สะพานแห่งกาลเวลา : แรงงาน4.0 กรณีศึกษาจากสิงคโปร์

ยังคงติดค้างจากสัปดาห์ที่แล้วอยู่ว่าด้วยเรื่อง “เศรษฐกิจอัตโนมัติ” และ “ระบบการผลิตอัตโนมัติ” ตรงที่คำถามสำคัญที่แปะเอาไว้ในตอนท้ายว่า แล้วแรงงานจะตอบสนองต่อตำแหน่งงานที่หดหายไปอย่างไร?     รัฐควรเข้ามาอุ้มชูหรือช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ให้พัฒนาทักษะงานใหม่ๆ ที่เหมาะสม สอดคล้องและเป็นที่ต้องการของสถานที่ทำงานในยุค 4.0 ได้อย่างไรกัน

ผมเลือกหยิบเอากรณีของประเทศสิงคโปร์มาเป็นกรณีตัวอย่าง สำหรับศึกษาพิเคราะห์พิจารณากันดูแล้วนำมาประยุกต์ใช้ในบ้านเราต่อไป

ระบบการผลิตอัตโนมัติในสิงคโปร์นั้นก้าวไปไกลกว่าเมืองไทยอยู่ก้าวใหญ่เลยทีเดียว ดังนั้นปัญหาที่แรงงานหรือคนทำงานที่นั่นต้องเผชิญอันเนื่องจากการเข้าแทนที่ของเครื่องกล จึงมาถึงตอนเมืองไทยอยู่ไม่น้อย

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดเจนก็คือ ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีหน้านี้ ทางการสิงคโปร์ตัดสินใจแล้วว่าจะนำ “หุ่นยนต์ทำความสะอาด” ที่ออกแบบและผลิตโดยบริษัทในสิงคโปร์เอง ชื่อ “ไลออนบ็อท อินเตอร์เนชันแนล”  มาประจำการเพื่อทำความสะอาดตามท้องถนนต่างๆ โดยกำหนดใช้งานรวดเดียว 300 ตัวทั่วทั้งเกาะ

Advertisement

แต่อย่างที่เรารู้กันว่า ระบบออโตเมชันไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการใช้หุ่นทำงานแทนคนเท่านั้น ยังกินความไปถึงเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น งานจำพวกที่ต้องทำซ้ำๆ ภารกิจที่ชัดเจนในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ ฯลฯ ซึ่งจะค่อยขยายวงออกไปเรื่อยๆ ตามศักยภาพในการ “เรียนรู้” ของจักรกลและปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ทั้งหลาย

องค์การเงินตราแห่งสิงคโปร์ (เอ็มเอเอส) หรือแบงก์ชาติของที่นั่น เคยร่วมมือกับสถาบันการเงินและการธนาคาร (ไอบีเอฟ) ทำศึกษาวิจัย พบว่าราว 1 ใน 3 ของตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินนั้นสามารถรวมเข้าหรือทับซ้อนกับพัฒนาการของระบบอัตโนมัติ

พูดง่ายๆ ก็คือ 1 ใน 3 ของตำแหน่งงานด้านบริการทางการเงินในเวลานี้ ระบบอัตโนมัติสามารถเข้ามาทำแทนได้นั่นเอง

Advertisement

รัฐบาลสิงคโปร์มองเรื่องนี้เอาไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2016 ผมไม่ได้พูดลอยๆ แต่เรื่องนี้มีหลักฐานปรากฏอยู่ในงบประมาณประจำปีนั้นของที่นั่น ที่กันเงินจำนวนหนึ่งเอาไว้เพื่อใช้เป็นงบช่วยเหลือในชุดความช่วยเหลือที่เรียกว่า “เดอะ ออโตเมชัน ซัพพอร์ต แพคเกจ” เรียกสั้นๆ ว่า เอเอสพี

เอเอสพีมีทั้งเงินที่เป็นเงินช่วยเหลือ (แกรนท์) และเงินกู้ หรือเป็นการช่วยเหลือทางภาษี สำหรับบริษัทธุรกิจต่างๆ รวมแล้วกว่า 300 บริษัท ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบผลิตและบริการอัตโนมัติ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านเหรียญสิงคโปร์ต่อราย

เงื่อนไขอย่างหนึ่งของเงินสนับสนุนจากภาครัฐดังกล่าวก็คือ ต้องมีมาตรการให้เป็นที่แน่ใจได้ว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งต่ออุตสาหกรรมนั้นๆ หรือต่อบริษัทเองต้องส่งผ่านไปยังแรงงานภายในอุตสาหกรรมอย่างทั่วถึงด้วย

ในปีงบประมาณ 2017 รัฐบาลสิงคโปร์ยังจัดสรรเงินก้อนใหญ่ 1,100 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ไว้สำหรับให้การสนับสนุนโครงการตามแนวคิดริเริ่ม “อแดปท์ แอนด์ โกรว์” คือ “ปรับตัวแล้วเติบโต” ของคนในวัยทำงานทั้งหมดให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเทคโนโลยี ผ่านระบบการศึกษาและการฝึกอบรมทักษะแรงงานต่อเนื่อง

ในปีนั้น ราวครึ่งหนึ่งของคนวัยทำงานของสิงคโปร์ เข้ารับการ “ยกระดับทักษะ” และการฝึกอบรมเพื่อ “สร้างทักษะใหม่” กันแล้วครับ

รัฐบาลสิงคโปร์ยังประกาศ “อินดัสตรี ทรานส์ฟอร์เมชัน แมป” ในวงเงินงบประมาณ 4,500 ล้านเหรียญ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านทั้งนายจ้างและลูกจ้างเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นดิจิทัล จัดทำโครงการ “พลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรม” ที่กำหนดขั้นตอนหรือโรดแมป สำหรับรายอุตสาหกรรมรวม 23 อุตสาหกรรม จำแนกปัญหาท้าทายที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละอุตสาหกรรม และกำหนดแนวทางแก้ไขจำเพาะรายเอาไว้

เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ, บริษัท, อุตสาหกรรม, สมาคมการค้าและหอการค้าให้แน่นแฟ้นลึกซึ้งยิ่งขึ้น

มุ่งเน้นประเด็นสำคัญเอาไว้ว่า ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องเห็นพ้องกันว่า การศึกษากับการกำหนดยุทธศาสตร์แรงงาน เป็นลู่ทางสำคัญสำหรับความสำเร็จในอนาคต

เป็นระบบ มีความชัดเจนทั้งวัตถุประสงค์ วิธีการและเป้าหมายที่ต้องการก้าวไปถึง จนน่าศึกษาไว้เป็นแบบอย่างอย่างยิ่งครับ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image