สะพานแห่งกาลเวลา : ก้าวย่างของหัวเว่ยกับ5จี

ใครที่พอจะติดตามข่าวคราวในแวดวงเทคโนโลยีของโลกอยู่บ้างคงรู้ดีว่าที่ผ่านมา หัวเว่ย เทคโนโลยี    ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารของจีน ถูกเล่นงานโดยสหรัฐอเมริกาหนักหนาสาหัสแค่ไหน

ตั้งแต่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าโดยรวม เรื่อยมาจนถึงการถูกแบนตรงๆ ห้ามใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยในสหรัฐอเมริกา ต่อด้วยการห้ามบริษัทอเมริกันทำธุรกิจด้วย ต่อด้วยการเตือนเชิงขู่นานาประเทศว่า หากใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยในโครงข่าย 5จี สหรัฐอเมริกาก็จะไม่แลกเปลี่ยนข่าวกรองด้วย เป็นต้น

ผู้สันทัดกรณีในแวดวงการค้าระหว่างประเทศ เรียกขานปฏิบัติการดังกล่าวว่าเป็น “สงครามแย่งชิงความเป็นเจ้าเทคโนโลยี 5จี” ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน

ผลลัพธ์เป็นอย่างไร?

Advertisement

ก่อนตอบคำถาม ผมขออนุญาตเล่าเหตุการณ์ที่นครซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม          ที่ผ่านมาสู่กันฟังเล็กน้อย

เอ็ดเวิร์ด เติ้ง ซีอีโอด้านธุรกิจไร้สายของหัวเว่ย ไปปรากฏตัวที่ซูริค เพื่อเปิดตัว เสาสัญญาณใหม่ล่าสุดของหัวเว่ย สำหรับใช้กับสถานีฐานของ 5จี ที่นั่น เป็นเสาสัญญาณแบบ “มัลติเพิล อินพุท แอนด์ มัลติเพิล เอาต์พุท” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “มีโม่” หรือ “แมสซีฟ มีโม่” สำหรับทำหน้าที่รับและส่งสัญญาณเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่ 5 หรือ 5จี ครับ

นี่เป็นเสาสัญญาณ 5จี ที่ก้าวหน้าที่สุดเท่าที่มีอยู่ เหตุผลง่ายๆ ก็คือ เพราะหัวเว่ยเป็นผู้บุกเบิกเสาสัญญาณ “แมสซีฟ มีโม่” มาตั้งแต่แรกเริ่มนั่นเอง

Advertisement

เสาสัญญาณที่เปิดตัวใหม่นี้ ขยายแบนด์วิธออกไปอีกเท่าตัว จนถึง 400 เมกะเฮิรตซ์ ได้ความแรงของสัญญาณเอาต์พุท สูงถึง 320 วัตต์ ครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่า ในย่านความถี่ที่รู้จักกันในแวดวงว่าเป็นความถี่ย่าน “มิด-แบนด์” ที่หลายประเทศเลือกสงวนไว้ใช้กับโครงข่าย 5จี

ที่สำคัญคือ เบากว่ารุ่นเดิม ใช้พลังงานน้อยกว่า ใช้ชิปประมวลผลที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีระดับ 7 นาโนเมตร ล้ำหน้าที่สุดเท่าที่มีอยู่ในท้องตลาดเวลานี้

เท่านั้นยังไม่พอ หัวเว่ยยังติดตั้งเสาสัญญาณนี้รวมไว้กับชุดสถานีฐาน “เบลด เอเอยู” ของตัวเอง รวมเป็นแพคเกจ กระทัดรัด ประหยัดเนื้อที่มากโข ช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถบริหารจัดการโครงข่ายได้จากไซต์เดียวได้

เอ็ดเวิร์ด เติ้ง บอกอย่างมั่นใจว่า ด้วยขีดความสามารถที่ว่านี้ เชื่อว่า เสาสัญญาณของหัวเว่ยนี้จะเป็น “มาตรฐานใหม่” สำหรับการสร้าง-ขยาย โครงข่าย5จี ได้ในทุกที่ทั่วโลก

ผมเอาเรื่องนี้มาเล่าก่อน เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า หัวเว่ย พัฒนาเทคโนโลยีแวดล้อมของ 5จี ไปไกลเกินกว่าใครๆ เขาจริงๆ

ข้อเท็จจริงนี้ ทำให้ไม่ว่าจะถูกเล่นงานมากน้อยแค่ไหนในช่วงที่ผ่านมา หัวเว่ย ก็ยังคงเป็น “เจ้าตลาด” เครือข่าย 5จี อยู่ดี ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดอยู่ที่ 28 เปอร์เซ็นต์

หัวเว่ยส่งมอบสถานีฐานไปแล้วมากกว่า 400,000 สถานีฐาน นับเฉพาะในเวลาที่ยังไม่ครบปีของปีนี้เท่านั้น เอ็ดเวิร์ด เติ้ง บอกว่าถ้าครบปีคาดว่าน่าจะทะลุ 600,000 สถานี

ปี 2020 ยิ่งไม่ต้องพูดถึง แค่ในจีนเพียงประเทศเดียว บรรดาผู้ให้บริการ 3 รายใหญ่ที่นั่น กำหนดให้เป็นช่วงเวลาของการเร่งขยายบริการ 5จี ออกไปให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ในขณะที่ในอีกหลายประเทศทั่วโลกถือเป็นปีเป้าหมายในการเริ่มต้นให้บริการ 5จี

ปลายปีนี้ หัวเว่ยนัดพบกับผู้ให้บริการ 3 รายในจีนเป็นครั้งแรก เตรียมรับฟังและเสนอให้ “เช่า” สถานีฐาน สำหรับการขยายเครือข่ายและเงื่อนไขอื่นๆ เพื่อช่วยให้บริการ 5จี ของจีนครอบคลุมมากขึ้น เร็วขึ้น

เป้าหมายคือ ในปีหน้าอย่างน้อยคนจีน 1,400 ล้านคน ต้องมี 5จี ใช้

ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า การทำศึกกับสหรัฐอเมริกาของหัวเว่ยนั้น อาจไม่ใช่เรื่องในทางลบเสียทั้งหมด ข้อดีก็มีซุกซ่อนอยู่ด้วย

บางประเทศอาจไม่เคยสนใจหัวเว่ยมาก่อน แต่เมื่อสหรัฐประกาศเช่นนั้นก็หันไปสนใจศึกษา ตรวจสอบอย่างจริงจัง ผลก็คือ คุณภาพที่โดดเด่นก็ประจักษ์ชัดออกมา

ทำนองเดียวกับสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย ที่ถึงที่สุดแล้วในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่เพิ่งผ่านมานี้ รายได้จากการขาย พุ่งพรวดขึ้น 27 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่โดนแบนและมีปัญหากับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์

เพราะถึงที่สุดแล้วความจริงย่อมหนีความจริงไปไม่พ้น

ศึกชิงความยิ่งใหญ่ 5จี ยกแรกนี้ผมว่าหัวเว่ยชนะครับ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image