ดนตรีกับวิปัสสนา : โดย ประสิทธิ์ พฤกษาจารสิริ

การปฏิบัติกรรมฐานเป็นงานของจิตโดยเฉพาะ เป็นการฝึกจิตให้จดจ่ออยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เช่น อารมณ์ที่เพ่งอยู่กับการตามลมหายใจเข้าลมหายใจออก หรืออารมณ์ที่ตามรู้คำภาวนาพุท-โธขณะหายใจเข้าหายใจออก นอกจากอานาปานสติแล้ว กรรมฐานยังรวมถึงการฝึกจิตให้อยู่ภายในกายของผู้ปฏิบัติเพื่อให้จิตได้พิจารณาอสุภะ อันเป็นการป้องกันไม่ให้จิตฟุ้งซ่านหรือส่งออกไปท่องเที่ยว

หลักปฏิบัติอันสำคัญยิ่งของชาวพุทธคือการไม่ส่งจิตออกนอก เพราะจิตที่ส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตที่หนีจากกายออกไปท่องเที่ยวตามจริตนิสัยของตนมีแต่จะทำให้จิตไหลตกต่ำไปในทางไม่ดีงาม

ด้วยอนุสัยแห่งกิเลสราคะที่ฝังแน่นอยู่ในจิตดวงนี้มายาวนาน ธรรมชาติของจิตจึงมักส่งออกไปท่องเที่ยวเพื่อแสวงหาอารมณ์ใฝ่ต่ำและหยาบคายมาหล่อเลี้ยงราคะจริต จิตของปุถุชนมีแต่ไขว่คว้าโหยหากามคุณ การฝึกจิตให้อยู่ในลมหายใจหรืออยู่ภายในกายจึงเป็นเรื่องไม่ง่าย เนื่องจากนิวรณ์แห่งความโลภ โกรธ หลงที่รุนแรงหนาแน่นได้ครอบงำและดึงจิตให้ออกไปท่องเที่ยวเพื่อปรนเปรอราคะตัณหาของตน

ด้วยตระหนักในความรุนแรงของกามราคะที่กองพะเนินข้ามภพข้ามชาติอยู่ภายในจิต องค์พระศาสดาจึงทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องสละเพศฆราวาส เพื่อออกบรรพชาและมุ่งมั่นต่อการเจริญภาวนา อันเป็นหนทางเดียวที่จะขัดเกลาจิตใจให้หลุดพ้นจากวัฏฏะสงสาร

Advertisement

ลำพังการให้ทานและรักษาศีลไม่อาจขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดได้ ผู้ให้ทานยังมีความโลภ ผู้รักษาศีลอาจกลายเป็นปาราชิก การเจริญสติปัฏฐาน 4 ด้วยการพิจารณากายในกายด้วยตาใน จึงเป็นหนทางให้ได้มาซึ่งปัญญาญาณแห่งการรู้แจ้งเห็นจริงของกายอันเน่าเหม็นนี้ อันจะช่วยคลายความกำหนัดและลดละความโลภ โกรธ หลง

ด้วยเหตุนี้วิปัสสนาญาณด้วยตาในจึงเป็นอริยทรัพย์ที่มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์อื่นใดทั้งสิ้น

การพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ด้วยตาใน จึงนับเป็นขุมทรัพย์อันมีค่ายิ่งของชาวพุทธที่ต่างมุ่งแสวงหาและปฏิบัติเพื่ออานิสงส์แห่งการเข้าสู่ภพชาติที่ดียิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอันเป็นความทุกข์อย่างยิ่งของสรรพสัตว์ทั้งหลาย

Advertisement

ส่วนการพิจารณารูปนามด้วยตาเนื้อหรือตานอก เช่น การดูอิริยาบถ ยก ย่าง เหยียบขณะเดินจงกรม จะได้ผลเพียงแค่ความสงบของจิตใจเท่านั้น การดูด้วยตาเนื้อไม่อาจทำให้เกิดปัญญาญาณ และไม่อาจลงลึกซึมซับเข้าสู่จิตวิญญาณ ตาเนื้อที่เราใช้อาศัยมองดูสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน จึงไม่อาจใช้ขัดเกลาและกำจัดอกุศลมูลที่อยู่ภายในจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดได้

กฎแห่งไตรลักษณ์ว่าด้วยทุกข์ อนิจจัง อนัตตา จึงเป็นหลักธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะเข้าถึงนิพพานได้ด้วยการใช้ตาในเท่านั้น การใช้ตาในพิจารณาอสุภะจะนำไปสู่ความรู้แจ้งเห็นจริงที่ว่ากายนี้มีสภาพสกปรกเน่าเหม็นและกายนี้ต้องแตกดับสูญสลายลงไปในที่สุด

การพิจารณาอสุภะด้วยตาในจะช่วยผู้ปฏิบัติให้ละคลายความกำหนัดและความเศร้าหมองจากความโลภ โกรธ หลง ที่ครอบงำอยู่ภายในจิตใจ

การจะได้มาซึ่งอัญมณีอันล้ำค่าแห่งตาใน ผู้ปฏิบัติพึงรู้จักการให้ทานและรักษาศีล ทานและศีลจะเป็นพลังในการเบิกทางให้แก่จิตเพื่อเข้าสู่กรรมฐานเพื่อให้จิตได้รวมลงสู่สมาธิ จิตที่มีอนุสัยรุนแรงและติดยึดกับนิวรณ์จึงยากที่จะเข้าถึงตาใน เมื่อทานและศีลไม่แก่กล้า ตาในจึงบอดสนิท ไม่อาจนำไปใช้ในการเจริญวิปัสสนาด้วยเหตุที่จิตยังมีราคะที่คอยหน่วงรั้งจิตให้ไหลไปสู่อกุศลมูลอยู่ตลอดเวลา

เช่นเดียวกัน จิตที่มีราคะและถูกครอบงำด้วยความผูกพันรักใคร่ในเสียงประโคมของดนตรี จิตจึงถูกดึงรั้งให้ไหลไปสู่กามคุณด้วยพลังและอำนาจของเสียงเพลง เสียงประโคมของดนตรีมีแต่จะคอยทิ่มแทงและรบกวนสมาธิภาวนาอยู่ตลอดเวลา ผู้ปฏิบัติที่ไม่มีพลังจิตที่บริสุทธิ์สะอาด จึงไม่อาจดึงจิตให้รวมลงสู่กรรมฐานได้

เสียงประโคมของดนตรีและบทเพลงย่อมมีน้ำหนักและพลังที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดอัตตาตัวตน ขณะที่เราสนใจหรือใส่ใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อัตตาตัวตนของเราจะเกิดขึ้นทันทีพร้อมกับความสนใจนั้น อัตตาตัวตนที่เกิดขึ้นจะหนาแน่นพอกพูนมากน้อยเพียงใด จะเป็นไปตามระดับกำลังของความใส่ใจนั้น

ความเคลิบเคลิ้มหลงใหลในบทเพลงและเสียงร้องจะสร้างอัตตาตัวตนแก่ผู้ฟังให้แน่นหนารุนแรงยิ่งขึ้น ผู้ฟังจะใช้อัตตาตัวตนที่ถูกสร้างนั้นไปสัมผัสรับรู้รสชาติและอารมณ์ของเสียงเพลง จิตที่ได้สัมผัสเสียงเพลงและการประโคมของดนตรีย่อมทำให้จิตถูกครอบงำและยึดติดด้วยบทเพลงและเสียงร้องที่ดำเนินไปเพื่อปรนเปรอผู้ฟังในทางกามคุณ

จิตที่ติดแนบและซึมซับอยู่กับเสียงเพลงและเสียงประโคมจึงมีอนุสัยแห่งกามคุณเป็นเครื่องผูกมัดจิต จิตที่มีความใคร่และผูกพันในเสียงเพลงจึงยากที่จะหนีจากการถูกครอบงำและหันไปปฏิบัติสมาธิและเจริญภาวนา เสียงเพลงที่ประโคมที่แว่วอยู่ในโสตประสาทมีแต่จะคอยบั่นทอนและขวางกั้นจิตไม่ให้รวมลงสู่สมาธิ

หูและโสตประสาทได้รับสัมผัสความไพเราะและความร่าเริงในท่วงทำนองของบทเพลง ขณะที่จิตซึมซับและตรึงแน่นอยู่กับความอิ่มอกอิ่มใจในกามคุณจากการปรนเปรอด้วยเสียงประโคมของบทเพลง เปรียบเหมือนดั่งการเสพสุรา ลิ้นที่ได้รับสัมผัสรสชาติและความหอมหวานของสุรา ขณะที่จิตสัมผัสกลิ่นอายอันอบอุ่นของสุราที่แผ่ซ่านเข้าสู่ดวงจิตที่มีแต่จะขวางกั้นและบ่อนทำลายการเจริญภาวนา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสเทศนาในธัมมจักกัปปวัตนสูตรด้วยการปฏิเสธทางสุดโต่งสองด้าน คือกามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค อันได้แก่การปรนเปรอด้วยกามคุณด้านหนึ่ง และการทรมานร่างกายอีกด้านหนึ่ง

การปรนเปรอด้วยเสียงประโคมของดนตรีจึงเป็นทางสุดโต่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสห้ามไว้ในศีลข้อ 7

ในครั้งพุทธกาล พระจักขุปาลเถระได้ปฏิบัติธรรมและเจริญภาวนาด้วยความเพียรอย่างยิ่ง จนถึงกับต้องสูญเสียนัยน์ตาทั้งสองข้าง แต่ในที่สุดท่านได้บรรลุธรรมและสำเร็จอรหัตผล ในคราวนั้นภายหลังออกพรรษาแล้ว พระจักขุปาลเถระมีความประสงค์จะเดินทางไปเข้าเฝ้าองค์พระศาสดาที่พระเชตะวัน ด้วยเหตุที่ท่านตาบอด จึงได้มอบหมายให้สามเณรจับปลายไม้เท้าพาจูงพระเถระไปสู่สำนักพระพุทธองค์

ระหว่างทาง หญิงนางหนึ่งเที่ยวเดินร้องเพลงพลางเก็บฟืนอยู่ในป่า สามเณรฟังเพลงขับของหญิงนั้น ยึดเอานิมิตในเสียง ปล่อยไม้เท้า ให้ท่านรออยู่ก่อน แล้วไปสู่สำนักของหญิงนั้น เณรได้ถึงศีลวิบัติกับนางนั้นแล้วจึงกลับมา พระเถระไม่ยินดีให้เณรนั้นจับปลายไม้เท้าอีกต่อไป

เสียงเพลงได้ทำให้จิตใจหวั่นไหว กามคุณกำเริบ ตัณหาฟุ้งกระจาย อันนับเป็นการขัดขวางต่อการเดินเข้าสู่โมกขธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image