คอลัมน์หน้า 3 : 3 วัน อันตราย โลกเก่า กับ โลกใหม่ ขัดแย้ง ปะทะ

3วันแห่งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. “งบประมาณ” คือ การปะทะระหว่าง 2 ความคิดในการพัฒนาประเทศที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

1 ต้องการอยู่ในโลก “เก่า”

โลกที่ตนเองเชื่อมั่นว่าปลอดภัย อบอุ่น มั่นคง แข็งแกร่ง โลกที่ทุกอย่างเริ่มต้นจาก “ส่วนกลาง” ในฐานะคุณพ่อรู้ดี

ตัวแทนที่โดดเด่นคือรัฐบาล คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

Advertisement

ขณะเดียวกัน 1 ต้องการหลุดพ้นไปจากวังวนแห่งปัญหาและความขัดแย้งอันต่อเนื่องมาอย่างยาวนานและเด่นชัดอย่างยิ่งภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นความก้าวหน้า

สัมผัสได้จากการอภิปรายของพรรคเพื่อไทย และสัมผัสได้จากวิธีวิทยาการนำเสนออย่างเป็นระบบของพรรคอนาคตใหม่

Advertisement

นี่คือการเผชิญหน้าระหว่าง “โลกเก่า” กับ “โลกใหม่”

มีรูปธรรมมากมายที่แสดงให้เห็นการพยายามนำเอาวิธีวิทยาอย่างใหม่ กระบวนการสังเคราะห์อย่างใหม่เข้ามาสู่ในแต่ละขั้นตอนของการพิจารณา “งบประมาณ”

เราเห็นคนอย่าง นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ คนอย่าง น.ส.จิราพร สินธุไพร

เราเห็นคนอย่าง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล คนอย่าง นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ คนอย่าง นายนิติพล ผิวเหมาะ คนอย่าง นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล

รวมทั้งคนอย่าง นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร

พวกเขามิได้มาพร้อมกับแผนภูมิอย่างที่นักการเมืองรุ่น นายสมัคร สุนทรเวช หรือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เคยใช้ด้วยความตื่นตาตื่นใจ

ตรงกันข้าม เขามาพร้อมกับมี “ไอแพด” อยู่ข้างหน้า

ตรงกันข้าม เขามาพร้อมกับการประมวลเอาหลักฐานอันดำรงอยู่ในลักษณะ “ข้อมูลดิบ” ของแต่ละหน่วยราชการมาสังเคราะห์ วิเคราะห์อย่างเป็นระบบ

ท่ามกลางความหงุดหงิดจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ตลอด 3 วันจากวันที่ 17 กระทั่งคืนวันที่ 19 ตุลาคม ภาพแห่งช่องว่างระหว่างวัย ช่องว่างระหว่างรุ่น ฉายสะท้อนออกมาอย่างเด่นชัด

จุดเหนือกว่าของ “คนรุ่นก่อน” อยู่ตรงไหน

อยู่ตรงความเชื่อที่ว่า พวกตน “อาบน้ำร้อน” มาก่อน ความหมายก็คือ อายุมากกว่า อยู่ในโลกมายาวนานกว่า

ถามว่าตรงนี้จะถือเป็น “บรรทัดฐาน” ได้หรือไม่

ผลงานและความสำเร็จนับจากเดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งเดือนมีนาคมและการเข้าบริหารราชการแผ่นดินตลอด 3 เดือนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เท่ากับเป็น “คำตอบ”

หากดูจากเนื้อหาการอภิปรายของนักการเมืองรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะจากพรรคอนาคตใหม่ ตลอด 3 วัน

เด่นชัดอย่างยิ่งว่า พวกเขาไม่เชื่อ พวกเขาไม่มั่นใจ

นับจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 นับจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา สถานการณ์จากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ

สะท้อน “รูปธรรม” อย่างเด่นชัด

เป็นรูปธรรมความขัดแย้งไม่เพียงแต่ระหว่างคนต่างวัย คนต่างรุ่น หากที่สำคัญเป็นอย่างมากยังสะท้อนความขัดแย้งระหว่างคนที่อยู่ในโลกเก่ากับคนที่อยากก้าวไปสู่โลกใหม่

ความขัดแย้งนี้ในที่สุดจะกลายเป็นการปะทะที่รุนแรงหากไม่รีบแก้ไข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image