เดินหน้าชน : ทุนจีนเทกโอเวอร์ ทางรอดม.เอกชน? : โดย สุพัด ทีปะลา

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มทุนจากประเทศจีนได้รุกคืบเข้ามาซื้อกิจการของมหาวิทยาลัยเอกชนของไทยที่กำลังลูกผีลูกคน เผชิญวิกฤตนักศึกษาลดฮวบมาหลายปีต่อเนื่อง

จากอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้นักเรียนที่จบชั้น ม.6 จากปีละล้านกว่าคน เหลือ 5-6 แสนคน

สวนทางกับจำนวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนที่ไม่ได้ลดลง

มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งจึงต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด และมีแนวโน้มที่กลุ่มจีนจะเข้ามาซื้อกิจการจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนที่อยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ

Advertisement

จากข้อมูลจะพบว่ากลุ่มทุนจีนที่เข้ามาซื้อกิจการเพื่อดึงนักศึกษาจากจีนเข้ามาเรียนในเมืองไทย มีการเปิดหลักสูตรนานาชาติรองรับ

ดร.เสนีย์ สุวรรณดี เลขาธิการสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย และรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ม.เกษมบัณฑิต ให้สัมภาษณ์กับ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ม.เกษมบัณฑิต มีกลุ่มทุนจีนเข้ามาเจรจาทาบทามยื่นข้อเสนอขอซื้อกิจการ แต่ทางมหาวิทยาลัยไม่มีความจำเป็นต้องขายเพราะยังมีนักศึกษาเข้ามาต่อเนื่อง

ยอมรับว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยในไทยมีมากกว่าความต้องการเกือบ 200 แห่ง ทำให้เกิดการแข่งขันสูง โดยเฉพาะการแข่งขันที่ภาคเอกชนไม่มีแต้มต่อ เนื่องจากนักศึกษามีความเชื่อมั่น และอยากเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐมากกว่า

Advertisement

ดร.เสนีย์สะท้อนว่า การศึกษาไทยต้องกลับสู่จุดที่เรียกว่า “ดุลยภาพ” อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร อาจจะได้เห็นภาพการ “ยุบรวม” หรือ “ปิด-ขายกิจการ” ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยรัฐ หรือเอกชน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีอายุไม่เกิน 10 ปี จะเจอปัญหาหนัก ต้องหาวิธีให้ธุรกิจอยู่รอด เช่น ร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ

การเข้ามาของกลุ่มทุนจีนนั้น แม้จะทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนไทยอยู่รอด ไม่ต้องปิดกิจการ แต่ก็ยังน่าห่วงถึงผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ

ล่าสุด สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกมาแสดงความห่วงใยในเรื่องนี้ว่า ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องที่มีกลุ่มทุนจีนเข้ามาซื้อกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนของไทย เบื้องต้นพบว่ามีทุนจีน เข้ามาถือหุ้นสถาบันอุดมศึกษาของไทยประมาณ 2-3 แห่งเท่านั้น ไม่ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เนื่องจากนิติบุคคลที่ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันการศึกษาเป็นบริษัทของไทย แต่จีนเข้ามาถือหุ้น

มีการวางแผนรับมือแล้ว โดยตั้งคณะทำงานเฝ้าระวังมีตัวแทนจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ อว. กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กรมที่ดิน สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)

รวมทั้งได้สั่งการให้เน้นเรื่องของการกำกับดูแลเรื่องคุณภาพมาตรฐาน การจัดการศึกษาภายใต้กฎหมายอุดมศึกษาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และมาตรฐานการจัดการศึกษาของไทย

จากนี้คงต้องจับตาว่าการเข้ามาซื้อกิจการของทุนจีนจะต่อลมหายใจ ม.เอกชนไทยได้นานแค่ไหน

เพราะอย่าลืมว่า การศึกษาไม่ใช่ธุรกิจที่สร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำเฉกเช่นธุรกิจอื่นๆ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาวิเคราะห์อย่างรอบด้าน รวมถึงการเข้ามาควบคุมและกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ไม่เช่นนั้นอาจตกอยู่ในสภาพ “ติดกับดักทุนจีน” จนกลายเป็นปัญหาภายหลังได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image