โรงเรียนวันเสาร์ : หยุดวงจรยาบ้าในเยาวชนกลุ่มเสี่ยง

สถานการณ์ปัญหายาเสพติดยาบ้ากลับมารุนแรงแพร่ระบาดอย่างหนักยิ่งในขณะนี้ เพราะต้นทุนของการผลิตยาบ้า 1 เม็ด เพียง 2.50 บาท แต่ข้ามชายแดนมา 15-20 บาท ถ้าเข้าสู่เมืองใหญ่ราคา 50-60 บาท

1 แท่นปั๊มผลิตยาบ้าได้ 250,000 เม็ดต่อวัน ประมาณการยาบ้าที่เข้าประเทศไทยอยู่ที่ 1,000 ล้านเม็ด ถูกจับยึดปราบปรามได้ 25-30% กล่าวได้ว่ายาบ้ามีการขายยาเสพติดอยู่ถึง 700 ล้านเม็ดที่หล่อเลี้ยงปัญหาสังคมไทยยิ่งวิกฤตหนักยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทยที่มียาบ้าเป็นจุดเริ่มต้น ตามมาด้วยพวงของความรุนแรงทางเพศ การกระทำผิด การลักเล็กขโมยน้อย ครอบครัวแตกแยก และอื่นๆ การลงพื้นที่ต้นทางเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่หยุดวงจรส่งต่อยาเสพติดที่แม่ฮ่องสอนจึงน่าสนใจยิ่ง

ที่ ศูนย์แสงอรุณ (บําบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดโดยพระกิตติคุณ) อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทุกๆ วันเสาร์จะมีการจัดกิจกรรมให้กับเด็กและเยาวชนชาวเขา โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์จะจัดรถไปรับเด็กๆ จาก 3 หมู่บ้านข้างเคียง เด็กๆ ที่เข้ามาทำกิจกรรมกับโรงเรียนวันเสาร์ของศูนย์แสงอรุณมาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งชาวล่าหู่ หรือมูเซอ ชาวลีซอ และชาวไทยใหญ่ที่ไม่ได้รับสัญชาติไทย เด็กๆ จากหมู่บ้านจะมารวมตัวกันที่ศูนย์เพื่อทำกิจกรรมตลอดทั้งวัน โดยมีรุ่นพี่ๆ ในชุมชนแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบจัดกิจกรรมที่หลากหลายให้กับน้องๆ ที่มาที่ศูนย์ จนพี่ๆ กลุ่มนี้กลายเป็น “มดงาน” ในการสร้างสรรค์กิจกรรมให้กับเด็กๆ

ความเป็นมาของการเกิดกิจกรรมวันเสาร์ในศูนย์แสงอรุณให้กับเด็กๆ กลุ่มนี้ เกิดจากความคิดของ “คุณคอยน์” พัดชา พรสกุลไพศาล ที่ต้องการสร้างพื้นที่เรียนรู้บนโลก 2 ใบของเด็กๆ “พวกเขาเหล่านี้อยู่กับโลก 2 ใบ โลกใบหนึ่งคือโลกที่ศูนย์แสงอรุณ ที่ช่วยขัดเกลาเด็กๆ ให้รู้ภัยของยาเสพติดภูมิชีวิตจิตใจที่เข้มแข็ง โลกอีกใบหนึ่ง คือโลกที่บ้าน มีเพื่อน มีครอบครัว มีพ่อแม่ที่ใช้ยาเสพติดเพราะต้องทำงาน สิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยยาเสพติดและอบายมุข” คุณคอยน์กล่าว

Advertisement

ด้วยความตั้งใจของคุณคอยน์ที่ต้องการปลูกฝังให้เด็กๆ กลุ่มนี้เรียนรู้ที่จะอยู่บนโลกทั้ง 2 ใบได้อย่างเข้าใจและมีวิจารณญาณในการตัดสินใจ หลีกเลี่ยงการใช้ยาถึงแม้เป็นบริบทในการใช้ชีวิต จึงเกิดการรวมตัวกันของเด็กและเยาวชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า หมุนเวียนพลัดเปลี่ยนกันมาทำกิจกรรม มีกลุ่มพี่มดงานซึ่งเรียนอยู่ในระดับชั้น ม.1-6 เป็นผู้นำกิจกรรม ช่วยกันวางแผน ออกแบบกิจกรรมที่ตนและเด็กๆ สนใจ มีกลุ่มเป้าหมาย คือ  น้องเด็กเล็กระดับ ป.1-6 จากการดำเนินกิจกรรมของโรงเรียนวันเสาร์กว่า 5 ปีพบว่าเด็กที่เล็กที่สุดที่เข้ามาทำกิจกรรมกับพี่ๆ คือเด็กก่อนวัยเรียนอายุเพียง 3 ขวบก็สามารถมาร่วมกิจกรรมกับพี่ๆ ได้

กิจกรรมสร้างสรรค์ที่จัดในโรงเรียนวันเสาร์แบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงเช้าจะเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกัน มีพี่มดงานเป็นผู้นำกิจกรรมนันทนาการ โดยกิจกรรมเน้นทักษะการคิดในการใช้ชีวิต ประเด็นเรียนรู้เพื่อเท่าทันโลก เช่น เรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัย เรื่องยาเสพติด เรื่องในพระคัมภีร์ เรื่องการเมือง ช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมทางเลือกที่เด็กๆ สามารถเสนอสิ่งที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติมได้ เป็นกิจกรรมพี่สอนน้อง โดยพี่ที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีความสามารถพิเศษด้านใดด้านหนึ่งสามารถเป็นผู้นำกิจกรรมสอนน้องได้ เช่น สอนเล่นดนตรี สอนการบ้านวิชาต่างๆ สอนทำอาหาร สอนทำขนม

ในกรณีที่เด็กๆ ลงความเห็นว่าอยากเรียนรู้เรื่องใหม่ที่นอกเหนือจากสิ่งที่พี่มดงานสามารถสอนได้ คุณคอยน์จะติดต่อประสานงานอาสาสมัคร นิสิตนักศึกษา หน่วยงานภายนอกให้เข้ามาช่วยทำกิจกรรมให้ เช่น ประสานงานให้พี่ๆ นักศึกษามาช่วยติว O-NET ให้ “เด็กๆ ไม่คิดว่าพวกเขาเป็น ‘คนด้อยโอกาส’ แต่เป็น ‘คนได้โอกาส’ เพราะมีพื้นที่ได้ฝึก ได้เห็นคุณค่าในตัวเอง และสามารถสร้างคุณค่าให้มีที่ยืนในสังคมได้” คุณคอยน์กล่าว

Advertisement

การทำงานของคุณคอยน์กับเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงกว่า 5 ปี สะท้อนให้เห็นถึงพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ซ่อนอยู่ในกิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย พื้นที่อิสระทางความคิด พื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น สิ่งเหล่านี้ประกอบกันทำให้โรงเรียนวันเสาร์เปรียบเสมือนปราการแข็งแกร่งทางความคิดและจิตใจของเด็กๆ กลุ่มนี้ เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปที่ตัวเด็กกลุ่มเสี่ยงกลุ่มนี้เฉพาะแล้ว จะเห็นได้ถึงการทับซ้อนของความเหลื่อมล้ำหลากหลายมิติ

การเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศไทย เมื่อพิจารณาเรื่องการเข้าถึงการศึกษา แม้เด็กเหล่านี้ได้รับสัญชาติไทยด้วยภูมิลำเนาถิ่นเกิด แต่การศึกษาไทยแบบรัฐกลางไม่ได้เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมให้กับเด็กกลุ่มนี้เลย มิติที่ซ่อนอยู่คือเรื่องภาษา ประเด็นแรก ภาษาไทยกับภาษาแม่ เด็กๆ กลุ่มนี้พูดภาษาแม่ที่บ้านซึ่งแต่ละชนเผ่าก็มีภาษาแตกต่างหลากหลาย การรู้ภาษาไทยแบบอ่านออกเขียนได้จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนักเมื่อเทียบกับเด็กที่เกิดมาใช้ภาษาไทยกลางที่บ้าน โรงเรียนรัฐในระดับประถมศึกษาที่ตั้งอยู่ในเขตบริการมีการเตรียมความพร้อมเด็กๆ ให้อ่านเขียนโดยคำนึงถึงการเรียนรู้ภาษาที่ต่างกันนี้หรือไม่ นี่คือมิติความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม

ประเด็นต่อมา วัฒนธรรมชนเผ่ากับความกดทับเพศหญิง วัฒนธรรมกระแสหลักที่กดทับวัฒนธรรมกระแสรองอย่างภาษา เป็นหนึ่งอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาที่รัฐจัดการให้เพื่อพัฒนาศักยภาพมนุษย์ หากแต่ในวัฒนธรรมชนเผ่าส่วนหนึ่งไม่ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีการศึกษามาก การพัฒนาศักยภาพจึงไม่สามารถเทียบเท่าชาย จนต้องตกอยู่ในสภาวะพึ่งพิง ประเด็นนี้อาจวิเคราะห์ได้ว่าเป็นความเหลื่อมล้ำในการได้รับการพัฒนาซึ่งเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับเพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้นโดยอิสรภาพ ด้วยสภาวะพึ่งพิงทำให้ผู้หญิงไม่สามารถมีปากเสียง ตกอยู่ในสภาวะจำยอม อยู่กับความรุนแรงอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงอื่นๆ เช่น เรื่องความทารุนทางเพศ การค้ามนุษย์ การบังคับเสพและค้าสิ่งเสพติด อันเป็นผลจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม อาชีพที่กลุ่มชนเผ่าประกอบส่วนหนึ่งเป็นชาวเกษตร ต้องปลูกกระเทียม พืชพันธุ์บนพื้นที่สูง การทำไร่ตามแบบวิถีชีวิตต้องทำกลางคืนและเพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมากจำเป็นต้องใช้สิ่งเสพติดเพื่อให้ขยันขึ้น ส่วนหนึ่งรับแรงกดดันจากเศรษฐกิจแบบใหม่ไม่ไหว จึงต้องตัดสินใจทำธุรกิจผิดกฎหมายอย่างการผลิตและค้ายา

เครื่องมือที่นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างการศึกษา บวกกับแรงบีบคั้นทางสังคมโดยเฉพาะความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ทำให้ที่ยืนในสังคมไทยมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ หากพัฒนาตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป การตัดสินใจเข้าสู่วงจรสีเทาของกลุ่มชนเผ่าจึงเป็นเรื่องที่พบเห็นได้โดยรอบบริเวณที่ศูนย์แสงอรุณตั้งอยู่ หากปราศจากการติดตั้งความคิด สร้างแรงบันดาลใจ เสริมโอกาสที่ได้เห็นตัวอย่าง

ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการมีความหวังจะมีชีวิตที่ดีขึ้น อนาคตที่งดงามของเด็กและเยาวชนใน 3 หมู่บ้านรอบศูนย์แสงอรุณคงเป็นได้เพียงฝันไกล แต่ทุกวันนี้ เด็กๆ และพี่มดงานที่นี่มีฝันใหม่ที่ศูนย์แสงอรุณ เพราะพ่อแม่ ครอบครัวของพวกเขารับรู้ เข้าใจ และสนับสนุนการทำงานของศูนย์ ส่วนหนึ่งตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่โดยปราศจากการใช้สารเสพติดไม่บังคับให้ลูกหลานข้องเกี่ยวกับยา สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติและสร้างครอบครัวที่อบอุ่นให้คืนกลับมาอีกครั้ง

ศูนย์แสงอรุณเป็นพื้นที่ที่ทำงานทวนกระแสนโยบายการปราบปรามยาเสพติด ที่ยิ่งปราบปรามยิ่งเพิ่ม การสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง การมีอคติต่อชนกลุ่มน้อย ความไม่เท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ระบบโรงเรียนที่ล้าสมัย เพิกเฉยต่อโจทย์ปัญหาใกล้ตัวเด็ก องค์ประกอบนี้ล้วนมีผลทำให้ชนกลุ่มน้อยถูกผลักอยู่ชายขอบ กักพื้นที่ในการทำมาหากิน โอกาสทางการศึกษา ยิ่งได้รับการกดดันจากชุมชน วิถีชีวิตที่ต้องใช้ยาเสพติดในการทำงาน การเจ็บป่วย เพิ่มฐานะทางสังคมให้ร่ำรวย การค้ายาบ้าจึงเป็นหนทางหลักที่แทบไม่มีทางเลือก

นี่คือเหตุผลสำคัญที่ยาบ้าไม่เคยหมดไปจากสังคมไทยได้ รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตาสว่างหรือยังกับนโยบายที่ผ่านมาโดยตลอด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image