองสีลมผ่านสวนลุมพินีไปสุดทางที่ประตูน้ำ อำนวยความสะดวกแก่ผู้มาชมงาน

การก่อสร้างสวนลุมฯ เป็นการทำงานที่ครบวงจร มีแผนงานชัดเจน ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และยังทรงเล็งเห็นประโยชน์สุขของสาธารณะชนในภายภาคหน้า

การทำงานเพื่อสร้างสวนลุมพินีเป็นไปด้วยความราบรื่น แต่แล้วประชาชนชาวไทยก็หัวใจสลาย เมื่อพระองค์ผู้ให้กำเนิดสวนลุมพินีได้เสด็จสวรรคตในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 แผนงาน สยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ที่มีกำหนดจะเปิดในวันที่ 1 มกราคมนั้น ต้องสะดุดหยุดลงอย่างน่าเสียดาย โครงการก่อสร้างสวนลุมพินีถูกทิ้งร้าง ไร้คนเหลียวแลราว 3 ปี

ต่อมา พ.ศ.2471 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง ร.7 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้รื้อฟื้นโครงการสวนลุมพินีขึ้นมาอีกครั้ง มอบให้กรมนคราทร (กรมโยธาธิการและผังเมืองปัจจุบัน) ใช้พื้นที่ด้านใต้ของสวนลุมพินีประมาณ 90 ไร่ จัดเป็นพื้นที่ วนาเริงรมย์ เปิดการแสดงมหรสพ ออกร้านขายของ ขายอาหาร มีเครื่องเล่นสำหรับเด็ก เช่น ชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน และนำเงินที่ได้จากค่าเช่านี้มาปรับปรุงที่ดินและก่อสร้างสวนต่อไป

พื้นที่ส่วนที่เหลือเปิดเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนได้เข้าใช้พักผ่อนหย่อนใจตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมเชษฐาฯ

ตั้งแต่นั้นมา สวนลุมพินีจึงกลายเป็นสถานที่แห่งแรกในพระนครที่เหมือนสวรรค์ที่ร่มรื่น เพื่อการพักผ่อน ให้ทั้งความเพลิดเพลิน ให้ความสนุกสนานแก่ประชาชนเช่นในต่างประเทศ

ใน พ.ศ.2485 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนกองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนทัพเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อรุกเข้าสู่พม่า กองทัพญี่ปุ่นได้เข้ายึดสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น พื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนช่างกลปทุมวัน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสวนลุมพินีเพื่อพักอาศัยของทหารญี่ปุ่น เพราะกองทัพญี่ปุ่นตั้งศูนย์บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยที่ถนนสาทร โดยมี นายพลนากามูระ อาเกะโตะ เป็นผู้บัญชาการ

กิจการของสวนลุมพินี เคยมีโรงละคร มีการฉายหนังกลางแปลง ประชาชนนำรถเข้าไปจอดชมภาพยนตร์ได้แบบ Drive In เหมือนในอเมริกา คือนั่งบนรถ ซื้ออาหารรับประทานโดยเฉพาะเมี่ยงคำ ที่ผู้ขายนำถาดอาหารมาเกาะที่ภายนอกประตูรถยนต์ แล้วดูภาพยนตร์ไปด้วย

ผู้เขียนเอง ตอนที่เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ก็ยังมีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศดังกล่าว นึกไม่ถึงว่าจะมีสวนสาธารณะที่โก้หรูแบบนี้สำหรับคนไทย โดยเฉพาะคำว่า “Drive In” ที่เพิ่งเคยเห็นของจริง

สวนลุมพินี คือ สถานที่สำหรับการพักผ่อนเพียงแห่งเดียว และนับว่าเป็นโชคดีสำหรับชาวกรุงเทพฯ ที่ในหลวง ร.6 ทรงมีพระวิสัยทัศน์ พระราชทานที่ดินและทรงวางรากฐานความคิดแก่ปวงชน

ภายในพื้นที่สวนลุมฯ ในยุคสมัยหนึ่ง เคยมีศาลาสำหรับการแสดงดนตรี จากในประเทศ และต่างประเทศ มีโรงเต้นรำ มีการแข่งขันกีฬาชกมวย ผู้เข้าชมจะเสียค่าผ่านประตูในการใช้บริการ

ต่อช่วงเวลามา กรมนคราทรได้โอนความรับผิดชอบสวนลุมพินีให้เทศบาลนครกรุงเทพฯ ซึ่งรูปแบบการใช้สวนลุมพินีในช่วงนั้น สวนลุมฯกลายเป็นแหล่งทำเงินเพื่อธุรกิจ ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ เช่น ใช้สวนลุมฯ เป็นโรงผลิตไฟฟ้า สร้างโรงเรียน ทั้งไทยและจีน ให้เช่าพื้นที่ทำภัตตาคารทั้งบนบกและในน้ำ รวมถึงภัตตาคารกินรีนาวา สวนลุมฯ ที่ตั้งใจให้เป็นพื้นที่สงบเงียบ ร่มเย็นสำหรับการพักผ่อน จึงแปรสภาพเป็นป่าคอนกรีตที่สกปรก น่าเบื่อหน่ายขึ้นมาอีก

ในยุคที่เสื่อมโทรม ขาดการดูแล ผู้ใช้ที่ใช้สวนลุมฯ เพื่อพักผ่อนออกกำลังกายจริงๆ มักเป็นชาวต่างประเทศ คนไทยเข้ามาใช้ไม่มากนัก ซึ่งโดยมากมักเป็นคนยากจนใช้เป็นที่พักผ่อนหลับนอนและหารายได้จากการขายของเล็กๆ น้อยๆ

ส่วนคนไทยที่มีฐานะจะเข้าไปสวนลุมฯ เพื่อใช้ภัตตาคาร ใช้เป็นที่จอดรถ สวนลุมพินีจึงทรุดโทรม ไม่ปลอดภัย ผิดวัตถุประสงค์ของการเป็นสวนสาธารณะ

ประมาณปี พ.ศ.2514 เทศบาลฯได้ตั้งกรรมการปรับปรุงสวนลุมพินีขึ้น เนื่องจากการมีเสียงเรียกร้องจากประชาชน ที่ต้องการเห็นสวนลุมฯ มีสภาพตามที่ในหลวง ร.6 ทรงมีพระราชดำริไว้ตั้งแต่ต้น


กล่าวได้ว่า สวนลุมพินี คือจุดเริ่มของขบวนการสวนสาธารณะสมัยใหม่ของประเทศไทยและเกิดจากพระราชดำริ อันเป็นประกายความคิดทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้มีการสร้างสวนสาธารณะอีกมากมายหลายแห่งในประเทศไทยเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนอย่างแท้จริงในเวลาต่อมา

การศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยเอสเส็กซ์ (Essex) ในอังกฤษ พบว่าหลังจากการเดินเล่นที่สวนสาธารณะเป็นเวลา 30 นาทีแล้ว บุคคลร้อยละ 71 มีภาวะซึมเศร้าลดลง และพวกเขารู้สึกคลายเครียดลงไป ในขณะที่ร้อยละ 90 รู้สึกภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของตนมากขึ้น

มหาวิทยาลัยดำเนินการศึกษาวิจัยครั้งที่สอง โดยสอบถามบุคคลที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตต่างๆ จำนวน 108 คนที่ต้องการบำบัดทางนิเวศวิทยา ซึ่งหมายถึงการอยู่ในที่กลางแจ้ง และเคลื่อนไหวทำกิจกรรมท่ามกลางสิ่งแวดล้อมสีเขียว เพื่อทำให้สุขภาพจิตสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผลปรากฏว่าร้อยละ 94 บอกว่าการทำกิจกรรมท่ามกลางสิ่งแวดล้อมสีเขียวมีประโยชน์ต่อสุขภาพจิต และทำให้หายภาวะซึมเศร้า ในขณะที่ร้อยละ 90 บอกว่าการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และการออกกำลังกายก่อให้เกิดผลดีอย่างใหญ่หลวง

กรุงเทพมหานคร นอกจากประชากรส่วนหนึ่งจะเป็นมนุษย์ห้องแถว มนุษย์คอนโด อาศัยในอาคารพาณิชย์ที่แออัด มองเห็นแต่ผนังตึก ห่างไกลธรรมชาติ น่าจะมีผลทำให้จิตใจแข็งกระด้าง กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว ทำร้าย ฆ่ากันตายง่ายๆ เด็กนักเรียนยกพวกตีรันฟันแทงกันด้วยอาวุธแบบที่ประเทศอื่นไม่มี น่าจะเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่ห่างไกลจากธรรมชาติ

ที่แย่ไปกว่านั้น กรุงเทพฯ กำลังฟูเฟื่องไปด้วยตึกระฟ้า นายทุนยังคงแข่งขันกันสร้างศูนย์การค้าโครงการระดับหมื่นล้าน แสนล้าน ทั้งๆ ที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ติดอันดับโลกด้านปัญหาการจราจรและสิ่งแวดล้อมสารพัด ภาคเอกชนมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ มากกว่าสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิต ตามข้อมูลทางวิชาการกรุงเทพฯ มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่ำกว่ามาตรฐาน คือมีสัดส่วนเพียง 4.09 ตร.ม./คน จากมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 9 ตร.ม./คน

ผู้เขียนฝากไปถึงนักธุรกิจแสนล้านทั้งหลายนะครับ ลองหันมาพิจารณาอุทิศที่ดิน ทรัพย์สิน เพื่อโครงการสร้างสวนสาธารณะ สร้างพื้นที่สีเขียวให้เพื่อนร่วมชาติได้พึ่งพาอาศัย พักผ่อน ออกกำลังกาย

นักการเมืองที่จะลงเลือกตั้ง ถ้ามีนโยบายเรื่องสวนสาธารณะทั้งใน กทม.และทุกจังหวัด โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ดัดแปลงพื้นที่รกร้าง สร้างธรรมชาติสวยงามให้ชุมชน ท่านจะโชคดีในการเลือกตั้ง…

ในเมืองไทย มีสถาปนิกมืออาชีพระดับโลกที่จะออกแบบ เนรมิตให้เกิดขึ้น แสนอลังการ เลิศหรูได้ตามที่ต้องการ

ปัจจุบันสวนลุมพินีนับเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดกลางกรุงเทพมหานคร และเพื่อรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ.2485 รัฐบาลในสมัยนั้น จึงจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ในหลวง ร.6 ผู้พระราชทานกำเนิดสวนลุมพินี ประดิษฐาน ณ ด้านหน้าของสวนลุมพินี

เรียบเรียงโดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image