คอลัมน์หน้า 3 : กรณี รัฐธรรมนูญ บ่วงพันคอ‘รัฐบาล’ วาระ ทางการเมือง

ทั้งๆ ที่ในเบื้องต้นพรรคพลังประชารัฐระบุ ไม่ว่า นายวิรัช รัตนเศรษฐ ไม่ว่า นายวิเชียร ชวลิต ล้วนสามารถนั่งในตำแหน่งประธานกรรมาธิการการศึกษากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้

แต่พลันที่พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันส่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

น้ำเสียงของพรรคพลังประชารัฐแม้ 1 จะยืนยันความชอบธรรมพรรคที่เป็นแกนกลางของรัฐบาล แต่ 1 เริ่มมีการเอ่ยถึงนามของ นายสุชาติ ตันเจริญ ขึ้นมา

เท่ากับจะเอา นายสุชาติ ตันเจริญ มาสู้กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

Advertisement

ไม่ว่าจะพิจารณาจากด้านของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะพิจารณาจากด้านของพรรคพลังประชารัฐล้วนชี้ให้เห็นว่าต้องสู้กันเอง

เพราะแม้สัดส่วนฝ่ายค้านจะมี 19 แต่จะไปสู้อะไรกับ 30 ของรัฐบาล

พลันที่มีความพยายามผลักรุน นายสุชาติ ตันเจริญ เข้ามาเป็นแคนดิเดต บรรยากาศการต่อสู้เพื่อชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรก็เด่นชัดขึ้น

Advertisement

จำเป็นต้องจับตา “กลยุทธ์” ของ “ประชาธิปัตย์”

การผลักดัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาในตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการครั้งนี้ก็ไม่แตกต่างไปจากการผลักดัน นายชวน หลีกภัย ขึ้นเป็นประธานสภา

เบื้องต้น นายสุชาติ ตันเจริญ อาจมั่นใจ

แต่พอมติของพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันนามของ นายชวน หลีกภัย ผลก็คือ นายสุชาติ ตันเจริญ ต้องประสบปัญหาทั้งในพรรคพลังประชารัฐและจากพรรคร่วมรัฐบาลอื่น

เพราะยากยิ่งที่จะมีบารมีเทียบกับ นายชวน หลีกภัย

มาหนนี้แม้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะอาวุโสน้อยกว่า นายสุชาติ ตันเจริญ แต่หากมองไปยังตำแหน่งและสถานะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เหนือกว่า

เหนือกว่าในฐานะที่เคยเป็น “นายกรัฐมนตรี”

ยิ่งกว่านั้น หากมองอย่างเปรียบเทียบระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ ระหว่าง นายสุชาติ ตันเจริญ กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

“ลักษณ์” และสายสัมพันธ์ต่อ “รัฐธรรมนูญ” ก็ต่างกัน

หากผลออกมาจากทางด้านของรัฐบาลว่าตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญคือ นายสุชาติ ตันเจริญ นั่นเท่ากับเป็นการประกาศ

ประกาศว่า “ล้มเหลว” แน่นอน

ความล้มเหลวในที่นี้ไม่จำเป็นต้องมองไกลไปยังการเกิดขึ้นของบทสรุปและแนวทางในการแก้ไขเพิ่มเติมอันเป็นเป้าหมาย

หากแม้กระทั่ง “คณะกรรมาธิการ” ก็ไม่สามารถเกิดขึ้น

เพราะไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ล้วนไม่เคยมีความคิดที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีก

เนื่องจาก “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา” มิใช่หรือ

ตรงกันข้าม หากเปิดทางให้เกิดคณะกรรมาธิการ และไว้วางใจให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งอยู่ในฐานะประธานยังพอจะสร้างความหวังในเรื่องการแก้ไขบ้าง

แม้จะเป็นไปอย่างปะผุอย่างแกนๆ ก็ตาม

กรณีของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทันทีที่เป็นเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ ทันทีที่รัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐยอมรับและบรรจุเป็น 1 ในนโยบาย “เร่งด่วน”

นี่คือ “บ่วง” ที่พันอยู่รอบคอ

รัฐธรรมนูญจะกลายเป็นปัจจัย กลายเป็นประเด็นคอยตรวจสอบรัฐบาล ตรวจสอบพรรคพลังประชารัฐ ตรวจสอบพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะดำเนินการอย่างไร

ทำหรือไม่ทำ ก็เหนื่อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image