สถานีคิดเลขที่ 12 : กรรมาธิการฯ : โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

มีข่าวคราวที่เกี่ยวกับกรรมาธิการของสภาผู้แทนฯ และเกิดการโต้แย้งในช่วงนี้ 2 เรื่องด้วยกัน

ก่อนหน้านี้ พรรคอนาคตใหม่ ได้เสนอ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย

โดยเสนอในที่ประชุมสภา มีผู้รับรองเรียบร้อย ที่ประชุมไม่ได้เห็นเป็นอย่างอื่น เรียกว่าผ่านขั้นตอนของสภาเรียบร้อย

ต่อมามีเสียงไม่เห็นด้วย อ้างว่าไม่เหมาะสมเพราะนายธนาธรอยู่ระหว่างพักการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จากคดีหุ้นสื่อตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

Advertisement

ซึ่งทางสภาผู้แทนฯ นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ได้เคลียร์ว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้บุคคลภายนอกเป็นกรรมาธิการวิสามัญได้ ดังนั้นนายธนาธรจึงทำหน้าที่ได้ในฐานะคนนอก

เพียงแต่เมื่อถึงขั้นตอนที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ ต้องนำร่าง พ.ร.บ.งบที่ผ่านการปรับปรุงหรือแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการเข้าที่ประชุมสภา เพื่อพิจารณารายมาตราในวาระที่สอง ซึ่งอาจมีประเด็นต้องขอมติที่ประชุมสภา

นายธนาธร ในฐานะกรรมาธิการจากคนนอก จะลงมติไม่ได้

Advertisement

ขณะที่กรรมาธิการวิสามัญที่มาจาก ส.ส.สามารถลงมติได้

เป็นเรื่องปกติของสภาที่ปฏิบัติกันมาตลอด กรรมาธิการวิสามัญทั้งหลายที่มาจากคนนอก เช่น รัฐมนตรี หรือจากหน่วยราชการ ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ก็โหวตหรือลงมติไม่ได้เช่นเดียวกัน

สุดท้ายเรื่องก็จางๆ ไป นายธนาธรปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญไปตามปกติ ซึ่งที่จริงก็ไม่ผิดอะไรและเหมาะสม เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ ที่ควรจะนำมาใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ไปสร้างกรอบล็อกเอาไว้ไม่ให้กระดุกกระดิกด้วยอคติ

อีกเรื่องที่กำลังเป็นข่าว ได้แก่ กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์มีมติส่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 อันเป็นญัตติที่รอการพิจารณาของสภาอยู่

นายอภิสิทธิ์เป็นอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลาออกทั้งสองตำแหน่ง หลังเลือกตั้ง 24 มี.ค.เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้ง

มีข่าวด้วยว่า หลายฝ่าย รวมถึงฝ่ายค้านเห็นว่า น่าจะให้นายอภิสิทธิ์เป็นประธานชุดนี้ด้วยซ้ำ ด้วยดีกรีและพรรษาการเมือง แต่ก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง หลังจากสภาอนุมัติให้ตั้งกรรมาธิการ มีการเสนอชื่อในสภา จากนั้นคณะกรรมาธิการจะไปประชุมลงมติกันเอง เป็นการภายในว่าจะให้ใครมีตำแหน่งอะไร

มาถึงวันนี้ มีทั้งเสียงคัดค้านและเห็นด้วย โดยอ้างเหตุต่างๆ เช่น บอกว่าตำแหน่งประธานเป็นโควต้าของพรรคแกนนำรัฐบาล ฯลฯ

ในระบอบประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็น แต่หลักการแนวปฏิบัติต่างๆ ที่อ้างมาประกอบความเห็น ควรมีอยู่จริง ไม่ใช่อ้างกันเรื่อยเปื่อย สร้างความสับสนให้สังคม

สภาหยุดไป 5-6 ปี กฎกติกาต่างๆ หลงเลือนไปมาก ที่แกล้งลักไก่หลงเลือนก็คงจะมี

ต้องรื้อฟื้น และหยิบมาใช้ด้วยความแม่นยำเป็นธรรม เพื่อสร้างความเชื่อถือเชื่อมั่นให้ประชาชนที่ติดตามดูอยู่

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image