สถานีคิดเลขที่ 12 : สภาเปิดแล้ว : โดย นฤตย์ เสกธีระ

การประชุมสมัยสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน แต่มีการเรียกประชุมนัดแรกวันที่ 6 พฤศจิกายน

การประชุมสภาสมัยนี้มีเรื่องราวที่น่าติดตาม และอยากชักชวนให้คนไทยได้สดับวาระการประชุมสภา

แม้ทีแรกคิดว่าญัตติด่วนเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้าพิจารณา

แต่ขณะนี้มีข่าวว่าต้องรอการพิจารณาญัตติอีกญัตติหนึ่งก่อน

Advertisement

นั่นคือ ญัตติเกี่ยวกับผลกระทบต่อการใช้อำนาจ ม.44 ของ คสช.ออกคำสั่งต่างๆ

มีการประเมินกันว่า การอภิปรายในญัตติดังกล่าวจะเข้มข้นพอๆ กับอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ทั้งนี้ เพราะ ม.44 เคยเป็นดาวร้ายในสายตาของนักประชาธิปไตยมาตลอด 5 ปีของ คสช.

Advertisement

จากวันนั้นถึงวันนี้ ยังไม่เคยเห็นคนที่ใช้ ม.44 กับคนอยู่ฝ่ายถูก ม.44 กระทำได้พบหน้ากัน และพูดคุยกันในประเด็นนี้

การใช้เวทีสภาเป็นสถานที่พบหน้าพูดคุยกันก็ถือว่าสมควร

พูดจากันซะ ทั้งผลจากการใช้ ม.44 กับบุคคล และการใช้ ม.44 กับนิติบุคคล

ทั้งการใช้ ม.44 จำกัดสิทธิเสรีภาพของคนเห็นต่างจนเกิดเป็นคดีบุคคล

และการใช้ ม.44 แล้วเกิดคดีใหญ่อย่างเช่นเหมืองทองคำ

รวมทั้งอาจจะมีกรณีอื่นๆ

หลังจากพิจารณาญัตตินี้แล้ว คาดว่าสภาจะพิจารณาญัตติตั้งกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แม้การพิจารณาเรื่องนี้จะแค่ตีกรอบหาวิธีแก้ไข

แต่ดูเหมือนว่า เพียงเริ่มต้นสัญญาณเชิงบวกก็ปรากฏออกมา

อย่างน้อยข้อเสนอที่อยากให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธานคณะกรรมาธิการ โดยมีพรรคการเมืองฝ่ายค้านสนับสนุนก็เป็นสัญญาณดี

ทั้ง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ

ต่างไม่ขัดข้อง

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้น มี นายเทพไท เสนพงศ์ สนับสนุนเต็มที่

ล่าสุดพรรคพลังประชารัฐประกาศขวาง พร้อมยืนยันว่าประธานคณะกรรมาธิการต้องเป็นคนของพรรคแกนนำเท่านั้น

แต่ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นแย้ง แค่แสดงความคิดเห็น ก็ถือว่าทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ในวาระ 2-3 ที่ต้องมีโหวต

เชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณน่าจะผ่านไปได้ในที่สุด แต่เกมการต่อรองของบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนี่สิ น่าสนใจ

อีกวาระหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการประชุมสภาสมัยนี้ นั่นคือ การยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ความน่าสนใจอยู่ที่การนำเสนอข้อมูลของสภาชุดนี้

เป็นความหวังที่ต่อเนื่องจากการประชุมสภาครั้งที่ 1 ที่การอภิปรายเต็มไปด้วยข้อมูล

ถ้าฝ่ายค้านสามารถแสดงหลักฐานในการกล่าวหา และอธิบายถึงความไม่น่าไว้วางใจของรัฐบาลได้

เชื่อว่า เมื่อถึงเวลาโหวต ฝ่ายรัฐบาลเหนื่อยแน่

แต่ถ้าการกล่าวหานั้นเลื่อนลอย ไร้หลักฐาน ฝ่ายค้านเองก็ต้องเหนื่อย

นี่แหละที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่าสมัยการประชุมสภาครั้งนี้น่าติดตาม

อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ร่วมรับฟังร่วมตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและฝ่ายค้านผ่านการประชุมสภาไปด้วยกัน

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image