สถานีคิดเลขที่ 12 : คสช.ห้ามแตะ : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : คสช.ห้ามแตะ : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : คสช.ห้ามแตะ : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

กลายเป็นญัตติร้อนแรงที่ทำให้สภาล่มถึง 2 ครั้ง ใน 2 วัน โดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล แห่งพรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้ยื่นเสนอ ญัตติขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่ง คสช. และการใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44

ท่าทีของฟากรัฐบาลนั้นชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาเรื่องนี้

โดยมีคำอธิบายทำนองว่า ไม่ควรย้อนกลับไปเสียเวลากับเรื่องเก่าๆ มีแต่จะก่อความขัดแย้งขึ้นมาเปล่าๆ

Advertisement

ขณะที่ฝ่ายพรรคอนาคตใหม่และพรรคฝ่ายค้านเห็นว่า นี่คือการทบทวนตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร ซึ่งไม่ถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ และทำให้ประชาชนจำนวนมากมายได้รับผลกระทบต่อชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม โดยไม่สามารถโต้แย้งหรือต่อสู้ใดๆ ทางกฎหมายได้

อีกทั้งขณะนี้ส่วนหนึ่งของ คสช.ได้แปลงโฉมเข้ามาเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง โดยที่ผลกระทบมากมายจากยุค คสช.ยังดำรงอยู่ถึงวันนี้

จึงเป็นภารกิจของเหล่าผู้แทนราษฎรที่จะต้องมาทบทวนการใช้อำนาจเหล่านี้ของ คสช. เพื่อปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ไม่เป็นธรรมให้กับประชาชน

Advertisement

แน่นอนว่า ฝ่ายรัฐบาลที่ยังมีความเชื่อมโยงกับ คสช. ต้องไม่อยากให้มีการฟื้นฝอยหาตะเข็บ

รวมทั้งยิ่งพูดเรื่องนี้ ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า รัฐบาลนี้มีลักษณะก้ำๆ กึ่งๆ ไม่ใช่กึ่งยิงกึ่งผ่าน แต่กึ่งระหว่างรัฐบาลทหารกับกึ่งรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในสภาก็คือ พอถึงเวลาโหวตว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการ ปรากฏว่าเสียงฝ่ายรัฐบาลดันเป็นฝ่ายแพ้ แล้วมีการลุกขึ้นขอให้ลงคะแนนใหม่

คราวนี้ประชาชนทั่วไปก็เลยได้ร่วมกันเรียนรู้ ข้อบังคับการประชุมสภา ข้อที่ 85 ซึ่งเกิดการตีความกันวุ่นวาย

ว่าเนื้อหาของข้อบังคับเขียนถึง การขอให้มีการ “นับคะแนนใหม่” ไม่ใช่การขอให้ “ลงคะแนนใหม่” แต่ฝ่ายรัฐบาลและประธานสภาผู้แทนฯ ตีความว่าให้ “ลงคะแนนใหม่”

ฝ่ายค้านก็เลยต้องวอล์กเอาต์ ลงเอยเหลือแต่สมาชิกรัฐบาล แต่ก็ไม่ครบองค์ประชุม ก็เลยล่ม

ส่วนที่ว่าทำไม ส.ส.ฝ่ายรัฐ จึงเข้าร่วมประชุมไม่ครบ มีการถกเถียงหลายด้าน สะท้อนว่าภายในรัฐบาลเริ่มร้าวหนัก เพราะขัดแย้งระหว่าง 2-3 พรรคหลายเรื่อง หรือว่าเป็นการจงใจถ่วงเวลา เพื่อทำให้ญัตติศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ ต้องค้างรอต่อไป

แต่ภาพที่ออกมา ถือว่าเป็นผลเสียต่อฝ่ายรัฐบาล และตอกย้ำปัญหาเสียงปริ่มน้ำ ว่าพร้อมเกิดปัญหาได้ตลอด

รวมทั้งการตีความข้อบังคับการประชุมข้อที่ 85 จะเกิดบรรทัดฐานใหม่ และอาจจะเกิดการลุกขึ้นขอให้ลงคะแนนใหม่ได้อีกในทุกเรื่องต่อไปจากนี้

ที่น่าเสียดายก็คือ ทำให้บทบาทของสภาผู้แทนฯที่ควรจะได้ยกระดับ ในฐานะผู้มาจากการเลือกตั้ง ในการตรวจสอบอำนาจของคณะรัฐประหาร และพัฒนาไปสู่บทบาทการต่อต้านรัฐประหารต่อไปอีก

เพราะสุดท้าย ถ้ายังตีความข้อบังคับการประชุมให้ลงคะแนนใหม่ แนวโน้มที่ญัตตินี้จะโดนตีตกไปก็เป็นไปได้มาก

สุดท้ายถ้าสภาชุดนี้ ไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของ คสช.ได้ ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าอิทธิพลของ คสช.ยังคงปกคลุมอยู่

ในพรรคการเมือง ในสภา และในระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมา

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image