เริ่มจากรากหญ้า สะเทือนยอดไม้ อาการไข้เศรษฐกิจ

เริ่มจากรากหญ้า สะเทือนยอดไม้ อาการไข้เศรษฐกิจ

เริ่มจากรากหญ้า สะเทือนยอดไม้ อาการไข้เศรษฐกิจ

เสียงบ่นของประชาชน “ชั้นล่าง” ในทางเศรษฐกิจ ดังระงมมาเป็นเวลาหลายปี

แต่กว่าที่ผลกระทบจากกำลังซื้อที่ค่อยๆ เริ่มหดหายไปของ “รากหญ้า” ทั้งหลายจะเริ่มปรากฏชัด

ผนวกเข้ากับความปรวนแปรของเศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศ

Advertisement

วันนี้ผลสะเทือนเริ่มไต่ไปถึงระดับ “ยอดไม้” หรือกิจการขนาดใหญ่

ซึ่งส่งเสียงร้องดังกว่ารากหญ้าทั้งหลาย

อันอาจทำให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ “รู้ตื่น” ขึ้นมาได้

Advertisement

ขณะนี้ ช่วงเวลาแห่งสัจจะปรากฏขึ้นแล้ว

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส รายงานผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สำหรับไตรมาสที่ 3 ว่า

ขณะนี้มีบริษัทที่ประกาศงบการเงินแล้วทั้งสิ้น 213 บริษัท คิดเป็นร้อยละ 47 ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์โดยรวม

ทั้งหมดมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 126,000 ล้านบาท

แต่เป็นกำไรที่ลดลงร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

และเป็นกำไรที่ลดลงร้อยละ 22.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว

เฉพาะภาคการผลิต กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มนี้ก็อ่อนตัวลงเช่นกัน

โดยลดลงร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

และลดลงถึงร้อยละ 34.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ไล่เรียงดูบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายเป็นรายตัว

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างหมายเลขหนึ่งของประเทศ

มีกำไรในไตรมาส 3 ของปีนี้ 6,204 ล้านบาท แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 35

ขณะที่งบกำไรขาดทุนรวม 9 เดือน กำไรรวมก็ลดลงจาก 34,280 ล้านบาท มาเหลือ 24,909 ล้านบาท

บริษัท ปตท. กิจการพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

มีกำไรในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ 20,254 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 33.2

ขณะที่กำไรสุทธิรวมในรอบ 9 เดือน คือ 75,504 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24.6

บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับต้นๆ ของประเทศ

มีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ 915 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 42.5

และกำไรรวม 9 เดือนที่ 3,533 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12

ล้วน “ขาดทุนกำไร” กันถ้วนหน้า

ลงจากยอดไม้กลับมาที่รากหญ้าอีกรอบ

ราคาพืชผลเกษตรที่เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็ยังไม่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น

ยกเว้นข้าวหอมมะลิ ที่มีพื้นที่เพาะปลูกครึ่งหนึ่งของข้าวทั้งหมด

จากตันละ 11,000 บาทต้นๆ ในปี 2560 เป็น 15,000 บาท เมื่อปีที่แล้ว

และ 16,000 บาทในปีนี้

ราคาอ้อยหน้าโรงงาน ลดลงจากตันละ 942 บาท เมื่อปี 2560 มาเหลือตันละ 763 บาท เมื่อปีที่แล้ว

และลดลงมาอีกเหลือตันละ 597 บาท ในปีนี้

ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เคยอยู่ในระดับ 6.25 บาท/กก.ในปี 2560 กระโดดขึ้นมาเป็น 7.96 บาท/กก.เมื่อปีที่แล้ว

และอ่อนตัวลงมาเหลือ กก.ละ 7.40 บาท ในปีนี้

ในภาวะที่รากหญ้า ไม่ว่าเกษตรหรือคนจนเมืองประสบภาวะฝืดเคืองเพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการลดลงของราคาสินค้าเกษตร

สำทับด้วยการชะลอตัวของกิจการขนาดใหญ่ ที่เผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลสะเทือนเข้ามาถึงเมืองไทย

รัฐบาลจะรับมือกับภาวะ “แซนด์วิช” ที่กระหนาบมาทั้งบนล่างนี้อย่างไร

ความหวังว่าการลงทุนขนาดใหญ่ในปี 2563 จะช่วยฉุดเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้น

แต่นั่นอาจจะเป็นเรื่องในอีก 5-6 ปีข้างหน้า

มาตรการ “แจกเงิน” เพื่อหวังจะเป็นหัวเชื้อกระตุ้นให้คนที่ยังมีเงินออม ควักกระเป๋าออกมาใช้จ่าย

เอาเข้าจริงแล้วกระตุ้นได้จริงมากน้อยแค่ไหน

และส่งผลอย่างไรไปถึงคนระดับล่าง-คนหาเช้ากินค่ำ ที่ไม่ได้มีกำลังจะออกมาใช้จ่ายเพิ่มเติมอย่างที่รัฐบาลอยากเห็น

เป็นโจทย์เฉพาะหน้าที่ยังท้าทายและน่ากังวล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image