บทนำ : ข่าวดีจาก‘อียู’

ข่าวดีที่มาภายหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. ที่น่าจะต้องติดตามอย่างเกาะติดเป็นพิเศษ ได้แก่การที่ คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ด้านการต่างประเทศ ลงมติเมื่อ 14 ตุลาคม ให้กระชับความสัมพันธ์กับไทยให้แน่นแฟ้นขึ้น หลังจากห้วงเวลายากลำบาก 5 ปีของรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 อียูซึ่งมีสมาชิก 28 ประเทศ คู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และนักลงทุนลำดับ 2 ในไทย ได้ลดระดับความสัมพันธ์กับไทย ระงับการมาเยือนอย่างเป็นทางการ ระงับการลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างกัน (Partnership & Cooperation Agreement ; PCA) ระงับการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-อียู ฯลฯ ก่อผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของประเทศไทย เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไป แม้รัฐบาลไทยพยายามบอกมาตลอดว่า ไม่มีปัญหา

มติดังกล่าวของอียู มีผลปลดล็อก ช่วยให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจ ภาคส่งออก ลงทุน การบริการ การท่องเที่ยวเกิดความลื่นไหล ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะใช้ประโยชน์จากการฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ขยายตลาดใหม่ให้กับสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วนดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ช่วงชิงความเสียเปรียบการแข่งขันกลับคืนมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่อียูเดินหน้าข้อตกลงเอฟทีเอกับหลายประเทศไปเรียบร้อย อาทิ เวียดนาม สิงคโปร์ บราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัย ปารากวัย

นักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้ นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีในทุกมิติ การหยุดชะงักในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเสียเปรียบเวียดนาม ซึ่งทำเอฟทีเอกับยุโรปไปก่อน ทำให้ได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากยุโรปมากกว่า หากไทยทำเอฟทีเอกับยุโรปสำเร็จ จะเป็นผลเชิงบวกกับภาคส่งออก ซึ่งพึ่งพาตลาดยุโรป 10% และนี่คือผลทางด้านการเมือง การค้าระหว่างประเทศ ของการที่ประเทศไทยกลับคืนสู่ระบบการเมืองอันเป็นที่ยอมรับ และเป็นบทเรียนสำหรับทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่เชื่อว่าการรัฐประหารแก้ปัญหาของชาติได้ และเชื่อจริงๆ จังๆ ว่าประเทศไทยยืนได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยประชาคมโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image