บัณฑิตครู ปัญหา ทางออก ผู้ผลิตผู้ใช้

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษาได้หยิบยกประเด็นที่ว่าด้วยการผลิตบัณฑิตครูมาถกเถียงกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจากกรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการผลิตครูของสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ผ่านมายังเป็นปัญหาและไม่ตอบโจทย์อย่างที่จะเป็น

การผลิตครูสำหรับบ้านเราอดีตที่ผ่านมาสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศภายใต้การบริหารจัดการของคณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิตซึ่งรูปแบบการผลิตจะพบว่าแต่ละสถาบันจะมีการกำหนดจำนวนผู้เข้ารับการศึกษาตามศักยภาพของตนเองที่สามารถดำเนินการได้ แต่ปัจจุบันการผลิตทุกสถาบันจะต้องสร้างหลักสูตรให้ได้มาตรฐานภายใต้การรับรองจากคุรุสภา

อย่างไรก็ตามถึงแม้คุรุสภาจะเข้ามามีบทบาทในการกำกับมาตรฐานของหลักสูตรแต่ในทางกลับกันพบว่าปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตของแต่ละมหาวิทยาลัยยังมีให้เห็นมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจำนวนที่ไม่สอดคล้องกับสถานศึกษาหรือโรงเรียนที่จะรองรับ

บัณฑิตผู้ที่ผ่านการศึกษาในวิชาชีพนี้ต่างมุ่งหวังว่าเมื่อสำเร็จออกมาแล้วตนเองจะได้เป็นหนึ่งในการสอบเพื่อบรรจุเข้ารับราชการแต่ด้วยอัตรารองรับที่จำกัดจึงเกิดปรากฏการณ์ให้บัณฑิตต้องว่างงานเป็นจำนวนมากซึ่งจากการว่างงานของบัณฑิตกลุ่มนี้ไม่สามารถประเมินถึงมูลค่าของการสูญเสียได้

Advertisement

หนึ่งในปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อบัณฑิตครูและดูเหมือนว่าโอกาสแห่งการตกงานจะมาเยือนในเร็ววันเมื่อมีกระแสข่าวว่าในปีการศึกษา 2562 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะไม่จัดสอบการแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยเนื่องจากรายชื่อคงค้างในบัญชีจากปีก่อนยังมีมากพอที่จะทยอยเรียกบรรจุได้ถึงปีการศึกษา 2563

จากประเด็นของข่าวดังกล่าวเท่ากับว่านิสิตนักศึกษา ที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ในปีการศึกษา 2562และปีการศึกษา 2563 ส่อโดนลอยแพและจะต้องไปสอบบรรจุในปีการศึกษา 2564 พร้อมกัน ซึ่งหากเป็นจริงจะทำให้บัณฑิตเหล่านี้ตกค้างกว่า 100,000 คน

ต่อกรณีนี้ผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตบัณฑิตครูในสถาบันอุดมศึกษาได้ออกมาแสดงทรรศนะเพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางแก้ไขในมิติที่หลากหลายซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่คณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยาได้กล่าวผ่านสื่อมวลชนตอนหนึ่งความว่า “การลอยแพนิสิตนักศึกษาที่เรียนครูโดยเฉพาะผู้สำเร็จในปีการศึกษา 2562 และ 2563 กว่า 70,000 คน ถือเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะ สพฐ.ได้อัตราเกษียณอายุราชการคืนกว่า 28,000 อัตรา”

Advertisement

พร้อมกันนั้นคณบดีท่านดังกล่าวยังกล่าวต่อไปว่า กรณีจะบรรจุผู้ขึ้นบัญชีไว้ถือเป็นเรื่องปกติและไม่น่าจะเกิน 10% ของอัตราเกษียณที่ได้คืนมาอีกทั้งการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ระหว่างดำเนินการและไม่ใช่ประเด็นปัญหาที่ส่งผลถึงจำนวนอัตรากำลังครูที่จะบรรจุใหม่

ด้วยกระแสข่าวที่ทำท่าว่าจะส่งผลให้เกิดการสูญเสียและกระทบกับผู้สำเร็จการการศึกษาวิชาชีพครูทำให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “ได้พูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เบื้องต้นโดยระบุแนวทางของ ศธ. ที่ต้องการเดินไปข้างหน้ามีความต้องการครูที่เข้ามาในระบบอย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้เกิดการผลิตครูล้นหรือผลิตเกินอย่างในอดีตที่ผ่านมาการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ต้องดูในภาพรวมจัดทำข้อมูลเพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง” (มติชน 21 ตุลาคม 2562 หน้า 21)

การผลิตบัณฑิตวิชาชาชีพครูนอกจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศจะเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการแล้วคุรุสภาถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาและรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานในวิชาชีพต่อกรณีกระแสข่าวดังกล่าว นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภาคงจะนิ่งเฉยไม่ได้จึงร่วมวงในการที่จะสะท้อนมุมมองและแสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะการเรียกร้องให้ สพฐ.และสถาบันการผลิตครูและคุรุสภาวางแผนผลิตครูให้สอดคล้องกับจำนวนการใช้

สาระสำคัญดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภากล่าวว่า “ในการดูแลแผนการผลิตคุรุสภาไม่ได้กำหนดจำนวนให้แต่คุรุสภาจะดูจากจำนวนที่ อว.รับรองในแต่ละสาขาแผนจึงเป็นอิสระของแต่ละมหาวิทยาลัย ขณะที่ สพฐ.มีตัวเลขอัตราเกษียณอยู่แล้วและสถาบันผู้ผลิตจะต้องนำตัวเลขดังกล่าวไปวิเคราะห์ว่าควรจะผลิตเท่าไรเรื่องนี้ตนคิดว่าสถาบันผลิตครูจะต้องคุยกันแต่ที่ผ่านมามหา วิทยาลัยมีอิสระ มหาวิทยาลัยใดมีศักยภาพเท่าไรก็ผลิตตามศักยภาพที่ตัวเองทำได้” (มติชน 24 ตุลาคม 2562 หน้า 21)

เมื่อกล่าวถึงการผลิตบัณฑิตครูในหลายปีที่ผ่านมาจะพบว่าปัญหายังอยู่ควบคู่กับสังคมการศึกษามาอย่างต่อเนื่องซึ่งผู้ผลิตและผู้ใช้ตลอดจนนักวิชาการหรือผู้บริหารการศึกษาต่างทราบดีว่าต้นตอหรือมูลเหตุแห่งปัญหาคืออะไรแต่ด้วยอาจจะต่างคนต่างคิดจึงยังเกาไม่ถูกที่คันแห่งปัญหาดังกล่าว

การผลิตบัณฑิตว่าวิชาชีพครูในแต่ละสาขาวิชามีผู้สะท้อนให้เห็นในเชิงประจักษ์ว่าการเปิดสอนทำได้ง่ายพอเปิดง่ายก็รับง่ายทำให้การกำหนดจำนวนไม่สอดคล้องกับผู้ใช้ควบคุมการผลิตได้ยากที่ผ่านมาพบว่ามีตัวเลขที่ผลิตออกมาปีละ 40,000-50,000 คน แต่การใช้มีเพียงปีละประมาณ 20,000 คนเท่านั้น จากข้อมูลดังกล่าวจะมีส่วนเกินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีเมื่อมีการรับสมัครสอบบรรจุครูผู้ช่วยมีผู้สนใจนับแสนราย

ปัญหาดังกล่าวหนึ่งในองค์กรที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขและหาทางออกคงหนีไม่พ้นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในฐานะเป็นผู้กำกับมหาวิทยาลัย และเมื่อเกิดกระแสข่าวเกี่ยวกับผลกระทบของบัณฑิตครู นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ให้โจทย์กับมหาวิทยาลัย 2 เรื่องคือ การเตรียม

ครูในศตวรรษที่ 21 ที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศเพราะครูเป็นกลไกสำคัญในการสร้างคนและจำนวนการผลิตและความต้องการทั้งนี้ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ รมว.อว.ต้องมองในเชิงระบบซึ่งการผลิตครูในระบบปิดก็เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตามเมื่อสังคมตลอดจนผู้บริหารองค์กรที่เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้ช่องทางในการแก้ปัญหาและหาทางออกร่วมกันในมิติต่างๆ กลับปรากฏว่ามหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ในการผลิตครูยังไม่ออกมาแสดงทรรศนะถึงจุดยืนและแนวทางมากนัก แต่ส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันที่มีบทบาทในการผลิตบัณฑิตวิชาชีพครูออกมารับใช้สังคมมาอย่างยาวนานกลับขานรับและออกมาสะท้อนมุมมองเพื่อหาทางออกร่วมกัน

ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น นายเรืองเดช วงศ์หล้า ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ กล่าวว่า ทปอ.มรภ.ได้จัดทำข้อเสนอในการแก้ปัญหาการผลิตครูให้ รมว.อว.พิจารณา 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.การจัดทำกลไกการผลิตครูในระบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน 2.ในการผลิตครูในอนาคตต้องเน้นที่สมรรถนะความเป็นครูในศตวรรษที่ 21

และ 3.เสนอให้คัดเลือกโรงเรียนร่วมผลิตครูจำนวน 5,000 โรง โดยให้มหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยพัฒนาโรงเรียน พัฒนาครู และพัฒนาการเรียนการสอน

ที่น่าสนใจเมื่อกล่าวถึงความอิสระในการการผลิตครูของมหาวิทยาลัยนั้นประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏได้ออกมายอมรับว่าที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีอิสระจนทำให้จำนวนบัณฑิตออกมาเกิน พร้อมกับเสนอว่า จากนี้ไปสถาบันฝ่ายผลิตที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ใช่แค่ มรภ.ต้องมาคุยกันให้ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยใดจะผลิตสาขาไหน จำนวนเท่าไร ขณะเดียว

กันต้องดูในเรื่องการมีงานทำสำหรับผู้ที่ไม่สามารถสอบบรรจุครูได้ต้องส่งเสริมความรู้และความสามารถที่จะไปประกอบวิชาชีพอื่นได้โดยมีวิชาชีพครูเป็นพื้นฐาน

อย่างไรก็ตามวันนี้คงถึงเวลาที่ทุกองค์กรซึ่งเกี่ยวข้องในการผลิตครูจะต้องหันหน้ามาพูดคุยซึ่งกันและกัน ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การตอบโจทย์และเกาให้ถูกที่คันแห่งปัญหาที่เป็นหลุมดำเกาะเกี่ยวกับแวดวงการศึกษามาอย่างยาวนาน

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image