เดินหน้าชน : งบท้องถิ่น

การอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ในวาระแรกที่ผ่านมานั้น บรรดา ส.ส.ต่างทำหน้าที่ในการชี้แจง ชำแหละงบ ทั้งชมและวิจารณ์ โดยเฉพาะการหยิบตัวเลขในเอกสารขึ้นมาในเรื่องการอุดหนุนงบประมาณเพื่อจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) น่าสนใจในรายละเอียดที่ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เหมือนติวเข้มให้ ส.ส.ทั้งสภาได้ฟัง หยิบยก 8 เหตุผลที่ไม่รับร่างกฎหมายการเงินฉบับนี้ และก็เสนอ 4 ฐานคิดที่ช่วยหา “ทางออก”

ใน 8 เหตุผลหลักที่พรรคอนาคตใหม่ไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้เพราะไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ของประเทศ โดยกล่าวถึงงบท้องถิ่นเหมือนถูกโกง 3 เด้ง เด้งแรก บอกว่า กฎหมายระบุเป้าหมายให้โอนรายได้สุทธิร้อยละ 35 ของรัฐบาลไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ตั้งแต่ปี 2544 ถึงวันนี้ยังอยู่ที่ร้อยละ 30

ขยายความกันในส่วนนี้ ตั้งแต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก่อนที่จะมีการรัฐประหาร บรรดา 3 องค์กรของ อปท.ทั้ง สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เคยรวมตัวกันทั่วประเทศมาหลายครั้งเรียกร้องไปยังหลายรัฐบาล ก็ไม่มีรัฐบาลไหนจะทำให้ได้ ได้แต่รับปากแบบครึ่งๆ กลางๆ ทั้งที่ อปท.กว่า 7,800 แห่ง ต่างมีภาระงานมากยิ่งขึ้น ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอยู่ตลอด จากการถ่ายโอนหลายโครงการมายัง อปท. หลายงานถูกส่งมาให้ดำเนินการ แต่งบประมาณไม่ตามมาให้โดยตรง

ทั้งที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรเงินอุดหนุนท้องถิ่นร้อยละ 35 ให้ได้ตั้งแต่ปี 2549 แล้ว

Advertisement

“ศิริกัญญา” อภิปรายต่อในเด้งที่สอง คือ งบผ่านที่ อปท. ไม่ได้มีอำนาจแม้แต่จะคิดโครงการใดๆ เพียงแค่เป็นที่ผ่านงบประมาณลงไปเท่านั้น เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ ค่าอาหารกลางวันเด็ก เบี้ยคนพิการ ค่าตอบแทน อาสาสมัคร และนมโรงเรียน รวมเป็นเม็ดเงิน 1.3 แสนล้านบาท หมายความว่าถ้าหักงบผ่านเหล่านี้ออกไป อปท.ก็เหลืองบเพียงประมาณร้อยละ 24.7

ดูเหมือนจะหนักข้อยิ่งกว่าเดิม

สุดท้ายเด้งที่สาม “ศิริกัญญา” บอกว่า การประมาณการรายได้ของ อปท. ที่มีมาจาก 3 ทาง คือ 1.รายได้ที่ท้องถิ่นนั้นๆ จัดเก็บได้เอง 2.รายได้ที่รัฐแบ่งให้ และ 3.ส่วนที่เป็นเงินอุดหนุน ที่ผ่านมาพลาดเป้าหายไปประมาณปีละ 50,000 ล้านบาท ในปี 2563 ไม่มีโอกาสที่รายได้จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาษีที่ดินที่เก็บในอัตราต่ำ ได้ตกที่ตัวเลขกลมๆ ปีละ 1 หมื่นล้านเท่านั้น

Advertisement

ส.ส.หญิง พรรคอนาคตใหม่ท่านนี้จึงชี้ว่า “อปท.ได้งบประมาณที่อยู่ในกระเป๋าจริงๆ ไม่ถึงร้อยละ 22 ตกเกณฑ์ขั้นต่ำเป้าหมายตาม พ.ร.บ.ขั้นตอนการกระจายอำนาจ” และยังสรุปด้วยว่า งบประมาณจำนวนมากได้ไปอยู่ที่ “จังหวัด” (เป็นส่วนภูมิภาคที่ขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย) ไม่ได้อยู่ในมือของ อปท. (ทั้งนายกและสมาชิกสภามาจากการเลือกตั้ง) ที่ต้องรับโอนภารกิจจากหน่วยเหนือ แสดงให้เห็นว่าถ้าจะมีความจริงใจในการมุ่งกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจริงๆ งบเหล่านี้ควรตามไปด้วย

จากที่ได้อ้างอิงการอภิปรายดังกล่าว ส.ส.ศิริกัญญาสามารถชำแหละงบท้องถิ่นออกมาให้ได้รายละเอียดและเข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น ทั้งที่ไม่ใช่ ส.ส.เขตที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทำการบ้านมาพอสมควร พูดได้มีมิติลึกและเอาใจใส่มากกว่า ส.ส.จังหวัดต่างๆ หลายคน ที่เคยเป็นนักการเมืองท้องถิ่นเสียอีก

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผาจินดา รมว.มหาดไทย ถูกนักข่าวถามถึงกรณี ส.ส.ฝ่ายค้านนำเรื่องงบประมาณ   ท้องถิ่นขึ้นมาก็ให้สัมภาษณ์ว่าในส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับงบประมาณท้องถิ่นหลายเรื่องที่สร้างสรรค์จะรับไปพิจารณา และพบมีข้อเสนอที่ดี ประกอบการประชุมเป็นเพียงวาระแรกในเรื่องวาระรับหลักการ ยังมีวาระที่   2-3 ให้พิจารณาอีก

คงต้องมาติดตามกันต่อสำหรับชั้นกรรมาธิการ ที่จะต้องนำเนื้อหาจากวาระแรกนี้ไปแปรญัตติกันต่อ         การอุดหนุนงบ อปท.จะเกิดการปรับเปลี่ยนไปมากแค่ไหนต้องดูกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image