แรงงาน4.0 : โดย ไพรัตน์ พงศ์พาณิชย์

(ภาพ-Pixabay)

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรืออุตสาหกรรมยุค 4.0 นั้นนำมาซึ่งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะ “เปลี่ยนโฉมหน้า” ของเศรษฐกิจได้หลายทางอย่างรุนแรงและลึกซึ้ง

“ระบบเศรษฐกิจอัตโนมัติ” (autonomous economy) ที่เคยเป็นเพียงจินตนาการ จะกลายเป็นความจริงขึ้นมา การก้าวรุดหน้าของเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) กลายเป็นตัวเร่งให้โลกก้าวสู่ยุค “ออโตเมชั่น” เร็วขึ้นและครอบคลุมมากขึ้นทุกที

ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องก้าวไปในทิศทางนี้ ต้องปรับตัวเองให้รองรับยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อรักษาจังหวะก้าวย่างให้ทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลก หากไม่ต้องการถูกทิ้งไว้ข้างหลังและล้มหายตายจากไปในที่สุด

เหตุผลสำคัญเป็นเพราะระบบอัตโนมัติ หรือออโตเมชั่น นี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเติบโตและขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ

Advertisement

งานศึกษาวิจัยของ แม็คคินซีย์ โกลบอล อินสติติวท์ ประเมินว่า ระบบออโตเมชั่น หรือระบบการผลิตอัตโนมัตินี้ สามารถเพิ่มผลิตภาพหรือความสามารถในการผลิตของทั้งโลกขึ้นได้ถึงปีละ 1.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมหาศาลอย่างยิ่ง

ธุรกิจทั้งหลายจึงจำเป็นต้องก้าวเดินไปตามทิศทางนี้เหมือนๆ กันอย่างช่วยไม่ได้ เพราะยังต้องรักษาการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันไว้ต่อไป

ระบบการผลิตอัตโนมัติ ทำให้ธุรกิจมีประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะผลิตภาพสูงขึ้น โดยการลดสัดส่วนของความผิดพลาดลง พร้อมๆ กับยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Advertisement

ระบบการผลิตอัตโนมัติอย่างเช่น “โรบอต เรฟโวลูชั่น” คือการปฏิวัติการผลิตโดยหันมาใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานคน ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับสภาวะประเทศไทยที่แรงงานวัยทำงานหดตัวลงจากภาวะสังคมสูงอายุมากขึ้นทุกที

แต่ระบบการผลิตอัตโนมัติที่ใช้หุ่นยนต์แทนคนที่ถูกยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างอยู่บ่อยๆ นั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ ระบบเศรษฐกิจอัตโนมัติเท่านั้นเอง

ในความเป็นจริงแล้ว ออโตเมชั่น ในที่ทำงานก้าวไปไกลกว่าเรื่องของหุ่นยนต์ เพราะเทคโนโลยีทุกวันนี้ก้าวไปไกลมากแล้วและมีศักยภาพสูงกว่าที่เราเคยคาดคิดกันไว้มากนัก

โดยเฉพาะเทคโนโลยี แมชชีนเลิร์นนิ่ง หรือการเรียนรู้ของจักรกล ที่ควบคู่อยู่กับความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์นั้น ส่งผลให้เกิดรูปแบบใหม่ที่เรียกกันว่า “สมาร์ท ออโตเมชั่น” หรือระบบอัตโนมัติอัจฉริยะ ที่สามารถรองรับคำสั่งให้เครื่องจักรปฏิบัติภารกิจในระดับสูงมากๆ ได้

นั่นเท่ากับเป็นการขยายบทบาทของ “จักรกล” ในระบบการผลิต ระบบการทำงานให้ครอบคลุมกว้างขึ้นและลดภาระการรับผิดชอบของพนักงานที่เป็นมนุษย์ลงมากยิ่งขึ้นไปอีก

สำหรับแรงงานทั้งหลาย ยุค 4.0 จึงเป็นปัญหาท้าทาย กลายเป็นการ “ดิสรัปชั่น” อย่างรุนแรง ทั้งต่อตำแหน่งงานและชุดทักษะแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน

รายงานของแม็คเคนซีย์ โกลบอล อินสติติวท์ ระบุไว้ชัดเจนว่า ตำแหน่งงานแทบจะ “ทุกตำแหน่ง” ที่มนุษย์ทำอยู่ในเวลานี้ ระบบสมาร์ท ออโตเมชั่น สามารถทำหน้าที่แทนได้ “อย่างน้อยที่สุดก็ในบางส่วน” ของตำแหน่งงานนั้นๆ ด้วยขีดความสามารถของเทคโนโลยี “ที่มีอยู่แล้ว” ในเวลานี้

แม็คเคนซีย์ระบุว่า งานที่จะถูกระบบอัตโนมัติทำแทนที่ได้ทั้งหมดนั้น มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

จำแนกให้เห็นต่อไปด้วยว่า งานที่ใช้แรงทางกายภาพ ในสภาวะแวดล้อมที่ “คาดเดาได้” และ “ควบคุมได้” มีโอกาสที่จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติมากที่สุด ตรงกันข้าม งานในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ หรือ การพัฒนาบุคลากร และงานในเชิงสร้างสรรค์ คืองานที่ยากต่อการใช้ระบบอัตโนมัติเข้าไปแทนที่มากที่สุด

กระบวนการ ขั้นตอนในการทำงาน เปลี่ยนไป ตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นตำแหน่งหน้าที่สำหรับ “เสริมการทำงาน” หรือ “ทำงานร่วมกับ” หรือ “ทำหน้าที่กำกับดูแล” จักรกลอัตโนมัติทั้งหลายซึ่งต้องการทักษะที่แตกต่าง แปลกใหม่ออกไปจากทักษะที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้

คำถามสำคัญก็คือ แรงงานในยุคใหม่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร? รัฐควรเข้ามามีบทบาทอย่างไรในเรื่องนี้?

ผมขอยกยอดไว้ไปเล่าสู่กันฟังต่อในสัปดาห์หน้าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image