การแก้ไขรัฐธรรมนูญ : วีรพงษ์ รามางกูร

การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร ที่ให้สมาชิกวุฒิสภาสามารถมาร่วมประชุมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในวาระเริ่มแรกของการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2460 ที่บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล เลียนแบบบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2520 ซึ่งมีบทบัญญัติให้สมาชิกวุฒิสภามาร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2522 และครั้งที่ 2 ปี 2526 ทำให้เราได้นายกรัฐมนตรีประชาธิปไตยครึ่งใบที่อยู่ในอำนาจถึง 8 ปี 5 เดือน

แต่ในสมัยนั้น ในสถานการณ์เช่นนั้นก็เป็นที่ยอมรับกัน เมื่อยังมีสงครามเย็นระหว่างประเทศและสงครามปลดปล่อยประชาชนยังคงดำรงอยู่ ขณะเดียวกันฐานะการเงินการคลังของประเทศก็ยังอ่อนแอ เนื่องมาจากการเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 เศรษฐกิจของโลกถดถอย ราคาสินค้าเกษตรทุกตัวตกต่ำ เศรษฐกิจฝืดเคืองเหมือนๆ กับที่เราประสบอยู่ในขณะนี้ เพียงแต่ขณะนี้การเงินการคลังของประเทศมีความมั่นคง แต่เศรษฐกิจถดถอยไม่ใช่ชะลอตัว และมีทีท่าว่าจะดำรงคงอยู่กับเราไปอีกนาน

ขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำถดถอยเป็นเศรษฐกิจขาลง ราคาสินค้าเกษตรทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม อ้อยและน้ำตาล ที่เป็นสินค้าที่โอบอุ้มการว่างงานในประเทศได้ ต่างพากันลดราคาลงพร้อมๆ กันถ้วนหน้า ราคาสินค้าเกษตรลดลงจะเป็นเหตุให้กำลังซื้อของครัวเรือนเกษตรกรพากันหดตัวลง กำลังซื้อที่หดตัวลงทำให้ส่วนของหนี้สินของครัวเรือนสูงขึ้น กำลังซื้อของครัวเรือนคือฐานสำคัญของผลิตภัณฑ์จากภาคอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องมือเครื่องกลในการเกษตร

ประกอบกับตลาดในต่างประเทศ ความต้องการสินค้าจากภาคอุตสาหกรรมของไทยก็ลดลง จึงเป็นเหตุให้ภาคอุตสาหกรรมของเราเดินเครื่องได้ไม่เต็มสูบ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม รายงานว่าภาคอุตสาหกรรมของเราใช้กำลังการผลิตเพียงร้อยละ 62-64 ของกำลังการผลิตเท่านั้น เพราะขายของได้เพียงเท่านี้ ถ้าผลิตมากกว่านี้ของก็จะเหลือ

Advertisement

ด้วยเหตุนี้การลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายการผลิตก็ดี หรือลงทุนเพื่อปริมาณการผลิตก็ดี จึงไม่มีเลย

เมื่อการลงทุนภาคเอกชนไม่เกิดขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะลงทุนให้มากขึ้น เพื่อชดเชยการลงทุนของภาคเอกชน แต่การลงทุนภาครัฐบาลก็ไม่เกิด เพราะทัศนคติและมุมมองที่ผิดๆ ของนายกรัฐมนตรีและทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล เท่าที่ฟังจากที่นายกรัฐมนตรีก็ดี จากรองนายกรัฐมนตรีที่แสดงปาฐกถาก็ดี

ประการแรก ทั้งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีไม่รู้ว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังตกต่ำ คิดว่าเป็นเพียงแค่สถานการณ์ชั่วคราว คิดว่าอีกไม่ช้าเศรษฐกิจก็จะฟื้นตัว ไม่จำเป็นต้องทำอะไร รอให้ต่างประเทศมาลงทุน ก็ในเมื่อนักลงทุนไทยยังไม่ยอมลงทุนเพราะกำลังการผลิตยังเหลือเฟือ แล้วนักลงทุนต่างประเทศจะมาลงทุนได้อย่างไร

Advertisement

ส่วนการลงทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลาย เช่น การลงทุนขยายท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุดและแหลมฉบัง การขยายสนามบินสุวรรณภูมิก็ดี ดอนเมืองก็ดี อู่ตะเภาก็ดี ความจำเป็นจะต้องมีการลงทุนระบบรางเชื่อมระหว่างสนามบินทั้ง 3 ซึ่งเอกชนที่ประมูลได้แล้วหวังว่าจะได้ที่ดินที่สถานีมักกะสันเอาไปพัฒนา ทำศูนย์การค้าสำนักงานและที่อยู่อาศัยเพื่อหารายได้สนับสนุน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในยามที่เศรษฐกิจเป็นช่วงขาลง

ไม่แน่ใจว่าเอกชนจะยอมลงทุนหรือไม่ เพราะเห็นเล่นตัวไปมา เพราะโครงการก่อนหน้านี้ที่กลุ่มทุนนักพัฒนาอสังหาได้ลงทุนก่อสร้างไว้ก็มีปัญหา ขายไม่หมด ไม่ว่าจะเป็นโครงการในใจกลางเมืองกรุงเทพฯหรือทางฝั่งธนบุรี คงต้องรออีก 5-6 ปี ถึง 10 ปี จึงจะถึงวัฏจักรเศรษฐกิจรอบใหม่ของโลก

เพราะไม่มีเครื่องมืออะไรที่จะดึงเศรษฐกิจของโลกขึ้นได้ เพราะทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรปและจีนก็กำลังกลายเป็นเศรษฐกิจขาลงไปหมด

การที่ภาวะเศรษฐกิจควรจะชะลอตัวลง กลายเป็นหดตัวถดถอยอย่างค่อนข้างเร็ว เพราะเหตุที่รัฐบาลเผด็จการทหารไม่สามารถเดินทางไปเจรจาการค้ากับยุโรปและอเมริกาได้เลย จริงอยู่ที่ว่าสิทธิพิเศษทางการค้าคือเงื่อนไขที่เราเคยได้ คือสิทธิพิเศษทางการค้าในการยกเลิกภาษีขาเข้า 4-5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งในตลาดยุโรปและตลาดอเมริกาหมดไป เขาก็ควรจะยืนอยู่บนขาของตนเองได้แล้วในการแข่งขันกับประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าประเทศไทย

เพราะระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมของเรา ควรจะสูงขึ้นไปแข่งกับประเทศกึ่งพัฒนาด้วยกัน ไม่ใช่ยังจะไปแข่งขันกับประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าเรา เช่น เวียดนาม พม่า ลาว เขมร หรือแม้แต่อินโดนีเซีย รวมทั้งบังกลาเทศ หรือแม้แต่อินเดีย เป็นต้น แต่อาจเป็นเพราะเราเสียความเป็นต่อ เพราะเรามีรัฐบาลเผด็จการทหารที่ได้อำนาจมาจากการล้มล้างรัฐบาลประชาธิปไตย อันเป็นที่รังเกียจของประชาคมโลก

เมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใช้ใหม่ ก็เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจของหัวหน้าคณะรัฐประหารหรือ คสช.ชุดเดิม จึงกลายเป็นรัฐบาล “เหล้าเก่าในขวดใหม่” เหมือนเดิม โดยมีพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยที่ทรยศต่อประชาชนผู้มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพราะเชื่อในปรัชญาของพรรคประชาธิปัตย์และคำมั่นของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยว่าจะไม่สนับสนุนหัวหน้าคณะรัฐประหารหรือ คสช. ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก

เมื่อพรรคการเมืองทั้ง 2 กลับคำพูด ยกมือสนับสนุนแลกกับการได้ตำแหน่งรัฐมนตรีเข้าร่วมรัฐบาลได้ เสียงคัดค้านเผด็จการทหารของประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยก็เหือดหายไป วาทะ “ผมเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา” ของผู้ใหญ่ในพรรคก็แผ่วเบาลง เพราะตนได้เอาศักดิ์ศรี สัจจะวาจาและเกียรติยศที่เคยพัฒนากว่า 30-40 ปีเข้าแลก เลือกตั้งคราวหน้าประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร

เมื่อตอนหาเสียง ทั้ง 2 พรรคก็ให้สัจจะวาจาว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย มีขบวนการยืดยาว ถ้าอยากจะทำจริงๆ ไม่โกหกทรยศต่อประชาชนจริง ก็ควรจะทำให้ขบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้

ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ก็คือแก้ไขมาตราเดียวในบทเฉพาะกาลคือ เลิกอำนาจวุฒิสภาในการเข้ามามีสิทธิในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกวุฒิสภา หรือถ้าจะมีวุฒิสภาก็ให้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน คืนอำนาจอธิปไตยให้กับปวงชนชาวไทย ประชาชนคนไทยไม่ได้โง่เขลาเบาปัญญาจนปกครองตนเองไม่ได้

ข้ออ้างที่ว่านักการเมืองไม่ใช่คนดี ใช้เงินซื้อเสียงเข้ามาเป็นรัฐบาล อาจจะจริงหรือไม่จริง เพราะการเลือกตั้งคราวที่ผ่านมาพรรคฝ่ายค้านไม่สามารถซื้อเสียงได้ เพราะมีการควบคุมตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลกลับมีข่าวการใช้อำนาจรัฐซื้อสิทธิขายเสียงกันอย่างโจ่งแจ้งแต่ได้คะแนนปริ่มน้ำ มีการตีความรัฐธรรมนูญเพื่อให้ผู้ได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์ที่ควรจะได้รับการเลือกตั้งกลับได้รับการเลือกตั้งได้ เป็นที่ขบขันกันไปทั่วโลก จึงสามารถสืบทอดอำนาจเผด็จการทหารได้

มีผู้พยากรณ์กันทั่วไปว่าพรรคอนาคตใหม่คงไปไม่รอดเพราะจะถูกยุบพรรค กรรมการกลางพรรคถูกห้ามเล่นการเมือง โฉมหน้าการเมืองไทยก็คงจะแปรเปลี่ยนไปจากเดิมอีก ปฏิกิริยาจากคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าจะเป็นอย่างไรไม่มีใครพยากรณ์ได้ เพราะระบอบการเมืองที่ “ด้อยพัฒนา” ประชาชนในเมืองที่กุมอำนาจ “รัฐ” ไว้ ยังไม่เห็นคุณค่าของความมีศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ของตน เพียงเพราะตนได้ประโยชน์จากการมีรัฐบาลเผด็จการทหาร

มองชนชั้นล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่เป็นคนโง่ ไร้การการศึกษา เลือกผู้แทนราษฎรแทนตนไม่เป็น เพราะเห็นแก่อามิสสินจ้าง ไม่เหมือนพวกตนผู้รากมากดีที่มีการศึกษามีฐานะดีเป็นผู้เสียภาษี จึงควรมีอภิสิทธิ์เหนือผู้คนทั่วไปที่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งหลายพรรคคิดเช่นนั้น

การออกมาสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล อันได้แก่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย จึงเป็นเพียงการ “เล่นจำอวด” เป็นวิธีลากยาวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สร้างขบวนการแก้ไขให้ยืดเยื้อออกไป เช่น แก้มาตราที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียก่อน ยกเลิกบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาของการแก้ไข จัดตั้งสภาแก้รัฐธรรมนูญเสียก่อน จัดการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเสียก่อน เป็นต้น เมื่อร่างเสร็จแล้วก็พิจารณาเป็นรายมาตรา แล้วแต่จะให้เสร็จเมื่อใด เพราะจนป่านนี้ไม่มีพรรคใดกล้าผูกมัดตนเองว่าจะแก้ไขประเด็นใดบ้าง

ฟังดูแล้วไม่ค่อยแน่ใจถ้าประชาชนยังเฉยเมย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image