อนาคตฉากใหม่ อนาคตอนาคตใหม่ อนาคตสังคมไทย

อนาคตฉากใหม่ อนาคตอนาคตใหม่ อนาคตสังคมไทย

สมมุติว่า “ข่าวลือ” ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ว่าด้วยการยุบพรรคอนาคตใหม่

ไม่เป็นความจริง

สถานการณ์ทางการเมืองและสังคมไทยคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากนัก

Advertisement

ประเด็นอยู่ตรงที่ หากข่าวลือเป็นจริงขึ้นมาต่างหาก

อะไรจะเกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่ และสังคมไทย

ในความรู้สึกของ “กลุ่มผู้นำ” ตามขนบเดิมในสังคมไทย

Advertisement

การผุดเกิดขึ้นของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในปี 2562 ไม่ผิดอะไรกันกับการขยายบารมีอย่างเหลือล้นของ ทักษิณ ชินวัตร หลังการเลือกตั้ง 2547

เพราะฉะนั้นเพื่อป้องกันมิให้ “ภัยคุกคาม” -ที่ไม่อาจประเมินได้ว่าจะนำมาซึ่งอะไรต่อไป-ขยายตัวไปมากกว่านี้

กระบวนการ “เตะตัดขา” จึงปรากฏให้เห็นเป็นระยะ

ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ก็เข้าสภาไม่ได้

พรรคที่เพิ่งถือกำเนิดใหม่มีคดีความนับสิบคดี

ในจำนวนนี้มีคดีที่เกี่ยวพันกับคุณสมบัติของธนาธรในฐานะหัวหน้าพรรค

ซึ่งถ้ามีการตีความด้วย “อภินิหารทางกฎหมาย” ก็อาจนำไปสู่การ “ยุบพรรค” อย่างที่ปรากฏข่าวลือหนาหู

ปัญหาคือ แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป

ในส่วนของพรรคอนาคตใหม่

แม้จะมีการจัดตั้ง “พรรคสำรอง” รอรับเอาไว้

แต่ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้หากถูกยุบพรรค ก็คืออาการ “แพแตก”

และการถือโอกาสแยกตัวของ ส.ส.และสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่ง

ซึ่งปรากฏร่องรอยมาแล้วก่อนหน้านี้

คำถามคือ ต่อให้มีการแตกตัวกระจายตัวกันออกไป ฐานคะแนนจำนวน 6.3 ล้านเสียงจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จะสั่นคลอนไปด้วยหรือไม่

เป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ชัดเจน จนกว่าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่จะมาถึง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับพรรคเกิดใหม่ที่โตเร็วเกินความคาดหมาย การ “สกัดแก่น” เพื่อหาเนื้อแท้ เฟ้นตัวผู้ร่วมอุดมการณ์ที่แท้จริง พิสูจน์ความมั่นคงของจิตใจของผู้ร่วมเดินทาง

อาจเป็นสิ่งจำเป็น

หรืออาจจะดียิ่งกว่าปล่อยให้พรรคเติบโตต่อไปแบบ “บวมฟ่าม” ขาดพลังขับเคลื่อนในประเด็นทางสังคมที่ต้องการ

อันเป็นจุดแข็งและจุดขายของพรรค

ประเด็นต่อมา หากการยุบพรรคเป็นไปตามข่าวลือ

ปฏิกิริยาทางสังคม โดยเฉพาะจากกลุ่ม “แฟนพันธุ์แท้” ของอนาคตใหม่ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ติดยึดกับค่านิยมหรือความผูกพันเดิม

จะออกมาในทางใด

ที่ประเมินได้แน่นอนก็คือ ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทุกชนิด-อันเป็นสนามรบที่อนาคตใหม่ยึดครองและได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ มาตลอด-จะร้อนระอุถึงขั้นปรอทแตก

คำถามก็คือ แล้วที่ประเมินยากกว่าคือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนั้นจะล้นทะลักออกมาจากโลกเสมือนสู่โลกจริงมากน้อยเพียงใด

จะออกมาแบบสงบเรียบร้อย สะสมพลังรอการเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่ฐานคะแนนเสียงเดิมจะเพิ่มเติมมาด้วยฐานคนรุ่นใหม่อีกนับล้าน

หรือจะปะทุออกมาแบบ “ฮ่องกง” ม็อบที่เกิดจากการรวมตัวกันของเครื่องมือและวิธีการสื่อสารของโลกใหม่และคนรุ่นใหม่

แต่เหมือน “ผู้กุมอำนาจ” จะประเมินความเป็นไปได้ของแนวทางหลังนี้เอาไว้ต่ำอย่างยิ่ง

ไม่เช่นนั้นคงไม่เลือกที่จะเสี่ยงด้วยการเล่นเกมยุบพรรค

อย่างไรก็ดี ถึงมีการยุบพรรคก็ไม่ใช่จุดจบ

แต่จะเป็นฉากเริ่มต้นของการเปลี่ยนสนามรบและความขัดแย้งที่จะยิ่งทวีอุณหภูมิขึ้น

เพราะด้านหนึ่ง อนาคตใหม่และผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันที่ประกาศว่า “อยู่ไม่เป็น” จะไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนและหลักการที่ชูธงขึ้นมา

นั่นย่อมเรียกให้ฝ่ายครองอำนาจ จะต้อง “จัดการ” ผู้ที่กล้าลุกขึ้นมาท้าทายนี้ด้วยมาตรการที่เด็ดขาดและรุนแรงกว่าเดิม

ซึ่งจะยิ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องตามมาจากอีกฝ่าย

กลายเป็นสงครามอุดมการณ์ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image