ลีลา การเมือง ลีลา หมาหวง รางหญ้า แก้ไข รัฐธรรมนูญ

ไม่ว่าการออกมาของ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ไม่ว่าการออกมาของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ไม่ว่าการออกมาของ นายวิรัช รัตนเศรษฐ

ยืนยันตำแหน่ง “ประธาน” กรรมาธิการแก้ไข “รัฐธรรมนูญ”

ต้องเป็นของพรรคเสียงข้างมากในรัฐบาล นอกจากให้ความหมายว่าต้องเป็นของพรรคพลังประชารัฐอันเป็นพรรคแกนนำในรัฐบาลแล้ว

ในอีกด้านหนึ่งจึงเท่ากับเป็นการปฏิเสธคนของพรรคร่วมรัฐบาลอื่น

Advertisement

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและแสดงออกผ่านมติพรรคพร้อมกับการเลือก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาเป็นกรรมาธิการ

และต้องการให้เป็น “ประธาน”

ความหมายจึงหมายความว่า พรรคพลังประชารัฐปฏิเสธ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปฏิเสธความต้องการของพรรคประชาธิปัตย์

ท่าทีของพรรคพลังประชารัฐอย่างนี้ “ได้” หรือว่า “เสีย”

คําถามแรกอันมาพร้อมกับคำตอบนี้ก็คือ คำถามถึงบทบาทของพรรคพลังประชารัฐเปรียบเทียบกับบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์

พรรคใดต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

นับแต่แรกที่พรรคพลังประชารัฐก่อรูปเป็นพรรคการเมืองไม่เคยมีท่าทีใดๆ อันแสดงว่าต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

มีแต่ยืนยัน “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

มีแต่ยืนยัน “รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี” โดยเฉพาะอย่างยิ่งมี 250 ส.ว.เป็นรากฐาน

การเสนอตัวเป็น “ประธาน” ของพรรคพลังประชารัฐจึงเท่ากับเป็น “ตลกร้าย”

เป็นความย้อนแย้งที่มีแต่สร้างภาพให้ชาวบ้านมีความโน้มเอียงที่จะรู้สึกว่า พรรคพลังประชารัฐต้องการไปสกัดขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

เบื้องต้นก็คือ ไปขัดขา “ประชาธิปัตย์”

พรรคพลังประชารัฐเองก็รู้อยู่เป็นอย่างดีว่า นโยบายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีรากฐานความเป็นมาอย่างไร

นี่เป็นข้อเสนอ “ประชาธิปัตย์” ไม่ใช่ “พลังประชารัฐ”

นี่เป็นเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการต่อรองและกำหนดเป็น “เงื่อนไข” ในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ

และเมื่อพรรคพลังประชารัฐ OK พรรคประชาธิปัตย์จึงตอบรับ

ตอบรับด้วยการขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน

นโยบายนี้จึงมาจาก “ประชาธิปัตย์” มิใช่ “พลังประชารัฐ”

การกีดกันพรรคประชาธิปัตย์ การกีดกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มิให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการจึงเข้ากับนิทานอีสปเรื่องหมาหวงรางหญ้า

จึงยิ่งหวง ก็จะยิ่งเป็นผลเสีย

หากมองตาม “กฎแห่งกรรม” นี่เป็นกรรมร่วม เป็นกรรมหมู่อันมาจากข้อตกลงร่วมระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์

โดยที่พรรคพลังประชารัฐ “จำยอม”

และเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมที่พรรคประชาธิปัตย์ทวงคำสัญญาและมุ่งมั่นจะเดินหน้า พรรคพลังประชารัฐกลับไม่สุกงอม กลับจะเป็นเอง

รู้ทั้งรู้ว่าเป็นเพื่ออะไรก็ยังยืนยันจะเป็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image