ภูมิรัฐศาสตร์กับหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt,One Road-อี้ไต้อี้ลู่) : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ทางรถไฟตามโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางเชื่อมเมืองซีอานกับกรุงปราก

ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) แปลตรงๆ ตัวก็คือดินหรือโลกกับการเมือง คำว่าดินหรือโลกคือการศึกษาวิชาภูมิศาสตร์ (Geography) นั่นแหละ เมื่อบวกกับรัฐศาสตร์คือวิชาที่เกี่ยวกับรัฐ (state) ดังนั้นวิชาภูมิรัฐศาสตร์ก็คือวิชาที่เกี่ยวกับการศึกษาเกี่ยวกับผล
กระทบทางภูมิศาสตร์ที่มีต่อรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั่นเอง

หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road-อี้ไต้อี้ลู่) คือ นโยบายของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2556 เป็นแนวคิดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความสำคัญของการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการติดต่อสื่อสารในภูมิภาค ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

จากประวัติศาสตร์ของภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีนนั้นก็คือเส้นทางสายไหมเดิมซึ่งเป็นเส้นทางทางบกดั้งเดิมตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวนคือประมาณ 700 ปีที่แล้ว เป็นเส้นทางการค้าทางบกที่เชื่อมทวีปเอเชียกับยุโรปเข้าด้วยกัน (ทวีปเอเชียกับทวีปยุโรปเป็นผืนแผ่นดินแผ่นเดียวกันจึงเรียกว่ายูเรเซีย) ต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิง คือประมาณ 600 ปีที่แล้วก็เกิดมีเส้นทางสายไหมทางทะเลขึ้นอีกเส้นทางหนึ่งคือเส้นทางการค้าทางทะเลเชื่อมเอาทวีปเอเชียกับแอฟริกาด้วย

สาเหตุสำคัญของการเริ่มต้นโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีนนั้นก็คือการดิ้นรนของกลุ่มผู้ปกครองประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ปกครองประเทศจีนด้วยระบอบเผด็จการมาตั้งแต่ พ.ศ.2492 โดยถือเอาลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นอุดมการณ์ในการปกครองประเทศ ครั้นสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ละทิ้งอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ตั้งแต่ พ.ศ.2520 เป็นต้นมาภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งได้สร้างความชอบธรรมในการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ยังปกครองในระบอบเผด็จการอยู่ดังเดิมก็คือความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดของจีนที่ขยายตัวด้วยเลขสองตัวของร้อยละของจีดีพีร่วม 30 ปี แต่ในระยะหลังได้เกิดการถดถอยของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนลงอย่างมาก ดังนั้น จึงเกิดโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางขึ้นเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนด้วยการแสวงหาตลาดใหม่ตามเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเลในอดีตด้วยการพยายามสร้างถนนและทางรถไฟตลอดจนการสร้างท่าเรือและท่าอากาศยานภายในยูเรเซียและแอฟริกาเพื่อขนส่งสินค้าของจีนไปยังตลาดใหม่ๆ ได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นนั่นเอง

Advertisement
โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางตามแผนยุทธศาสตร์ของจีน

ตลอด 6 ปีที่ผ่านมาของโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีนที่ผ่านมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า โครงการนี้เป็นเครื่องมือในการส่งออกเทคโนโลยีสินค้าแรงงาน และทุนการเงิน เพื่อสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจของจีน

โครงการในหลายประเทศ จีนเป็นผู้กำหนดทุกอย่าง โครงการมีต้นทุนที่สูงเกินความเป็นจริง หลายโครงการไม่มีความจำเป็น ไม่มีประโยชน์ ทำให้ประเทศที่เป็นเจ้าของโครงการมีภาระหนี้สูงมากโดยมีเจ้าหนี้เป็นจีน ทำให้ประเทศศรีลังกาต้องยกท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ให้จีน เพื่อชดใช้หนี้ที่กู้มาสร้าง เพราะสร้างเสร็จแล้วไม่มีเรือมาใช้ ทำให้ไม่มีรายได้พอชำระหนี้และหลายประเทศในแอฟริกาถูกจีนยึดครองท่าอากาศยานและท่าเรือไปเนื่องจากไม่สามารถชำระหนี้ให้จีนได้ตามกำหนดหลายประเทศในเอเชีย และแอฟริกา ขอยกเลิกหรือชะลอโครงการออกไป เพราะจีนคิดค่าก่อสร้าง และดอกเบี้ยเงินกู้สูงมาก จนเกรงว่าจะเป็นภาระหนี้ที่เกินกำลังทำให้จีนต่องเปลี่ยนท่าทีโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพิ่งออกมาประกาศว่าโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางต้องมีราคาสมเหตุสมผล มีความกลมกลืน และเข้าถึงได้ อำนวยให้ทุกประเทศใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ตนมี ปรับตัวให้เหมาะกับบริบทของแต่ละประเทศ เพื่อบรรลุการพัฒนาแบบประสานกันและทางฝ่ายจีนต้องเคารพข้อบังคับและกฎหมายของประเทศต่างๆ และสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางอีกเรื่องหนึ่งคือ การยอมเปิดให้สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ของจีนเข้ามาให้เงินกู้เแก่โครงการลงทุนของหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางในประเทศต่างๆ ได้ จากเดิมที่ต้องใช้เงินกู้จากจีนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางก็ได้ประสบความสำเร็จที่สำคัญส่วนหนึ่งโดยเมื่อเร็วๆ นี้ด้วยความสำเร็จในการสร้างทางรถไฟสายใหม่ของจีนจากเมืองซีอาน ประเทศจีนไปยังกรุงปราก ประเทศสาธารณรัฐเช็ก เชื่อมเส้นทางเอเชียสู่ยุโรประยะทาง 11,483 กิโลเมตร ซึ่งรถไฟขบวนแรกบรรทุกได้ 42 ตู้คอนเทนเนอร์ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 18 วัน โดยผ่านประเทศคาซัคสถาน อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย ตุรกี บัลแกเรีย เซอร์เบีย ฮังการี และสโลวาเกีย ที่น่าสนใจก็คือขบวนรถไฟได้ผ่านอุโมงค์ลอดช่องแคบบอสพอรัส (Bosporus) ประเทศตุรกีได้สำเร็จ ประมาณการว่าเส้นทางสายใหม่นี้น่าจะบรรทุกสินค้าได้ 5 แสนตันใน พ.ศ.2564 และเพิ่มเป็น 1.75 ล้านตันในอีก 5 ปีถัดไป

Advertisement

โดยทางจีนประมาณการว่าในที่สุดทางรถไฟสายนี้จะสามารถบรรทุกสินค้าจากจีนมาสู่ยุโรปได้ปีละ 5 ล้านตันเลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image