ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน จิ๊กซอว์ต่อติดพันธมิตร ‘จีน-ญี่ปุ่น’

เอกอัครราชทูต 3 ประเทศ (จากขวา) ประกอบด้วย นายโลเรนโซ กาลันตี เอกอัครราชทูต สาธารณรัฐอิตาลีประจําประเทศไทย (ซ้ายสุด) นายหลู่ย์ เจียน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจําประเทศไทย (ที่สองจากซ้าย) และนายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจําประเทศไทย (ขวาสุด) ร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามในสัญญาและบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ย้อนกลับไปเมื่อเร็วๆ นี้ 24 ตุลาคม 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดทําเนียบรัฐบาลจัดพิธีลงนามในสัญญาและบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ระยะเวลา 50 ปี

โดยมีนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และตัวแทนบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จํากัด ร่วมลงนาม

แขกสําคัญยิ่งสองท่านที่ทําให้พิธีลงนามนี้ส่งสัญญาณแรงชัดไปทั่วโลกคือ นายหลู่ย์ เจียน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจําประเทศไทย และนายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจําประเทศไทย

ทั้งสองชาติยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจมีบทบาทร่วมกันในฐานะแหล่งเงินกู้โครงการดังคํา กล่าวในงานของแม่ทัพซีพี

Advertisement

“แหล่งเงินกู้มีทั้งในและต่างประเทศ สําหรับต่างประเทศมี Japan Bank for International Cooperation (JBIC) กับ China Development Bank (CDB) ซึ่งมาช่วยเป็นที่ปรึกษาและทําให้เราเข้าใจการลงนามในโครงการนี้มากขึ้น” นายศุภชัยกล่าว

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จํากัด และพันธมิตร หรือกลุ่ม CPH ได้ทํางานอย่างใกล้ชิดกับ JBIC และ CDB ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องมือทางยุทธศาสตร์สองชาติมหาอํานาจทางเศรษฐกิจ จีน-ญี่ปุ่น

1 ปีก่อนหน้านี้ระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2561 นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของทั้ง 2 ประเทศ

Advertisement

หนึ่งในหัวข้อสําคัญของการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีทั้งสองชาติ คือ การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น ในประเทศที่สาม (oversee joint infrastructure projects in other countries) ซึ่งกําหนดบทบาทของ JBIC และ CDB ให้เป็นผู้ร่วมปล่อยกู้ในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน

“นับเป็นการยกระดับจากการแข่งขันสู่ความร่วมมือ ผมต้องการสร้างความสัมพันธ์ยุคใหม่ ญี่ปุ่นและจีนคือเพื่อนบ้านและหุ้นส่วน เราจะไม่เป็นภัยคุกคามกัน” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวในครั้งนั้น ในขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นําพญามังกร กล่าวว่า ขณะที่สถานการณ์ระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลง จีนและญี่ปุ่นก็กําลังพึ่งพาอีกฝ่ายหนึ่งมากยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วบนโลกได้มอบโอกาสมากมายให้จีนและญี่ปุ่น เพื่อความร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น

ทั้งสองชาติได้ตกลงที่จะร่วมมือกันพัฒนาโครงการในประเทศที่ 3 โดยมีเป้าหมายแรกที่ 5 ประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะการลงทุนเส้นทางรถไฟเชื่อม 3 สนามบินสุวรรณภูมิดอนเมือง-อู่ตะเภา ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของประเทศไทย

ช่วงการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยังได้มีการจัดงาน China-Japan Forum on Third Country Business Cooperation ในวันที่ 26 ตุลาคม 2561 ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งสํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้รับเชิญให้เข้าร่วม ท่ามกลางผู้ร่วมงานกว่า 1,600 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐระดับสูง นักลงทุนและนักการเงิน ชั้นนําของทั้ง 2 ประเทศ

ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น – สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน

การสัมมนาดังกล่าวมีพิธีแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศ กว่า 50 ฉบับ มีผู้นําของทั้ง 2 ประเทศร่วมเป็นสักขีพยาน หนึ่งในความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศที่สําคัญ คือ การลงนามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินใน การสนับสนุนนักลงทุนจีนและญี่ปุ่นร่วมกันสํารวจตลาดในประเทศที่สาม ระหว่างธนาคาร ICBC ของจีน และธนาคาร Mizuho ของญี่ปุ่น ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่าเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี นับเป็นเป้าหมายสําคัญเป้าหมายหนึ่งที่ธนาคารทั้ง 2 จะร่วมมือกันในประเทศที่สาม

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. ซึ่งเข้าร่วมการสัมมนากล่าวว่า การสัมมนาได้รับการตอบรับด้วยดีและชี้ให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเป็นหนึ่งในจุดหมายสําคัญและเป็นกรณีตัวอย่างของความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่นในประเทศที่สาม

“ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นมหามิตรของทั้งจีนและญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ดีที่สุดที่จะสนับสนุน โครงการความร่วมมือระหว่างสองชาตินี้” ศาสตราจารย์ยาสุฮิโร มัตสุดะ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ให้ความเห็นต่อเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ และอธิบายเพิ่มเติมว่าญี่ปุ่นจําเป็นต้องลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาสหรัฐ โดยยกระดับความร่วมมือกับจีนให้มากขึ้น

ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์นี้กลายเป็นจังหวะที่ลงตัวเมื่อรัฐบาลไทยกําลังผลักดันแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เกิดขึ้นเป็นจริง โดยนับหนึ่งที่โครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นโครงการนําร่องของรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน (Public Private Partnership-PPP) โดยโครงการนี้ใช้แนวทาง PPP Net Cost ที่ให้เอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงในการลงทุนทั้งหมด

ส่วนสาเหตุหลักที่เลือก PPP Net Cost คือต้องการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลให้น้อยที่สุด เพื่อจะได้มีเหลือไปทําประโยชน์ด้านอื่นๆ ให้ได้มากที่สุด ตามหลักบริหารการคลังของประเทศ ที่มี 3 กฎเหล็กที่ยึดเป็นหลัก ประกอบด้วย

1) เงินงบประมาณมาจากภาษี ควรต้องพิจารณาใช้เพื่อคนด้อยโอกาส

2) เงินกู้เป็นหนี้สาธารณะ ใช้เพื่อการลงทุนที่มีผลตอบแทนต่ำ แต่เกิดประโยชน์มากต่อส่วนรวม

3) การร่วมทุนเป็นการดึงเงินจากเอกชน แบ่งเบาภาระการลงทุนของรัฐ และช่วยรัฐบาล ลดภาระการคลัง ลดภาระหนี้สาธารณะ

ประมาณการเบื้องต้นของการดําเนินโครงการในอีอีซี โดยใช้รูปแบบ PPP รวม 4 โครงการ ที่เป็นภาระการลงทุนของภาครัฐ 200,000 ล้านบาท แต่จะมีรายได้สุทธิกลับคืนสู่รัฐ 200,000 ล้านบาทเช่นกัน ได้แก่

1) โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

2) โครงการสนามบินอู่ตะเภา

3) โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

4) โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3

เมื่อโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แจ้งเกิด ก็หมายความว่า PPP Net Cost ของไทยสามารถยืนอยู่ได้ในระดับนานาชาติ การันตีโดยสองชาติมหาอํานาจเศรษฐกิจเบอร์ 2-3 ของโลก และยังมีประเทศในยุโรปอย่างอิตาลี รวมทั้งบริษัทก่อสร้างอันดับ 1, 2 ของไทยมาร่วมเป็นพันธมิตร สร้างความเชื่อมั่น กลายเป็นดีลประวัติศาสตร์ระดับภูมิภาคอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image