ทรัมป์กับโมดีกลัวจีน : วีรพงษ์ รามางกูร

ในการประชุมสุดยอดประชาคมอาเซียน 10 ประเทศ พร้อมๆ กับเชิญประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเงินอีก 6 ประเทศ อันได้แก่ อเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ประชาคมยุโรปและอินเดีย

ปรากฏว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาไม่มา ส่งข้าราชการระดับอธิบดีมาแทน สมาชิกอาเซียน 7 ประเทศไม่ยอมคุยด้วย เหลือเพียงประเทศไทยเจ้าภาพ ลาวซึ่งทำหน้าที่ติดต่ออเมริกากับเวียดนาม ซึ่งต้องรับฆ้อนเพื่อเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนในกาลต่อไป

การเดินออกจากที่ประชุมของประมุขรัฐบาลสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศเป็นการกระทำที่ถูกแล้ว เป็นการตบหน้าประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนแต่ก่อนแล้ว ดีที่ยังไม่มีคนเดินขบวนประท้วงชูป้าย Yankee go home เหมือนครั้งสงครามเย็น

ไม่ใช่โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เห็นความสำคัญของการประชุมสุดยอดประชาคมอาเซียน แต่รู้ว่าในการประชุมนี้ประเทศจีนน่าจะเป็น “พระเอก” เพราะจีนมีอะไรจะให้กับประเทศอาเซียนมากกว่าอเมริกา “ผู้ดีตกยาก” ที่ไม่มีอะไรจะให้ มีแต่จะเอา จะปิดประเทศ สวนทางกับการประชุมอาเซียนที่อยู่ในทิศทางเปิดตลาดให้เสรียิ่งขึ้น

Advertisement

อเมริกาถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสนธิสัญญาการเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก หรือ TPP และไม่เป็นคู่สัญญากับอาเซียนในกรอบ RCEP หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership บรรยากาศก็ดูเหมือนว่าไม่มีประเทศใดสนใจการไม่มาของโดนัลด์ ทรัมป์ “เจ้าพ่อต่อต้านการค้าเสรี” ในระยะยาวคนอเมริกันจะรู้สึกขายหน้าที่มีผู้นำประเทศอย่างโดนัลด์ ทรัมป์

การไม่เดินทางมาร่วมประชุมทวิภาคีกับประชาคมอาเซียน ไม่มีใครทราบจริงๆ ว่ามาจากสาเหตุอะไรสำหรับคนบ้าๆ บ้อๆ อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ แต่น่าจะด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรกต้องการมีพื้นที่ในหน้าสื่อทั่วโลก ประการที่ 2 คงจะกลัวที่จะพบ ลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ความไม่มีวุฒิภาวะของทรัมป์เมื่อเทียบกับผู้นำจีนก็จะทำให้ตนเสียเปรียบ

ประการสุดท้าย อเมริกาไม่มีอะไรจะเจรจากับอาเซียนเพราะประเด็นที่จะเจรจาไม่มี จากนโยบายของตนที่เป็นผู้กำหนดฝ่ายเดียว อีกทั้งตนปฏิเสธการเจรจาในรูปพหุภาคี สู้ไม่มาดีกว่า ไม่จำเป็นต้องรักษามารยาททางการทูต เพราะตนมันนักเลงแห่งเกาะแมนฮัตตัน ไม่เวสต์ไซด์ก็อีสต์ไซด์ ไม่มีมารยาทอยู่แล้ว

Advertisement

การไม่มาของ โดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะทำให้งานของหน่วยรักษาความปลอดภัยเบาลง เพราะประธานาธิบดีอเมริกาเขาไม่เชื่อใจใคร เขาต้องเอาหน่วยรักษาความปลอดภัยหลายร้อยนายมาเอง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และหนักสำหรับฝ่ายเรา เมื่อไม่มาก็ดีแล้วที่จะเชิญอาเซียนไปประชุมกับตนที่อเมริกา แต่ก็ยังไม่ควรตอบรับ

ส่วนนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี มาร่วมประชุมด้วยแต่กลัว ไม่สู้จีนและอาเซียน อินเดียขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่แล้ว การเปิดตลาดเสรีกับอาเซียนและจีนจึงกลัวว่าสินค้าราคาถูกคุณภาพดีจะเข้าไปตีตลาดอินเดีย คิดไปคิดมาแล้วถอยดีกว่า ไม่เหมือนตอนเวียดนาม ลาว เขมร เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน ซึ่งอาเซียนเก่ายอมให้คล้ายๆ ปรับตัวในการเปิดตลาด เพราะระดับการพัฒนาผิดกัน แต่เวียดนามกลับตอบว่าไม่ต้องการเวลาปรับตัว แต่จะใช้การเปิดตลาดกับประเทศที่เจริญกว่าในอาเซียนเป็นเครื่องกดดันให้คนเวียดนามต้องเร่งปรับตัว โดยใช้ประเทศไทยเป็นรูปแบบในการพัฒนา วิธีคิดของอินเดียเหมือนวิธีคิดของ มหาตมะ คานธี วิธีคิดของเวียดนามเหมือนวิธีคิดของ โฮจิมินห์ คนหนึ่งใช้วิธีอดข้าวประท้วง อีกคนหนึ่งใช้อาวุธเข้าสู้

ทำไปทำมาเวียดนามกลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญของประเทศไทยไปแล้ว เป็นความใจเด็ดและเชื่อมั่นในตัวเองของผู้นำเวียดนาม ไม่งอแงเหมือนผู้นำไทยกับแค่เขาจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ซึ่งได้เคยรับมา 30 ปี ยังไม่โต ยังเป็นเฒ่าทารก เอะอะโวยวาย จะไม่สู้ประเทศคู่แข่งในการค้าขายกับอเมริกา เพราะต้องเสียภาษีขาเข้าให้อเมริกา 4-5 เปอร์เซ็นต์

ความใจเสาะของรัฐบาลอินเดียอาจจะมีสาเหตุหลายๆ อย่าง อย่างแรกที่พูดออกมาตรงๆ คือ กลัวสู้กับสินค้าต่างประเทศไม่ได้ คงเป็นเพราะสินค้าต่างประเทศถูกกว่าและคุณภาพสูงกว่า เราจึงเห็นนักท่องเที่ยวอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศจะซื้อทีวี เครื่องไฟฟ้า เสื้อผ้า ปากกา ดินสอ เครื่องหนัง ทองรูปพรรณ เครื่องเงินเครื่องประดับอัญมณี ขนกลับบ้านกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพราะประเทศอินเดียยังอยู่ในช่วงพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า ยังไม่ถึงขั้นสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกอย่างประเทศในแถบเอเชียตะวันออก ตั้งแต่ญี่ปุ่น จีน ประเทศอุตสาหกรรมใหม่และประเทศอาเซียนที่กำลังทำอยู่ จนกลายเป็น export led economies ไม่ใช่ import substitution industry economies

ถ้าเป็นอย่างนี้คงอีกนานกว่าที่อินเดียจะก้าวไปข้างหน้าได้ เข้าใจผิดเพราะเคยเห็นมาใช้เงินโครมๆ ในงานแต่งงานที่คนอินเดียเข้ามาจัดงานที่เมืองไทย นโยบายมองตะวันตกของไทยคงต้องทำงานหนัก อาจจะต้องเข้าไปลงทุนในอินเดียเลยซึ่งก็เป็นงานหนัก แม้ว่าวัฒนธรรมส่วนบนของสังคมไทยเป็นวัฒนธรรมอินเดีย ส่วนสังคมส่วนล่างเป็นแบบจีนใต้ หรือจีนฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว ซึ่งแข็งสู้ทางเหนือของแม่น้ำแยงซีไม่ได้

สงสัยว่าคนไทยจะเข้ากับคนอินเดียได้มากน้อยเพียงใด แต่คนอินเดียมาอยู่เมืองไทย มาลงทุนในเมืองไทยนั้นไม่มีปัญหา แรงงานไทยทำงานกับนายจ้างอินเดียได้ แต่กลับกันไม่แน่ใจว่าแรงงานอินเดียจะทำงานกับนายจ้างต่างชาติได้หรือไม่ จึงไม่แปลกใจที่ค่าเงินรูปีเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท เงินรูปีมีค่าลดลงอยู่เรื่อยๆ

จำได้เมื่อสมัยเป็นอาจารย์จุฬาฯใหม่ๆ ได้รับทุนจากมูลนิธิให้ไปอบรมสัมมนาที่อินเดียเป็นเวลา 1 เดือนในปี 2500 ขณะนั้นอินเดียยังเป็นประเทศสังคมนิยม เงินตราต่างประเทศถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด รถยนต์มี 2 ยี่ห้อ รถเฟียตสำหรับรถเล็กและรถแอมบาสเดอร์สำหรับรถใหญ่ นอกนั้นเป็นรถยนต์ 3 ล้อเครื่อง มีม้า มีเกวียน เห็นรถม้าและคนขี่ม้าขี่ลากันกลางเมืองหลวงเป็นภาพปกติ

ไปนิวเดลีครั้งหลังก็เปลี่ยนไปมาก แต่ผู้คนก็เหมือนเดิม ยังเคี้ยวหมาก ผู้ชายนุ่งห่มเหมือนเดิม แต่ผู้หญิงเลิกห่มส่าหรีเสียแล้ว แต่นุ่งห่มอย่างสากลเหมือนเรา ดูแล้วรู้สึกแปลกๆ เพราะเคยแต่เห็นผู้หญิงอินเดียห่มผ้าส่าหรี

ตกลงโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่มาร่วมประชุมตามคำเชิญ เพราะ RCEP ขัดต่ออุดมการณ์ปิดประเทศของทรัมป์ ส่งเจ้าหน้าที่ระดับต่ำแค่อธิบดีดูแลภาคตะวันออกของแปซิฟิกนำเอกสารของโดนัลด์ทรัมป์ มาอ่าน มีผู้นำ 3 ประเทศคือ ไทย ลาวและเวียดนาม อยู่ฟัง ส่วนประเทศอื่น 7 ประเทศเดินออกจากห้องประชุมไม่ฟัง 3 ประเทศที่อยู่ฟังก็เพราะมีภารกิจหน้าที่ต้องทำ มิฉะนั้นก็คงไม่อยู่ฟัง

นอกนั้นการเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน ญี่ปุ่น ยุโรป อินเดีย สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศอยู่กันครบ ผู้แทนประธานาธิบดีทรัมป์จึงเป็นหมาหัวเน่าอยู่คนเดียว และคงจะเน่าไปถึงตัวทรัมป์ด้วย ขายหน้าแทนคนอเมริกันด้วยที่มีประธานาธิบดีประมุขของรัฐแบบนี้ ไทยเราซึ่งเป็นเจ้าภาพก็ไม่ควรจะไปสนใจให้ความสำคัญมากนัก

งานการประชุมสุดยอดที่กรุงเทพฯครั้งนี้ จุดสนใจจึงไปอยู่ที่การประชุมระหว่างจีนกับอาเซียน ส่วนอาเซียนกับอเมริกาไม่มีเพราะประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาไม่มา แต่เชิญอาเซียนไปประชุมที่อเมริกา วอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเชื่อว่าคงไม่มีใครไป โดนัลด์
ทรัมป์คงจะเสียหน้าอีก

ปกติการประชุมระดับการประชุมสุดยอดจะต้องมีการตกลงกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ก่อนที่หัวหน้ารัฐบาลจะพูด แต่โดนัลด์ ทรัมป์ ดูๆ แล้วน่าจะละเลยการทำงานอย่างที่คนอื่นเขาทำ พูดเองเออเองและหน้าแตกอยู่บ่อยๆ เหมือนๆ กับผู้นำบางคนในแถบนี้เหมือนกัน..

ในการเจรจาการค้าตามที่ติดตามข่าวเรามักจะเสนอกับคู่เจรจาแบบคล้ายๆ ว่า ขอให้ซื้อสินค้าภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ไม่ได้บอกว่าซื้ออะไรเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ใช้ราคาตลาดโลกหรือราคามิตรภาพ ทำไมไม่ขอให้เขาซื้อสินค้าอุตสาหกรรมของเราบ้าง หรือจะขอให้เขาอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวจีนมาเมืองไทย เป็นการยกเลิกการทำวีซ่าระหว่างกัน เพราะคงไม่มีปัญหาคนลักลอบผ่านแดนแบบผิดกฎหมาย ถ้าหากมากับบริษัทนำเที่ยวของทั้ง 2 ฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบ

โครงการรถไฟความเร็วสูงจากหนองคายสู่สิงคโปร์ จีนจะเป็นผู้ใช้เป็นส่วนใหญ่ จีนก็มีเงินทุนมากมาย หากจีนจะเป็นผู้ลงทุนและเดินรถน่าจะถูกต้องกว่าฝ่ายไทย อาจจะมีที่ดินที่รกร้างเป็นทุน เช่นเดียวกับที่จีนทำสัญญากับลาว ขาดทุนกำไรบริษัทร่วมทุนที่ไทยตีที่ดินวางรางเป็นทุนเท่านั้น ก็น่าจะยุติธรรมดีเพราะคงเป็นโครงการ “ขาดทุน” แน่ๆ ขณะเดียวกันจีนก็ได้ประโยชน์แต่ประเทศเดียว เพราะไทยมีสินค้าที่จะขนส่งขึ้นไปจีนแถบยูนานน้อยมาก สินค้าไทยส่วนมากส่งไปทางฮ่องกง เซียงไฮ้ กวางเจามากกว่า

เนื่องจากรถไฟเช่นว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสายไหม one belt one road ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ไม่ใช่โครงการที่ริเริ่มโดยรัฐบาลไทย ส่วนไทยก็มีโครงการรถไฟรางคู่ที่รัฐบาลกำลังเร่งรัดการก่อสร้างให้เสร็จอยู่แล้วและต่อไปถึงเวียงจันทน์ สะพานข้ามแม่น้ำโขงก็มีอยู่แล้ว สินค้าไปลงที่เวียงจันทน์แล้วต่อรถไฟจีน ต่อไปถึงคุนหมิง ก็น่าจะได้เป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย เป็นการใช้สิ่งที่ลงทุนแล้วให้ได้ประโยชน์คุ้มค่า

แต่ถ้าจะทำที่เมืองไทยก็ควรเป็นไปตามรูปแบบที่จีนทำกับลาว มัวแต่มาผลักดันโครงการที่เป็นไปไม่ได้ทางเศรษฐกิจและการเงิน เสียเวลาเปล่าๆ ส่วนโครงการอื่นไม่สำคัญเท่าโครงการนี้ ไม่ว่าประเด็นการเจรจาจะมีหรือไม่ ถ้ามีจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยจีนก็ยังมีเรื่องเจรจา ต่างคนต่างมองผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนเอง

การเจรจากับจีนเป็นเครื่องวัดความโง่ความฉลาดของรัฐบาลทหารของไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image