เบอร์ลิน : กำแพงที่แบ่งโลก! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

ผมเขียนบทความนี้ในช่วงค่ำวันที่ 9 พฤศจิกายน 2019… เป็นค่ำคืนที่ทำให้อดนึกถึงเมื่อ 30 ปีที่แล้วไม่ได้ เป็นค่ำคืนที่คนหนุ่มสาวเยอรมันเป็นจำนวนมากออกมาชุมนุมที่กำแพงเบอร์ลิน ในวันนี้ระบอบการปกครองของเยอรมันตะวันออกล้มลง และมีการประกาศเปิดการข้ามแนวแบ่งตะวันตก-ตะวันออกที่เบอร์ลินอย่างเสรี… คำประกาศเช่นนี้บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการเมืองโลกที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น

เหตุการณ์วันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 จึงเป็นปรากฏการณ์สำคัญของการเมืองระหว่างประเทศ ที่ผลกระทบไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับการเมืองยุโรปเท่านั้น เพราะเหตุว่าประเด็นการรวมชาติของเยอรมนีที่ตกค้างมาตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เป็นประเด็นที่หลายคน แทบไม่เชื่อว่าจะเป็นความจริงในยุคสมัยของตัว และหากจะมีโอกาสเป็นจริงได้ ก็คงจะต้องทอดเวลาออกไปอีกระยะพอสมควร เนื่องจากเยอรมนีถูกแบ่งออกออกเป็นสี่ส่วนในปี 1945 อันเป็นผลจากการแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

การแบ่งเช่นนี้เกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เบื้องต้น 3 ประการ คือ เพื่อดำเนินการปลดอาวุธของกองทัพเยอรมัน (Demilitarization) เพื่อดำเนินกระบวนการทำลายอิทธิพลของนาซี (Denazification) และการดำเนินการในสองส่วนนี้สุดท้ายแล้ว เป็นความหวังว่าจะก่อให้เกิดปัจจัยที่สามคือ กระบวนการสร้างประชาธิปไตยในเยอรมนีหลังสงคราม (Democratization)

เมื่อเยอรมนีในยุคหลังสงครามอยู่ในสถานะ “รัฐผู้แพ้สงคราม” จึงอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐมหาอำนาจสี่ฝ่าย คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียตรัสเซีย แต่หากแบ่งตามชุดของอุดมการณ์แล้ว ความเป็นสี่ฝ่ายนี้ สามารถแบ่งเป็น 2 ค่ายทางการเมืองคือ ฝ่ายตะวันตก และฝ่ายตะวันออก และในช่วงหลังสงครามโลกนั้น การแบ่งโลกออกเป็นสองค่ายทางอุดมการณ์การเมืองและเศรษฐกิจ ตลอดรวมถึงการแข่งขันระหว่างสองค่ายเช่นนี้ได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญของการก่อตัวของระเบียบระหว่างประเทศใหม่

Advertisement

แต่ระเบียบใหม่นี้ถูกจำกัดจากการมีอาวุธนิวเคลียร์ของรัฐมหาอำนาจทั้งสอง กล่าวคือ สหรัฐมีอาวุธนิวเคลียร์ในปี 1945 และรัสเซียมีในปี 1949 ซึ่งการมีอาวุธนิวเคลียร์เช่นนี้ทำให้รัฐมหาอำนาจทั้งสองไม่สามารถทำสงครามระหว่างกันได้ในแบบเดิม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่เพียงสงครามโลกครั้งที่ 3 เท่านั้น หากแต่อาจจะกลายเป็น “สงครามนิวเคลียร์ล้างโลก” ได้ด้วย

การแข่งขันที่เกิดขึ้นระหว่าง “รัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์” ทั้งสอง ส่งผลโดยตรงให้เกิดสภาวะในการเมืองระหว่างประเทศที่ถูกเรียกว่า “สงครามเย็น” (The Cold War) และสงครามนี้มีนัยหมายถึง ความขัดแย้งระหว่างค่ายตะวันตก-ตะวันออก (East-West Conflict)

ผลของการต่อสู้และแข่งขันทางการเมืองดังกล่าว ทำให้เยอรมนีถูกแยกเป็นสองส่วนคือ เยอรมันตะวันตกและเยอรมันตะวันออก และมากกว่านั้น เบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศก็ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนเช่นกัน คือ เบอร์ลินตะวันตก และเบอร์ลินตะวันออก

การแบ่งเบอร์ลินออกเป็นสอง และการแบ่งเยอรมนีออกเป็นสอง กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเมืองระหว่างประเทศในยุคสงครามเย็น และไม่แตกต่างกับในเอเชียคือ การแบ่งเกาหลีออกเป็นสองส่วน และแบ่งเวียดนามเป็นสองเช่นกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกของสงครามเย็นที่มีการแบ่งพื้นที่เป็นสองระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออกนั้น การแบ่งเมืองของเบอร์ลินมีนัยกับความเป็นไปของโลกในยุคสงครามเย็นอย่างมาก จนอาจกล่าวได้ว่า เบอร์ลินเป็นทั้งภาพสะท้อนของปัญหา และขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในศูนย์กลางของความขัดแย้งด้วย หรืออาจเรียกสถานะของเบอร์ลินในทางภูมิรัฐศาสตร์ว่าเป็น “เมืองที่ถูกแบ่งแยกในประเทศที่ถูกแบ่งแยก” (divided city within a divided nation) และเป็นเมืองเดียวในเวทีโลกที่มีลักษฌะทางการเมืองเช่นนี้

บททดสอบแรกเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 1948 เมื่อเบอร์ลินถูกปิดล้อม (The Berlin Blockade) การปิดเมืองเช่นนี้คือการทดลองวัดขีดความสามารถของฝ่ายตะวันตกในการคุ้มครองทั้งเบอร์ลินตะวันตกและเยอรมันตะวันตก และการปิดล้อมยาวจนถึงเดือนพฤษภาคม 1949 ผลเช่นนี้ทำให้สถานะของ “ปัญหาเยอรมัน” (The German Question) กลายเป็นประเด็นสำคัญของโลกสงครามเย็น

ในขณะเดียวกันนั้น ผลจากการแบ่งเยอรมนีออกเป็นสองส่วน ทำให้คนจากฝั่งตะวันออกตัดสินใจหนีออกจากประเทศ และคนที่หนีออกมีเป็นจำนวนมาก จนผู้นำรัสเซียตัดสินใจที่หยุดการหนีของผู้คนออกจากฝั่งตะวันออก แล้วในวันที่ 13 สิงหาคม 1961 แนวลวดหนามก็เริ่มถูกจัดวางเพื่อแบ่งเบอร์ลินระหว่างเขตของตะวันตกกับส่วนของรัสเซีย และต่อมาก็ปรับเป็นแท่งคอนกรีต และยกระดับขึ้นอีกเป็นแนวกำแพงที่แข็งแรงดังเช่นที่เห็นในภาพสื่อ การเริ่มสร้างแนวกีดขวางจนกลายเป็นกำแพงในปี 1961นั้น ทำให้เบอร์ลินกลายเป็นจุดวิกฤตของโลกอีกครั้ง (หรือที่เรียกว่า “The Berlin Crisis 1961”)

ดังนั้นเพื่อยืนยันถึงพันธกรณีทางด้านความมั่นคง และแสดงให้เห็นถึงการให้ความสําคัญของผู้นำสหรัฐต่อปัญหาเยอรมัน ประธานาธิบดีเคนเนดี้เดินทางเยือนเบอร์ลินในเดือนมิถุนายน 1963 และแสดงสุนทรพจน์ที่กำแพงเบอร์ลินท่ามกลางประชาชนชาวเยอรมันเป็นจำนวนมากว่า “ในฐานะเสรีชน ข้าพเจ้าภูมิใจในคำว่า ข้าพเจ้าเป็นชาวเบอร์ลิน”… คำพูดนี้กลายเป็นวลีทองของยุคสงครามเย็นทันที

กำแพงเบอร์ลินประสบความสำเร็จในการกีดขวางการหลบหนีของผู้คนออกจากฝั่งตะวันออกได้จริงอย่างที่ผู้นำรัสเซียคิด แม้ว่าจะไม่สามารถปิดกั้นได้ทั้งหมดก็ตาม แน่นอนว่ามีผู้ที่ตัดสินหลบหนีเพื่อแสวงหาเสรีภาพหลายคนที่ทิ้งชีวิตไว้ที่กำแพงนี้ ในปีแรกของการมีกำแพงนั้น มีผู้เสียชีวิตถูกยิงเสียชีวิตที่แนวกำแพงมากถึง 41 คน

ในช่วงกลางทศวรรษ 1960 เศรษฐกิจของเยอรมันตะวันออกขยับตัวดีขึ้น การหลบหนีของผู้คนจึงเริ่มลดลง เป็นที่ยอมรับกันว่า มาตรฐานการครองชีพในเบอร์ลินตะวันออกนั้น ถือว่าดีที่สุดในยุโรปตะวันออก ปัญหาเบอร์ลินจึงค่อยๆ ลดความตึงเครียดลง แต่กำแพงเบอร์ลินยังคงทำหน้าที่สำคัญในสงครามเย็นในการแบ่งโลกเป็นสองส่วนไม่ต่างจากเดิม จนกระทั่งในที่สุดระบอบคอมมิวนิสต์ในเยอรมันตะวันออกเริ่มประสบความล้มเหลวในทางเศรษฐกิจ และผู้คนเริ่มหนีผ่านฮังการีและออสเตรียเพื่อมาหางานในเยอรมันตะวันตกเป็นจำนวนมากในตอนกลางปี 1989 ต่อมาระบอบดังกล่าวเดินมาถึงจุดสุดท้ายและล้มลงในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 อันนำไปสู่การผ่านแดนอย่างเสรีที่กำแพงเบอร์ลิน… กำแพงเบอร์ลินหมดภารกิจแล้ว

ผมปิดต้นฉบับในเช้าวันที่ 10 พฤศจิกายน… เช้าวันนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เกิดปรากฎการณ์สำคัญคือ จุดผ่านแดนที่เบอร์ลินเปิดอย่างเสรีแล้ว ชาวเยอรมันเป็นจำนวนมากเดิมข้ามโดยไม่มีการตรวจตรา และสำหรับคนจากฝั่งตะวันออกแล้ว พวกเขาข้ามแดนอย่างเสรีโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกทหารรักษาการยิงเสียชีวิต… ปัญหาเยอรมันที่ตกค้างจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วยการรวมชาติ เช่นเดียวกับปัญหาของกำแพงเบอร์ลินก็จบลงด้วย และผลตามมาที่ใหญ่กว่านั้นคือ สงครามเย็นจบตามไปด้วยเช่นกัน

ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้การเมืองโลกก้าวสู่ยุคใหม่ หรือที่เรียกในเบื้องต้นว่า “ยุคหลังสงครามเย็น” (The Post-Cold War Era) แต่สำหรับบางคนแล้ว นี่คือการเริ่มต้นของ “ระเบียบโลกใหม่” (The New World Order) แม้นว่าสุดท้ายแล้วระเบียบนี้อาจจะเป็น “การไร้ระเบียบ” มากกว่าที่เราคาดหวังไว้ (คือเป็น The New World Disorder)

แต่ทั้งหมดนี้ก็คือ การเริ่มต้นของการเมืองโลกชุดใหม่ที่เป็นยุคสมัยของพวกเราในปัจจุบันนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image