เดินหน้าชน : ปัญหา‘รธน.’

รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่ช่วงยกร่างและการทำประชามติ ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมีปัญหาภายหลังมีผลบังคับใช้และเห็นปัญหาในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

นักการเมืองและนักวิชาการจำนวนมาก ต่างรับรู้ถึงปัญหาและวิพากษ์วิจารณ์กันมาโดยตลอด

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็เคยชำแหละรัฐธรรมนูญ 2560 พร้อมระบุถึง 18 ปัญหาของรัฐธรรมนูญ

ใครที่บอกว่า ยังไม่เห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ลองไปค้นหาอ่านดู เผื่อว่าอาจจะเปลี่ยนใจ จากการขัดขวางมาเป็นการสนับสนุนให้มีการแก้ไข

Advertisement

ถ้าตัดอคติ ผลประโยชน์ส่วนตัว ก็จะเห็นความไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นกลไกที่ทำให้ คสช.สืบทอดอำนาจได้อย่างชอบธรรม

โดยปัญหาหลักๆ ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่พูดถึงกันมาก เช่น

คสช.แต่งตั้ง 250 คน ผ่านกรรมการสรรหา และ 5 ปีแรกให้ ส.ว.มีสิทธิโหวตร่วมกับ ส.ส.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี

การเลือกตั้งระบบสัดส่วนผสม ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ได้ทั้ง ส.ส.ระบบเขต และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

สูตรการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ขณะนี้หลายๆ คน ก็ยังมึนงง เพราะดูเหมือนจะซับซ้อนซ่อนเงื่อน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่สร้างปัญหาให้กับพรรคการเมือง คือการให้เอกสิทธิ์ ส.ส. โดยสามารถโหวตในสภาที่เป็นการสวนมติของพรรคที่สังกัดได้

แม้จะเป็นเรื่องที่ดี เป็นการคุ้มครอง ส.ส. ให้ตัดสินใจลงมติได้อย่างอิสระ ไม่ให้ใครมาครอบงำ แต่ก็เกิดคำถามว่า แล้วทำไมต้องให้ ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง ทำไมไม่ให้ ส.ส.อิสระ โดยไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง

หากพรรคมีมติให้ ส.ส.ที่โหวตสวนมติพรรคพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค ส.ส.ที่ถูกขับออกจากพรรคก็มีเวลา 30 วัน ที่จะหาพรรคสังกัดใหม่

พรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านก็กังวลกับเอกสิทธิ์ ส.ส. ต่างก็กลัวว่าอาจจะทำให้เกิด “ส.ส.งูเห่า” ภายในพรรค

บางพรรคการเมืองถึงขนาดจับ ส.ส.เซ็นชื่อในใบลาออกไว้ล่วงหน้า

พรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำ ก็กลัวปัญหา ส.ส.งูเห่าเช่นกัน โดยมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หรือวิปรัฐบาล ถึง 67 คน แยกเป็นคณะที่ปรึกษา 6 คน และกรรมการ 61 คน เพื่อทำหน้าที่ควบคุม ส.ส.ไม่ให้แตกแถว

โดยเรื่องเอกสิทธิ์ ส.ส.ที่ให้สิทธิโหวตสวนมติพรรคได้ทัน จะย้อนแย้งกับช่วงที่สมัครเป็นสมาชิกพรรค และเป็นตัวแทนของพรรคในการลงสมัครรับเลือกตั้ง

เพราะผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคใด หรืออาสาเป็นตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องศึกษานโยบายของพรรคนั้นแล้วว่าเป็นอย่างไร พฤติกรรมที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ตรงกับอุดมการณ์ของตัวเองหรือไม่

การสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคใด ก็เหมือนเป็นการยอมรับอุดมการณ์ของนโยบายของพรรคนั้นแล้ว หากภายหลังมีการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ชอบนโยบายที่เปลี่ยนไป ก็น่าจะถอยออกมาดีกว่าที่จะโหวตสวนมติพรรค

นอกจากนี้บางพรรคยังสนับสนุนเงินในการลงสมัครและใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง การโหวตสวนมติพรรคจึงทำให้ถูกครหา

การโหวตแหกมติพรรค ยังเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ หรือกติกาของพรรค โดยที่พรรคไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากตักเตือน และอาจจะขึ้นบัญชีดำไว้ไม่ให้เป็นตัวแทนพรรคในการลงสมัครรับเลือกตั้งสมัยต่อไป

ปัญหาเอกสิทธิ์ ส.ส.จึงถูกวิจารณ์ว่า เหมือนเป็นการเปิดช่องให้เกิด ส.ส.งูเห่า

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image