ความเสมอภาคแห่งเพศบรรพชิต : โดย กล้า สมุทวณิช

คําถามของ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่โยนขึ้นมาผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “หากกะเทยมีความศรัทธาในศาสนา ทำไมสังคมบางส่วนจึงมองว่า เป็นพระตุ๊ด พระแต๋ว และไม่เหมาะสม ความศรัทธาทำไมจึงมีเรื่องเพศที่กำหนดการเข้าถึง มันไม่ควรจะเกี่ยวกับเรื่องเพศไม่ใช่หรือ” นั้นเป็นคำถามที่ยอดเยี่ยมมากที่สุดปัญหาหนึ่ง

แม้การตั้งคำถามเชิงศาสนาอันเป็นเรื่องของศรัทธาออกจะเป็นเรื่องหมิ่นเหม่ในสังคมไทย หรือจริงๆ แล้วคือสังคมใดก็ตามที่ศาสนายังมีน้ำหนักความสำคัญในสังคมอยู่ ดังนั้นคนที่ “อยู่เป็น” ก็จะละการกล่าวถึงเสียก็น่าจะปลอดภัย แต่ถ้าเราตั้งใจจะหาคำตอบให้คำถามนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการโวยวายกราดเกรี้ยว

ซึ่งแรกสุด ก่อนการถกเถียงประเด็นใด เราต้องมานิยามกันก่อนว่าเราเข้าใจคำว่า พระตุ๊ดหรือแต๋ว ตรงกันหรือไม่เพียงใด ซึ่งถ้าตามความหมายทั่วไปที่เข้าใจกัน ตุ๊ดหรือแต๋ว คือชายที่มีรสนิยมทางเพศกับชาย และแสดงออกถึงความเป็นหญิงอย่างชัดเจน บางกรณีอาจจะแต่งกายเป็นผู้หญิงด้วย ซึ่งปัจจุบันการแต่งกายให้ตรงเพศสภาพเช่นนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับได้อย่างกว้างขวาง บางครั้งเราจะเรียกเพศสภาพนี้รวมๆ ว่า “กะเทย”

ในขั้นนี้หลายคนอาจจะเข้าใจว่า ในทางพุทธศาสนาห้าม “กะเทย” หรือบุคคลข้ามเพศบวชเป็นสามเณรหรือภิกษุ ซึ่งอาจเป็นความเข้าใจอันคลาดเคลื่อน เพราะกรณีดังกล่าวคือการเป็นกะเทยแท้ หรือ“บัณเฑาะก์” ซึ่งหมายถึงผู้ที่ไม่มีอวัยวะเพศ หรือมีอวัยวะเพศของทั้งสองเพศ ซึ่งเป็นความผิดปกติทางกายอย่างหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศสภาพ การไม่ให้บัณเฑาะก์เข้าบวชก็ไม่ต่างจากกรณีความพิการหรือโรคร้ายแรงอื่นซึ่งท่านก็ว่าบวชไม่ได้เช่นกัน

Advertisement

ถ้าเช่นนี้แล้ว ผู้เป็น “กะเทย” ตามความหมายของเพศสภาพหากมีศรัทธาในศาสนาแล้วจะบวชได้หรือไม่ หรือเรามีพระที่แสดงออกซึ่งความเป็น “ตุ๊ด แต๋ว” (ตามคำของท่าน ส.ส.) ได้หรือไม่

เรามาพูดถึงรากฐานของเรื่องนี้ก่อนว่า เสรีภาพในการนับถือศาสนานี้เป็นเสรีภาพบริบูรณ์ที่รัฐไม่อาจจำกัดได้ในทางใดเลย ดังนั้นใครจะนับถือศาสนาใดก็ย่อมได้ทั้งสิ้น หากคำว่า “บริบูรณ์” นี้จำกัดอยู่เฉพาะการ “นับถือ” ซึ่งแยกออกจากเสรีภาพในการประกอบศาสนกิจ หรือพิธีกรรมของศาสนาออกจากกัน เสรีภาพในส่วนหลังนี้ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขว่าต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย

ส่วนกรณีการปฏิบัติศาสนกิจหรือประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อที่รัฐต้องจำกัดตามเงื่อนไขนั้น สำหรับประเทศไทยยังไม่เคยมีกรณีที่ร้ายแรงหรือขัดแย้งมากนัก มากที่สุดก็เพียงกรณีที่ผู้นับถือลิทธินิกายหนึ่งในคริสต์ศาสนาปฏิเสธมิให้โรงพยาบาลของรัฐถ่ายเลือดหรือให้เลือด ข้อขัดข้องนี้ได้รับคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามความเห็นเรื่องเสร็จที่ 250/2546 ว่าบุคคลไม่อาจใช้เสรีภาพในการปฏิบัติตนตามคำสอนของศาสนาจนอาจกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพในชีวิตของตนได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยอาจถึงแก่ชีวิต แพทย์จึงสามารถใช้การรักษาด้วยการถ่ายเลือดหรือให้เลือดได้ แม้จะขัดต่อความเชื่อทางศาสนาของผู้ป่วยก็ตาม

Advertisement

ส่วนคำถามที่ว่า พระสามารถเป็นกะเทย (หรือกะเทยสามารถเป็นพระได้หรือไม่) นั้น เราอาจจะต้องกลับมาย้อนถามว่า วัตถุประสงค์ของการ “บวช” ไม่ว่าจะเณรหรือพระภิกษุเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด

ซึ่งหากเราพิจารณาหน้าที่ของศาสนาที่มีต่อปัจเจกชนแต่ละคนแล้ว จะเห็นว่าคำสอนของศาสนาทำหน้าที่สามระดับ จากชั้นตื้นไปลึก ได้แก่ ระดับตื้นที่สุด คือคำสอนเพื่อให้ศาสนิกผู้ปฏิบัติตามจะได้เป็นคนเก่งหรือคนดี ในแง่นี้คำสอนของศาสนาจะเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนหรือใช้ชีวิตทางโลกให้ประสบความสำเร็จหรือมีความสุขตามสมควร เช่น ถ้าเป็นในทางพุทธศาสนา คำสอนกลุ่มนี้ได้แก่ เรื่องอิทธิบาทสี่ อันเป็นที่มาของการทำงานให้ประสบความสำเร็จ (หรือสมัยนี้เรียกว่าเป็นมนุษย์ Productive) หรืออยากมีความสัมพันธ์อันดีต่อผู้คน ก็ควรปฏิบัติตามแนวทางของพรหมวิหารสี่ เป็นต้น

ระดับต่อมา คือคำสอนเพื่อการพ้นทุกข์ทางจิตใจ ระดับนี้ศาสนาจะเข้าทำงานลึกลงไปอีกขั้น นั่นเพราะคำสอนในลำดับชั้นแรกเป็นการตอบสนองความต้องการทางโลกไม่เกี่ยวกับเรื่องสุขทุกข์ ผู้ประสบความสำเร็จหรือมีคนรักคนเมตตาแต่ก็ยังอาจจะมีทุกข์อยู่ คำสอนของศาสนาในระดับนี้จะให้แนวทางปฏิบัติอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ในปัจจุบัน หรืออย่างน้อยก็รู้ทุกข์นั้นได้แม้ชั่วครั้งชั่วคราว เช่น การเจริญสติภาวนา หรือมองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น หรือเพื่อรู้กลไกการเกิดดับของทุกข์ เพื่อที่จะได้อยู่รอดได้ในโลกภายนอก

ระดับสุดท้าย คือคำสอนในระดับจิตวิญญาณที่ว่าด้วยระบบและกลไกของโลก ชีวิตและความจริง นี่คือชั้นที่ลึกที่สุดของศาสนา ที่อธิบายคำถามที่มนุษย์ทุกคนสงสัยว่า โลกนี้คืออะไร เรามาจากไหน และจากนี้เราจะไปไหน คำอธิบายนี้ต่างบ้างเหมือนบ้างตามแต่ศาสนา แต่จุดที่เหมือนกันคือคำสอนในส่วนที่จะพาไปสู่จุดสูงสุดของแต่ละศาสนา เช่น วิถีทางไปมีชีวิตนิรันดร์กับพระผู้เป็นเจ้า การได้เข้าไปรวมอยู่กับจิตแห่งจักรวาลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพลัง หรือการเข้าสู่ห้วงแห่งสุญญตาพระนิพพานจะต้องอาศัยกำลังความเพียรและการปฏิบัติเป็นพิเศษยิ่งกว่าการใช้ชีวิตปกติในทางโลก

โดยปกติศาสนิกผู้ยังครองเรือนอยู่จะรับและปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอยู่ที่ระดับแรกและระดับที่สอง ซึ่งก็จะทำให้ชีวิตนี้มีความสำเร็จในทางโลก และความสุขทางใจไม่เป็นทุกข์ ส่วนคำสอนระดับสุดท้ายนั้น แม้ทุกคนจะรู้ว่าจุดมุ่งหมายสุดท้ายของศาสนาของตนคืออะไร แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะต้องการไปให้ถึง หรือพยายามที่จะไปให้ถึง

การเป็น “นักบวช” คือผู้ที่ทิ้งโลกละเรือนเพื่อเข้าไปสู่ หรือเพื่อให้เข้าไปใกล้จุดมุ่งหมายสุดยอดนั้นมากที่สุด เพื่อการไปสู่จุดที่ยาก นักบวชจึงต้องสละวิถีชีวิตอย่างผู้ครองเรือนไป และใช้ชีวิตตามวิถีทางอันเคร่งครัดสุดแต่ศาสนานิกายจะกำหนด เช่น ในศาสนาพุทธ ชั้นเบาที่สุดคือต้องเริ่มที่การถือสิกขาบทสิบ หรือศีลสิบข้อ ที่เรียกร้องและจำกัดเหนือกว่าฆราวาส ส่วนภิกษุก็ยิ่งมีวัตรปฏิบัติที่เข้มงวดกว่า

วัตรปฏิบัตินั้นมิใช่บัญญัติขึ้นมาเพียงเพื่อหมายจะสร้างอุปสรรคความยากลำบากเล่นเพื่อลองใจ หากล้วนมีเหตุผลเพื่อจำกัดหรือขจัดสิ่งที่อาจถ่วงรั้งเพื่อส่งให้นักบวชผู้ปฏิบัติไปสู่จุดที่ใกล้ความหลุดพ้นมากที่สุด เช่น ความสะดวกสบายทางกายที่จะทำให้หลงติดยึดในความสุขทางเนื้อหนัง เช่น สัมผัสอ่อนนุ่มของที่นอน กลิ่นหอมประทินผิว ดนตรีคีตาและมหรสพเพื่อความบันเทิงตาหูทางโลก หรือการกินอาหารเป็นเวลาและมีช่วงที่อดมากกว่า ซึ่งมาค้นพบในภายหลังและเป็นที่ฮือฮาว่ามันคือกระบวนการเพื่อสร้างประสิทธิภาพและสมาธิของสมองได้ด้วยกลไกออโตฟาจี้และโกรตฮอร์โมนในชื่อของ Intermittent Fasting

แต่การบวชทุกกรณีก็มิได้เป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เช่นนั้น บางคนบวชเพื่อแสวงเนื้อนาบุญตามพิธีกรรมหรือธรรมเนียมเพียงชั่วคราว หรือบางคนบวชเพื่อร่ำเรียนหรือใช้ชีวิตที่สงบ แต่ไม่ว่าจะด้วยจุดมุ่งหมายใด ผู้ครองเพศบรรพชิตก็ควรต้องอยู่ในศีลของตนให้บริบูรณ์ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

กลับไปตอบคำถามว่า เช่นนี้แล้วกะเทยหรือเพศทางเลือกผู้ศรัทธาจะบวชได้หรือไม่ ก็อาจตอบได้แน่นอนว่าบวชน่ะได้หากไม่ใช่กรณีของบัณเฑาะก์อันต้องห้าม แต่คำถามคือ เมื่อบวชแล้ว ผู้มีเพศทางเลือกจะรับเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติในอันที่จะละการปฏิบัติตนอย่างเดิมอันแสดงซึ่งเพศสภาพลงได้หรือไม่ ซึ่งการละเสียซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเป็นเรื่องเสมอภาคกันไม่ว่าผู้บวชจะเป็นชายหญิงหรือเพศใด เพราะการละรวมถึงการไม่ล่วงประเวณีไม่ว่าจะกับหญิงหรือชาย การงดเสียซึ่งการแต่งกลิ่นแต่งกายให้งดงาม รวมถึงการละจากความบันเทิงทางโสตทัศน์ทั้งปวงด้วย

เพราะถ้าท่านจะบวชโดยมีศรัทธาเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นแล้ว แต่ท่านยังยืนยันจะคงวัตรปฏิบัติแบบเดิมไว้ (เช่น การแต่งหน้าทาปาก หรือทาเครื่องหอมประทินผิว) ก็คงยากที่ท่านจะบรรลุธรรมตามจุดมุ่งหมาย

หรือถ้าท่านบวชเพื่อแสวงหาเนื้อนาบุญตามความเชื่อทางศาสนาว่าการถือบวชแม้ระยะสั้นก็เป็นบุญ แต่หากท่านไม่ยินยอมที่จะรักษาวัตรปฏิบัติซึ่งเป็นเงื่อนไขในการบวช การที่จะได้บุญที่แสวงก็อาจจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เหมือนการใส่ข้าวเปลือกไปหนึ่งถ้วยจะหวังข้าวสารสักหนึ่งถังคงเป็นไปไม่ได้

และสุดท้ายหากท่านจะบวชตามประเพณีหรือบวชเพื่อเรียน ท่านก็ควรจะต้อง “เล่น” ให้สมบทบาทด้วยการถือวัตรปฏิบัติให้งดงามเรียบร้อย อย่างน้อยก็ต่อหน้าญาติโยม เพื่อให้เขาสบายใจเมื่อต้องไหว้ต้องกราบ

ในตอนนี้ท่านอาจจะมีคำถามว่า แล้วถ้าเราต้องการจะพ้นทุกข์หรือบรรลุธรรมโดยศรัทธา แต่ยังคงอัตลักษณ์แห่งเพศสภาพและการปฏิบัติตนอย่างเดิมไว้เล่าจะได้หรือไม่ อันที่จริงแล้วก็มีคนจำนวนมากที่ประสงค์จะทำหรือเป็นเช่นนั้น คือพ้นทุกข์โดยไม่ต้องละวิถีชีวิต
เดิมๆ ซึ่งคำตอบของผู้ที่จะเลือกแนวทางนี้ คือการถือปฏิบัติธรรมหรือการปฏิบัติภาวนาแบบที่ไม่จำเป็นต้องถือบวชเป็นบรรพชิต ซึ่งทางเส้นนี้ก็มีครูอาจารย์ฆราวาสมากมายให้เลือกลองตามแต่ความชอบความเชื่อ ทั้งเถรวาท วัชรยาน หรือแม้แต่การมุ่งสู่ความพ้นทุกข์โดยไม่ต้องขึ้นกับศาสนา

คำตอบที่ใคร่ขอสรุปไว้นี้ คือการมีเพศสภาพอย่างไรก็ไม่ขัดขวางศรัทธาและการแสวงธรรม เพียงแต่หากจะเข้าสู่รูปแบบของสมณะแล้ว ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขที่ท่านจะต้องละวัตรปฏิบัติที่แสดงซึ่งเพศสภาพนั้นลงเสีย เป็นเพียงเพศเดียวไม่ว่าเพศเดิมจะเป็นเพศใด คือเพศบรรพชิต

กระนั้นก็ตาม คำถามของ ส.ส.ท่านนี้ก็เป็นสิ่งดีที่ทำให้เราได้นึกคิดและทบทวนเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับความหมายและจุดประสงค์ของการบวชและประเด็นเรื่องเพศสภาพ คงไม่ใช่เรื่องของการล่วงละเมิดหรืออยู่ไม่เป็นอะไรขนาดนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image