รัฐธรรมนูญมาตรา1 : วีรพงษ์ รามางกูร

เกิดเรื่องฮือฮาขึ้นเมื่อมีการสัมมนาที่ปัตตานี เมื่อผู้อภิปรายท่านหนึ่งเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประชาชนหลายคนก็ยังไม่เข้าใจว่ามาตรา 1 คืออะไร สำคัญอย่างไร แก้ได้หรือไม่ได้ มีอะไรแก้ได้ อะไรแก้ไม่ได้ การเสนอแก้จะเข้าข่ายความผิดอะไรหรือไม่

ข้อความในมาตรา 1 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกยุคทุกสมัย แม้ว่าจะมีการฉีกรัฐธรรมนูญแล้วมีการยกร่างขึ้นใหม่ ก็ลอกข้อความเดิมมาใช้ทั้งหมด แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอะไรเลย

ความในมาตรา 1 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เขียนกำชับไว้ชัดเจนสละสลวยว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” ประกาศรูปแบบของ “รัฐไทย” ว่าเป็นรูปแบบนี้ที่อาจจะเหมือนหรือไม่เหมือน “รัฐ” อื่นๆ ก็ได้ การจะแยกเนื้อหาของความในมาตรา 1 ดังกล่าวเป็นข้อๆ ก็คงแยกได้ดังนี้ 1.ประเทศ 2.ราชอาณาจักร 3.อันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้

แต่ละข้อล้วนมีความหมายทางรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ เพราะรูปแบบของรัฐนั้นล้วนคลี่คลายมาจากประวัติศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ มิใช่เกิดขึ้นได้เอง แม้จะมีการจัดตั้ง “รัฐ” โดยมีองค์ประกอบครบถ้วน กล่าวคือมีดินแดน มีประชากร มีรัฐบาลและมีอำนาจอธิปไตย แต่รัฐที่มีองค์ประกอบดังกล่าวอาจจะมีรูปแบบได้หลายแบบ แต่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดไว้ในมาตรา 1 มีดังนี้คือ

Advertisement

1.ชื่อประเทศคือประเทศไทย ดินแดนแห่งนี้เคยมีชื่อว่าประเทศสยาม เป็นที่อยู่ของคนหลายเผ่า หลายชนชาติ เช่น ไทย ลาว เขมร มอญ มลายู ไทยใหญ่ เขิน จ้วง ไทยลื้อ เป็นต้น มีถิ่นเกิดพื้นเพเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน แต่มีอาณาเขตแน่นอน มีรัฐบาล มีอำนาจอธิปไตย มีประชากรและอาจจะหลายเผ่าพันธุ์จึงเรียกดินแดนนี้ว่าสยาม สยามเป็นชื่อดินแดนไม่ใช่ชื่อคนหรือเชื้อชาติของคน

ต่อมาในปี พ.ศ.2482 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำของรัฐบาลเผด็จการทหารในขณะนั้น ได้เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยาม จากชื่อดินแดนมาเป็นชื่อเผ่าพันธุ์ มาเป็นประเทศไทย ซึ่งได้รับการคัดค้านพอสมควรว่าประเทศมิได้เป็นดินแดนของคนเชื้อสายไทยเท่านั้น มีชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อื่นๆ รวมทั้งผู้คนที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเป็นระยะๆ เช่น ชาวจีน อินเดีย ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง มลายู และอื่นๆ ด้วย

แต่บัดนี้คำว่าประเทศไทยหรือ Thailand ซึ่งใช้แทนคำว่าสยาม Siam ได้ติดตลาดทั้งในและต่างประเทศเสียแล้ว จะเปลี่ยนกลับมาใช้คำเดิม สยาม Siam คงจะยุ่งยากและสับสนไม่น้อย ความจริงเคยมีผู้เสนอให้เปลี่ยนกลับ ซึ่งต้องแก้ไขมาตรา 1 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งคงทำได้ยากเสียแล้ว

Advertisement

2.ราชอาณาจักร เป็นการกำหนดรูปแบบของรัฐบาลว่าเป็นราชอาณาจักร หมายความว่าแม้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นพระประมุขของประเทศเป็นผู้ใช้อำนาจนั้นแทนประชาชน แต่มิได้ใช้โดยตรง ทรงใช้ผ่านสภานิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรีและศาล
การเป็นราชอาณาจักร เป็นการบอกรูปแบบของสถาบันทางการเมือง ว่าไม่ใช่สาธารณรัฐหรือ republic เหมือนประเทศอื่นๆ ที่มีประธานาธิบดีที่เลือกตั้งมาจากประชาชน หรือสถาปนาตนเองก็ดีเป็นประมุขของประเทศ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์
ข้อแตกต่างขององค์ประมุขที่เป็นพระมหากษัตริย์กับประธานาธิบดีก็คือ พระมหากษัตริย์นั้นทรงได้รับความชอบธรรมโดยการสืบราชสันตติวงศ์ สืบทอดเป็นราชวงศ์ ส่วนประธานาธิบดีมิได้สืบทอดอำนาจทางสายเลือด แต่ได้รับเลือกจากสภานิติบัญญัติบ้าง เลือกโดยตรงจากประชาชนบ้าง

การที่รัฐธรรมนูญมาตรา 1 บัญญัติไว้ชัดเจนในทุกๆ ฉบับก็คือ ประเทศนี้ชื่อประเทศไทย ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจนั้นแทนประชาชน พระองค์จึงทรงมีพระราชอำนาจในฐานะผู้ใช้อำนาจอธิปไตยนั้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และทรงดำรงอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

ปัญหาของ 4 จังหวัดภาคใต้ที่เรียกร้องการปกครองตนเอง ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็น “มลรัฐ” แบบสหรัฐอเมริกา ที่มลรัฐจะเลือกผู้ปกครองเอง ออกกฎหมายตนเอง มีศาลและมีตำรวจท้องถิ่นของตนเอง หรือเรียกร้องให้เป็น “เขตปกครองพิเศษ” เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร หรือนครพัทยา สามารถจัดเลือกตั้งผู้ว่าการของตนเอง กำหนดเวลาการดำรงตำแหน่งไว้อย่างแน่นอน แทนที่จะเป็นผู้ว่าการที่ส่งมาจากกรุงเทพฯ เหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ตามระบบการปกครองส่วนภูมิภาค

การเป็นราชอาณาจักรนั้น เท่าที่เห็นการปกครองก็จะต้องเป็นการปกครองระบอบรัฐสภา กล่าวคือประชาชนเลือกผู้แทนของตนแล้วประกอบกันเป็นสภาผู้แทนราษฎร แล้วสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่แบ่งแยกอำนาจอย่างเด็ดขาด สภาลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ รัฐบาลยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ได้

เคยมีผู้เสนอให้ราชอาณาจักรไทยใช้ระบบเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง และมีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรูปแบบนี้ยังไม่เคยมีในโลกและจะมีความขัดแย้งในตัวเองหลายประการก็เลยเลิกไปในที่สุด เมื่อเป็นราชอาณาจักรก็ต้องเป็นระบอบรัฐสภา จะมีสภาเดียวหรือ 2 สภาก็ได้ แล้วแต่ความต้องการของฝ่ายผู้มีอำนาจที่จะร่างรัฐธรรมนูญ เพราะน้อยครั้งมากที่ประชาชนจะได้มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญ

ราชอาณาจักรกับสาธารณรัฐก็อาจจะมีรูปแบบรัฐเดียวและรัฐรวมได้ กล่าวคือราชอาณาจักรก็อาจจะเป็นสหราชอาณาจักร ซึ่งประกอบด้วยราชอาณาจักรหลายราชอาณาจักรมารวมกัน แล้วยกราชวงศ์หนึ่งขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่พระองค์เคยเป็นองค์อธิปัตย์มาก่อนก็ได้ หรือโดยความที่เคยเป็นเมืองขึ้นเมื่อได้รับเอกราชแล้ว

รัฐต่างๆ ยังมีรัฐบาลของตน มีนายกรัฐมนตรีของตนเอง บางทีก็เรียกว่ามุขมนตรี มีสภานิติบัญญัติของตน และสละอำนาจส่วนหนึ่งให้รัฐบาลกลางที่มาจากการเลือกตั้ง มีสภาผู้แทนราษฎรและอาจจะมีวุฒิสภา ซึ่งมีองค์ประกอบไม่เหมือนสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ อาจมีสมาชิกส่วนหนึ่งแต่งตั้งมาจากผู้มีตำแหน่งทางเชื้อสายหรือตำแหน่งในราชวงศ์

ขณะเดียวกันราชอาณาจักรอาจจะมีรูปแบบรัฐเดี่ยวเช่นประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น บรูไนหรือประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง ยกเว้นประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งมีลักษณะเป็นสหราชอาณาจักร แม้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดของประเทศญี่ปุ่นจะมาจากการเลือกตั้ง แต่จังหวัดของญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นราชการส่วนภูมิภาคอยู่ เพราะญี่ปุ่นเป็นราชอาณาจักร รัฐเดียว มิได้แบ่งแยก

3 .แบ่งแยกมิได้ ประโยคสุดท้ายในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ความข้อนี้เป็นการบอกถึงรูปแบบของรัฐของราชอาณาจักรไทยว่าเป็นรัฐเดียว อย่างเดียวกับญี่ปุ่น ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย บรูไนและอื่นๆ ไม่ใช่สมาพันธรัฐ หรือสหภาพ หรือสหรัฐ อย่างมาเลเซีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา แคนาดา

การเป็นสาธารณรัฐมิใช่ราชอาณาจักรนั้น รูปแบบของรัฐบาลที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ จึงมีทั้งระบอบรัฐสภาและระบอบประธานาธิบดี สาธารณรัฐอินเดียมีประมุขเป็นประธานาธิบดี แต่รูปแบบการปกครองของรัฐบาลกลาง เป็นระบอบรัฐสภาโดยประธานาธิบดี ไม่ใช่หัวหน้าฝ่ายบริหาร และสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือก แต่รูปแบบของประเทศเป็นรูปแบบของการเป็นสหภาพ หรือ Union จังหวัดหรือแคว้นต่างๆ มีประมุขของแคว้นเรียกว่ามหาราชบ้าง นาจีบบ้าง มีมุขมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแคว้น หรือจังหวัด

คำว่าสหภาพ Union สมาพันธรัฐ Federation สหรัฐ United State จะมีความหมายคล้ายๆ กัน เพียงแต่รวมกันได้หนาแน่นมากน้อยต่างกัน เช่น สหภาพยุโรป สหภาพเมียนมา การรวมกันน่าจะหลวมกว่าสหรัฐ แต่ทั้งหมดยอมสละอำนาจการมีกองทัพและการติดต่อกับต่างประเทศในระดับการทูต ส่วนการเงินการคลังและการธนาคารเป็นส่วนสำคัญในการรวมกันเป็นสหภาพ เป็นสมาพันธรัฐหรือสหรัฐ เป็นต้น

การมีผู้กล่าวว่าจะเสนอแก้ไขมาตรา 1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงเป็นของที่ทำได้ยาก ไม่น่าจะมีความหมายอะไร แม้ว่าในส่วนของชื่อประเทศที่เปลี่ยนจากสยาม Siam มาเป็นประเทศไทย Thailand ก็เปลี่ยนมานานจนติดตลาดแล้ว จะแก้กลับไปเป็นสยามอย่างมีผู้เคยเสนอก็คงเป็นไปได้ยากมาก

ส่วนคำว่าเป็นราชอาณาจักรก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแก้ไข แม้แต่ถ้อยคำว่าเป็นรัฐเดี่ยวที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และคำว่าแบ่งแยกมิได้เป็นการระบุชัดว่าราชอาณาจักรไทยเป็นรัฐเดียว Unitary State มิใช่สมาพันธรัฐ สหภาพหรือสหรัฐ เหมือนรูปแบบประเทศอื่นๆ ที่มีหลายรูปแบบ

การแสดงความคิดเห็นเป็นเพียงคำพูดสนทนาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ยังไม่ถึงขึ้นเตรียมการหรือลงมือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าจะวิพากษ์วิจารณ์กลับถึงการเสนอความเห็นที่ไม่น่าเป็นไปได้ก็ไม่เป็นประโยชน์ ไม่น่าจะมีผู้คนเห็นด้วยเท่าใดนัก จะวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านไม่เห็นด้วยได้แต่ก็ไม่ควรเลยเถิดไปถึงขั้นจะเอาโทษเอาโพย จะกลายเป็นเรื่องทางการเมืองไป

จะเป็นโทษหรือเป็นประโยชน์ ก็เป็นเพียงความเห็นในที่สัมมนาทางวิชาการเท่านั้น รัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ไม่ได้ขัดขวางการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ เช่น กรุงเทพมหานคร นครพัทยา เป็นประโยชน์เรื่องประสิทธิภาพในการบริหารด้วยซ้ำ

การถกเถียงกันในที่สัมมนาด้วยเหตุผลทางวิชาการ ก็ไม่น่ามีผลที่จะเปลี่ยนความคิดเห็นสาธารณะหรือ public opinion ของประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ได้

ข้อสำคัญคือสิทธิของคนส่วนน้อยต้องได้รับการดูแล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image