ถ้าเด็กสมัยนั้นจะพูดถึงผู้ใหญ่สมัยนี้… : โดย กล้า สมุทวณิช

ข้อกล่าวหาอมตะนิรันดรอย่างหนึ่งระหว่างคนสองรุ่น คือคำขึ้นต้นติดปากของคนที่เกิดก่อนว่า “เด็กสมัยนี้…” นั้นแย่กว่า เลวกว่า โง่กว่า ขาดไร้สามัญสำนึกมากกว่าคนรุ่นในรุ่นของตน รูปประโยคนี้มีบันทึกมาตั้งแต่ยุคโสกราตีสเมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว

แน่นอนว่าการที่เรามีชีวิตอยู่กันจนถึงปัจจุบัน ได้อ่านคอลัมน์นี้จากหน้าหนังสือพิมพ์หรือจอแท็บเล็ตคงเป็นหลักฐานทนโท่ว่าอคตินี้ไม่น่าจะเป็นจริง เพราะถ้ามนุษย์รุ่นต่อๆ มานั้นแย่กว่าด้อยกว่าคนรุ่นก่อนจริงๆ มนุษย์คงถดถอยลงภายในสิบชั่วคน และอารยธรรมของมนุษยชาติน่าจะล่มสลายไปแล้วตั้งแต่เมื่อพันกว่าปีก่อน

แต่กระนั้นเราก็ยังเชื่อ และยังมีประโยคติดปากว่า “เด็กสมัยนี้นี่มัน…” กันอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อเรามีอายุเกินกว่า 35 ปีขึ้นไป

ถึงขนาดมีการศึกษาวิจัยกันอย่างจริงจัง ปรากฏผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานตาบาร์บารา (UCSB) ในวารสาร Science Advances เรื่อง “ปรากฏการณ์เด็กสมัยนี้ ….” (The kids these days effect) ได้ข้อสรุปว่า ความเชื่อหรือความรู้สึกว่าเด็กสมัยนี้นั้นแย่อย่างนั้นเลวอย่างนี้ จริงๆ แล้วเกิดจากอคติที่เกิดจากความคิดลวงกับความทรงจำที่บิดเบี้ยว และเอาอดีตไปเทียบกับปัจจุบันอย่างผิดพลาด

Advertisement

มีการทดลองชิ้นหนึ่งที่ให้กลุ่มตัวอย่างประเมินให้คะแนนการอ่านของตัวเอง ว่าคิดว่าตนเองนั้นเป็นคนอ่านหนังสือมากหรือไม่ ในระดับใด พร้อมกับให้คะแนนว่า คนรุ่นเดียวกันและคนรุ่นหลังด้วย ผลออกมาว่า ผู้ประเมินให้คะแนนตัวเองว่าอ่านหนังสือมากกว่ารุ่นเดียวกันหรือคนรุ่นปัจจุบันนั้นไม่ค่อยอ่านหนังสือ แต่เมื่อคำถามเปลี่ยนเป็นว่า เมื่อคิดถึงในสมัยก่อนตอนที่เขายังเป็นเด็ก ตัวเขาและคนรุ่นเดียวกันชอบอ่านหนังสือหรือไม่เพียงใดเมื่อเทียบกับเด็กๆ สมัยนี้ คำตอบจะออกมาเป็นว่า ผู้ให้ข้อมูลเชื่อว่าทั้งตัวเองและเพื่อนรุ่นเดียวกันสมัยก่อนนั้นอ่านหนังสือกันมากกว่าสมัยนี้ ซึ่งเห็นว่าคำตอบนั้นไม่สอดคล้องกับที่เขาเห็นว่าเดี๋ยวนี้ใครๆ (ไม่ว่าคนรุ่นเขาหรือรุ่นใคร) ก็ไม่อ่านหนังสือกันทั้งนั้น ยกเว้นตัวเขาเอง ผู้สนใจสามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการวิจัยนี้โดยละเอียดในเว็บไซต์ BBC ภาษาไทย เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562

จริงๆ รูปแบบความคิดที่ว่า “ตัวฉันนั้นดีกว่าคนอื่นโดยค่าเฉลี่ย” นั้นก็เป็นรูปแบบของอคติที่พบได้ง่ายในมนุษย์ทั้งหลาย เราอาจจะได้ยินคำว่า Dunning-Kruger Effect ที่ว่าด้วยอคติที่ทำให้คนส่วนใหญ่จะประเมินความสามารถของตัวเองผิดไป เช่น ถ้าให้ทำแบบสอบถามว่า คุณคิดว่าคุณขับรถดีกว่าหรือแย่กว่าคนขับรถส่วนใหญ่บนท้องถนน คนกว่า 90% จะประเมินว่าตัวเองขับรถดีกว่าคนอื่น

ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของความสามารถเท่านั้น แต่หมายถึงระดับทางจริยธรรม คุณธรรม และความซื่อสัตย์ด้วย ใช่แล้ว มนุษย์ทั่วไปก็มีความคิดว่าตัวเองนั้น “เป็นคนดี” กว่าคนอื่นโดยเฉลี่ยด้วยกันทั้งสิ้น เดวิด ดันนิ่ง (David Dunning) (คนเดียวกับที่ทำวิจัยกับจัสติน ครูเกอร์ (Justin Kruger) อันเป็นที่มาของ Dunning Kruger Effect ) ก็ได้ทำการทดลองร่วมกับนิกส์ เอปลีย์ (Nick Epley) ด้วยว่า ถ้าให้เงินนักศึกษากลุ่มทดลองคนละ 5 เหรียญ แล้วถามว่าตัวคุณจะบริจาคคืนให้การกุศลเท่าไร และคนอื่นในห้องจะบริจาคเงินลักษณะเดียวกันเท่าไร คนส่วนใหญ่จะบอกว่าตัวเองจะบริจาคเงินเฉลี่ย 2.44 เหรียญ ส่วนคนอื่นจะบริจาค 1.83 เหรียญ ซึ่งเมื่อมีการทดลองโดยให้เงินจริงๆ บริจาคกันจริงๆ ก็พบว่ายอดบริจาคเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 1.53 เหรียญเท่านั้น นั่นคือทุกคนคิดว่าตัวเอง “ใจบุญ” กว่าคนอื่นทั้งสิ้น

Advertisement

และสำหรับในเรื่องที่เกี่ยวกับศีลธรรมหรือจริยธรรมนั้น มนุษย์เราใช้ความรู้สึกของตัวเองในการตัดสินก่อน แล้วค่อยหาเหตุผลให้การตัดสินใจนั้นภายหลังทั้งสิ้น คล้ายกับการประเมินงานศิลปะ ดังนั้นถ้าเราต้องตอบตัวเองว่า ใครสักคนที่เห็นนี้เป็นคนดีหรือคนเลว เราจะตัดสินเขาไปก่อนแล้ว จากนั้นเหตุผลที่เราให้กับตัวเองหรือคนอื่น ก็จะเป็นสิ่งที่กลไก “ทนายความ” ในสมองของเราคัดเลือกออกมาสนับสนุน

หรืออาจจะพูดง่ายๆ ก็ได้ว่า กลไกการประเมินค่าทางศีลธรรมของเรานั้นเป็นเรื่องของอคติมากกว่าเหตุผล

ในทางพุทธศาสนาแยกอคติออกเป็นสี่ประการ คือ ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลงผิดหรือเขลา และภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว ส่วนในตะวันตกมีการศึกษาเรื่องอคตินี้ในทางจิตวิทยาจนสามารถจำแนกอคติต่างๆ ออกมาได้นับร้อยรูปแบบ บางเรื่องเป็นผลทางจิตวิทยาที่ฝังซ่อนอยู่ในระดับ DNA เลยด้วยซ้ำ เช่น เราจะเผลอไว้ใจคนที่มีส่วนร่วมบางอย่างกับเรา เช่น หน้าตาคล้ายกันหรือพูดสำเนียงเดียวกันโดยไม่รู้ตัว ฉันทาคตินี้เกิดจากที่สัญชาตญาณของเราเชื่อมโยงว่ามนุษย์คนนั้นมีสายพันธุ์เดียวกันหรืออยู่ “ฝูง” เดียวกับเรา ซึ่งเราจะปลอดภัยหรือพึ่งพาผู้มีความเหมือนคล้ายเราได้ หรืออคติบางอย่างก็เป็นผลจากกลไกการเอาตัวรอดที่ฝังมาแต่ในครั้งบรรพกาล ทำให้เราต้องตัดสินใจไปก่อนว่าจะชอบจะชังอะไรเพราะกลไกนั้น รวมถึงอคติซึ่งเป็นผลมาจากการปลูกฝังของสังคม

และอคติสำคัญประการหนึ่งของมนุษย์ก็คือ คนส่วนใหญ่มีความเชื่อที่ว่าตนเองนั้นมองโลกอย่างถูกต้องตรงไปตรงมา และทุกคนที่ได้รับข้อมูลหรือได้รับรู้เช่นเดียวกับเรานั้นจะต้องเห็นด้วยกับเรา ที่เขายังไม่เห็นด้วยนั้นก็เป็นเพราะเขายังไม่ได้รับข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่เพียงพอ หรือไม่ได้รู้ได้เห็นอะไรเท่าเรา ความคิดแบบนี้เรียกว่า “สัจนิยมสามัญ” (Naïve Realism) คือความเชื่อว่าความจริงนั้นบริสุทธิ์หนึ่งเดียวทุกคนควรจะเห็นตรงกัน

เรื่องของกลไกทางจิตและความคิดทั้งหลายที่เล่าไปนี้ยังมีเรื่องน่าสนใจอีกมากมาย ผู้สนใจอาจจะอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ The Happiness Hypothesis หรือ “วิทยาศาสตร์แห่งความสุข” ของ Jonathan Haidt แปลโดยคุณโตมร ศุขปรีชา ที่สำนักพิมพ์ Salt จัดพิมพ์

ความคิดเรื่อง “ความจริงหนึ่งเดียว” หรือ “สัจนิยมสามัญ” นี้สามารถนำมาอธิบายความคิดของ “ผู้ใหญ่” ในสังคมไทยได้หลายเรื่อง เช่น ประโยคที่ผู้ใหญ่เอาไว้ใช้สมน้ำหน้าหรือซ้ำเติมเด็กที่ทำอะไรผิดหรือพลาด นั่นคือประโยคที่ขึ้นต้นว่า “เห็นไหม บอกแล้วไม่ฟัง…” นั่นเป็นเพราะผู้พูดอาจจะเชื่อจริงๆ ก็ได้ว่าผู้ที่ล้มเหลวผิดพลาดนั้นไม่ได้ “ฟัง” ที่ตัวเองบอกจริงๆ เพราะถ้าได้ฟังก็คงจะไม่ทำอะไรผิดพลาดเช่นนั้นไป เพราะสิ่งที่ตนบอกให้ฟังนั้นคือความจริงหนึ่งเดียว

อีกเรื่องที่สะท้อนวิธีคิดแบบนี้ได้ชัด คือในการแก้ข่าวหรือโต้ตอบคำวิพากษ์วิจารณ์ของหน่วยราชการองค์กรของรัฐ มักจะขึ้นด้วยรูปประโยคว่า “ตามที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องของ …ฯลฯ… นั้น ขอเรียนว่า…” นั่นก็เพราะเขาเชื่อว่า ที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตนนั้นเกิดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ถ้าได้ข้อมูลครบถ้วนเขาไม่มีทางที่จะวิจารณ์พวกเราเช่นนั้น ดังนั้นจึงควรที่จะให้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์หรือไม่เห็นด้วยนั้น มาได้รับฟัง “ข้อมูลที่ถูกต้อง” จากพวกเรา จะประชาสัมพันธ์หรือเรียกมา “ปรับความเข้าใจ” หรือ “ปรับทัศนคติ” เป็นรายบุคคลก็ได้

รวมถึงวิธีการต่อสู้โต้ตอบในเชิงข้อมูลข่าวสารด้วยปฏิบัติการทางจิตวิทยาในโลกโซเชียลก็เช่นกัน การที่มีคนไม่ชอบหรือวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานสถาบันของเรานั้น วิธีแก้คือต้องเร่งเข้าไปให้ข้อมูลที่ว่า หน่วยงานของเรานั้นทำประโยชน์หรือมีความจำเป็นอย่างไร ประดังประเดเทข้อมูลเข้าไป เดี๋ยวถ้าเขาเห็นข้อมูลมากๆ เข้า เขาก็จะเชื่อเราเอง

ความคิดที่ว่า ความรู้ ความคิด และประสบการณ์ของเรานี้คือสิ่งที่ถูกต้องเป็นสัจธรรมโดยแท้นี่เอง ที่ทำให้บรรดา “ผู้ใหญ่” มีความเชื่อว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เด็กหรือคนรุ่นหลังก็ไม่มีวันที่จะเห็นผิดเห็นชอบได้ดีกว่าผู้ใหญ่ นั่นเพราะเด็กหรือคนอายุน้อยมีข้อจำกัดที่อย่างไรก็เอาชนะผู้ใหญ่หรือผู้เกิดมาก่อนไม่ได้ อันเป็นข้อจำกัดตามธรรมชาติ คือ “ประสบการณ์” ที่เพียงแค่เกิดออกมาจากท้องแม่นานกว่า หายใจอยู่ได้ไม่ตายก่อนวัย นั่นก็จะมีความรู้ความเข้าใจในโลกมากกว่าคนที่เกิดทีหลัง และนั่นคือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องหนึ่งเดียวด้วย

ก็ไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นผู้ใหญ่บางคน เวลาเถียงแล้วจนมุมด้วยข้อมูลหรือตรรกะความคิด จะใช้ท่าไม้ตาย “ข้าอาบน้ำร้อนมาก่อน…” เพื่อตัดจบแบบไม่ต้องให้เหตุผลไหนใดอื่น

สงครามระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ คนเกิดก่อนและคนเกิดหลังนี้ อาจจะเป็นการต่อสู้ที่ขับเคี่ยวยาวนานมานานหลายยุคหลายสมัย ตราบเท่าที่คนเกิดก่อนยังมีอคติว่าด้วยความถูกต้อง และความเชื่อว่า “เด็กสมัยนี้….” สู้คนในรุ่นของตนเองไม่ได้

ในนวนิยายอมตะของประเทศอย่าง “ปีศาจ” นั้นจำลองการต่อสู้ของคนสองรุ่นนี้ไว้เป็นฉากที่น่าจดจำ และเป็นที่รู้จักกล่าวถึงมากที่สุดฉากหนึ่งในวรรณกรรมไทย คือ งานเลี้ยงอาหารค่ำของท่านเจ้าคุณพ่อของรัชนี เพื่อที่จะเชือดเฉือนประจาน สาย สีมา เพื่อให้ได้รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ

ประโยคตอบของสาย สีมา นั้น หลายต่อหลายคนถึงกับท่องได้ “…ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกหลอนคนที่อยู่โลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้ ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะเขาอยู่ยงคงกระพันยิ่งกว่าอาคิลลิสหรือซิกฟริด เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างเป็นการชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป…”

จริงของสาย สีมา ที่ว่า “ปีศาจ” แห่งกาลเวลานั้นได้รับกำบังจากเกราะแห่งกาลเวลา และความได้เปรียบของคนรุ่นเก่าเจ้าคุณคือการเกิดมาก่อนนั้น มันคือจุดอ่อนในตัวว่าโดยธรรมชาติแล้วผู้เกิดก่อนก็ควรจะตายก่อน แต่กระนั้น แม้จะรู้ว่าเอาชนะไม่ได้ แต่ฝ่ายที่ต่อต้านปีศาจนั้นก็กำลังจะโจมตีอย่างสุดกำลัง เพื่อทำลายปีศาจตัวใหญ่ที่น่ากลัวที่สุด เขาพร้อมทำลายแม้แต่อนาคตของลูกหลาน ด้วยเชื่อว่าจะต้องเอาเจ้าปีศาจนี้ลงให้ได้ก่อน จากนั้นจะเหลือจะหลงอะไรไว้ ก็ค่อยให้คนในรุ่นนั้นรับไปเท่าที่มีทั้งดีร้าย

เราจึงไม่รู้หรอกว่า ประเทศชาติที่จะเหลือไว้ให้ลูกหลานในอนาคตหลังสงครามปีศาจครั้งใหญ่นี้จะเป็นอย่างไร แต่ก็เชื่ออย่างหนึ่งว่า ผู้คนหนุ่มสาวในยุคสมัยหน้า จะกล่าวต่อเด็กๆ ของพวกเขาว่า “ที่เราต้องเป็นเช่นนี้ในวันนี้ … ก็เพราะผู้ใหญ่สมัยนั้น….”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image