เดินหน้าชน : มติไหนกันแน่

กําลังเป็นประเด็นถกเถียงกันว่า ตกลงเป็นมติจากที่ประชุมหรือไม่ กรณีการประชุมนัดสำคัญของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และเป็นประธานคณะกรรมการฯ ออกมาแถลงข่าวผลประชุมว่า มีมติเอกฉันท์ให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตราย “พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 กำหนดระยะเวลาบังคับใช้เลื่อนจาก 1 ธันวาคม 2562 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 หรือขยับออกไปอีก 6 เดือน ส่วน   “ไกลโฟเซต” ให้ใช้มาตรการ “จำกัดการใช้” ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561

หลายสื่อบอกว่าเป็นการฉีกมติของการประชุมคณะกรรมการฯ หนก่อนเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่โหวตเสียงแต่ละสารเคมีออกมาว่าแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดโดยสิ้นเชิงเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562

แต่ รศ.ดร.เภสัชกรหญิง จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม หนึ่งในจำนวน 24 คน ของคณะกรรมการฯ ที่เข้าร่วมประชุมในวันที่ 24 พฤศจิกายน ได้ตัดสินใจประกาศลาออกจากคณะกรรมการชุดนี้ ยืนยันว่าไม่มีมติใดๆ ออกมา

รวมทั้งการให้สัมภาษณ์ของ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ข้องใจต่อขั้นตอนการลงมติที่อ้างจาก รมว.อุตสาหกรรม จะเป็นมติที่บังคับใช้ได้หรือไม่ ทั้งผู้แทนกรมปศุสัตว์และกรมประมงที่เป็นกรรมการวัตถุอันตรายต่างยืนยันว่า ในที่ประชุมนั้น ประธานไม่ได้ให้มีการลงคะแนนเสียงใดๆ

Advertisement

เมื่อย้อนกลับไปที่มติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่แบน 3 สารเคมีไปจากประเทศไทย ทางเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 เป็นคำสั่งกรมวิชาการเกษตรที่ 1511/2572 เรื่อง การแจ้งการครอบครองและการส่งมอบสารเคมี 3 ชนิดที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิกใช้ โดยผู้ที่ครอบครองต้องแจ้งกรมวิชาการเกษตรภายใน 15 วัน หลังจากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 จากนั้นต้องส่งมอบภายใน 15 วันเพื่อทำลาย

ต่อมา ตามกลไกของสภาผู้แทนฯ ในที่ประชุมสภาเมื่อ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบรายงานของ กมธ.วิสามัญสารเคมีฯ ที่ศึกษานานกว่า 3 เดือน มติเสียงเป็นเอกฉันท์ 423 เสียง ที่ถือว่าเป็นเสียงตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ และยังเป็นเสียงของทุกพรรคการเมืองทั้งขั้วฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ยืนยันยุติการใช้ 3 สารเคมี มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจจากประชุมสภาวันนั้น คือ ยืนยันให้รัฐบาลยุติการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดโดยเร่งด่วน แต่ไม่เห็นด้วยที่นำสารเคมีชนิดอื่นมาทดแทน ควรทดแทนด้วยสารชีวภัณฑ์ รวมถึงเครื่องจักรกลการเกษตรที่ประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีดิจิทัล และการบริหารจัดการแปลงปลูกอย่างเหมาะสม พร้อมเสนอให้จัดตั้ง กองทุนเยียวยาและดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเสนอให้ปรับปรุงและผลักดันกฎหมาย อย่างน้อย 2 ฉบับ คือ แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 และผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ…..

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ถึงกับบอกว่าเป็นมติประวัติศาสตร์ เป็นฉันทานุมัติของสภาผู้แทนราษฎรลงมติด้วยเสียงท่วมท้นไม่มีการคัดค้าน เป็นการสะท้อนคุณภาพของสภาที่ไม่ได้ต่อสู้ช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองแต่อย่างใด

Advertisement

แต่เมื่อมาถึงขณะนี้เป็นความสับสนแล้วว่า 3 สารเคมีดังกล่าวจะเดินทางไปสู่บทสรุปที่ชัดเจนอย่างไรกันแน่

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้ความเห็นน่าสนใจว่า ต้องตีความให้ชัดว่าหากเป็นเช่นนี้แล้ว มติคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ถือว่ามีการลงมติหรือไม่ หากตีความว่าลักษณะดังกล่าวถือว่าไม่มีการลงมติ ก็แสดงว่ามติของคณะกรรมการฯเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ให้แบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดทันทีภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ยังมีผลอยู่

ทางออกที่ รมว.สาธารณสุขที่แนะนำไว้ต่อ หากเป็นเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการฯ ก็คือ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อขอตีความให้ชัดๆ เพราะจะมีผลอย่างมากต่อการดำเนินการเรื่องสารเคมีทั้ง 3 ชนิดต่อไป

คงต้องตามดูกันว่า การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งต่อไป จะต้องบรรจุวาระการนำเสนอให้รับรองรายงานการประชุมครั้งก่อนที่ระบุมติว่าเป็นเอกฉันท์ จะมีการโต้แย้งกันต่อหรือไม่

แม้แต่อนุทินยังบอกว่า “ถ้าเป็นผมจะไม่รับรองเพราะกลัว”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image