ทำไมเราต้องยุบโรงเรียน???

คําถามสำหรับประเทศไทย ทำไมเราจึงจำเป็นจะต้องยุบโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก จากคำถามนี้ขยายไปถึง ทำไมเราจึงต้องยุบมหาวิทยาลัย หรือทำไมเราจึงต้องขายมหาวิทยาลัยเอกชนให้ต่างชาติ ทำไมเราต้องปฏิรูปหลักสูตร ทำไมเราต้องปฏิรูปโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ ทำไมเราต้องหนีการตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติ คำถามนี้มาจากปัญหาที่น่าจะเกี่ยวเนื่องกัน

รากเหง้าที่แท้จริงเริ่มจากความล้มเหลวของการศึกษาไทย ปัญหาการเกิดของเด็กไทยลดลง สถิติจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ในปี 2539 เด็กไทยเกิดประมาณ 1 ล้านคนต่อปี (994,118 คน/ปี) ปี 2561 เด็กไทยเกิด 6.7 แสนคน/ปี (666,109 คน) เด็กไทยเกิดลดลงถึง 33% จำนวนเด็กที่เข้าโรงเรียนจึงลดลง

โรงเรียนประถมศึกษาหลายแห่ง เดิมเคยมีนักเรียน 500 คน วันนี้ลดลงมาเหลือ 250-300 คน โรงเรียนที่เคยมีนักเรียน 150-120 คน วันนี้ก็ลดลงมาเหลือประมาณ 60-90 คน โรงเรียนที่เคยมีนักเรียน 60-70 คน เด็กก็ลดลงเหลือ 30-40 คน ส่วนโรงเรียนที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้ว ต่ำกว่า 50 คนลงมา เด็กยิ่งลดลงมาก บางแห่งเหลือเด็กเรียนอยู่ไม่ถึง 20-30 คน หากเป็นธุรกิจเอกชน ถ้าขืนดำเนินการต่อไปก็มีแต่จะขาดทุน มีมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งนักศึกษาลดลง แม้มหาวิทยาลัยของรัฐบาลหลายแห่งนักศึกษาก็ลดลงเช่นกัน

ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง เมื่อ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาสังคมเปลี่ยนไปเร็วมาก การคมนาคมสะดวกขึ้น ถนนหนทางดีขึ้น มีการลาดยางเข้าสู่ทุกหมู่บ้าน ยานพาหนะในสังคมมีมากขึ้น รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ มีทุกครัวเรือน พ่อแม่ในชนบทนิยมส่งลูกเข้าเรียนในเมือง ลูกคนรวยที่พอมีเงิน หรือลูกครูที่เป็นลูกข้าราชการอยู่ในชนบทนิยมส่งลูกเข้าเรียนในเมือง โรงเรียนในหมู่บ้านในชนบท เด็กจึงยิ่งลดลงคงเหลือแต่เด็กที่พ่อแม่ยากจน หรือพ่อแม่ต้องการให้ช่วยงานที่บ้าน

Advertisement

ข้อเสนอแนวทางที่รัฐบาลควรแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กมีอยู่ 3 แนวทางคือ 1) ให้ยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีความพร้อมทั้งครู นักเรียน ชุมชนไปเลย 2) ให้ยุบรวมหรือควบรวมในโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงกันเข้าด้วยกัน อาจมากกว่า 2 โรงเรียนขึ้นไปก็ได้ ขณะนี้มีหลายประเทศที่ทำเช่นนี้ เช่น โรงเรียนระดับประถมศึกษาในสหรัฐ ที่รัฐนิวยอร์ก โรงเรียนในหมู่บ้าน Sherburne และหมู่บ้าน Erwin ได้ยุบรวมเข้าด้วยกันตั้งเป็นโรงเรียนใหม่ชื่อ Sherburne Erwin School ตั้งอยู่ระหว่างสองหมู่บ้าน ห่างจากหมู่บ้านละประมาณ 2 กม. ทางโรงเรียนมีบริการจัดรถรับส่งนักเรียน เรียกว่า School Bus 3) ไม่ต้องยุบโรงเรียนแต่ให้เพิ่มบทบาทโรงเรียน ให้โรงเรียนสอนพ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้สูงอายุในชุมชน สอนความรู้เรื่องเทคโนโลยี ธุรกิจเบื้องต้น การเงินการลงทุน ใช้หลักสูตรระยะสั้น (Short Course) 1-3 เดือน โรงเรียนเป็นสถาบันของหมู่บ้าน เป็นสถาบันของชุมชน เมื่อมีอยู่ในสังคมแล้วหากยุบไปก็น่าเสียดาย ควรพัฒนาปรับปรุงบทบาทใหม่ให้โรงเรียนเป็นสถาบันการศึกษาของประชาชนในหมู่บ้าน เป็นแหล่งประชุมพบปะหรือจัดให้เป็นศูนย์พัฒนาอาชีพและวัฒนธรรมชุมชน ย่อมเกิดประโยชน์ทางด้านการศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน

ประชาชนในท้องถิ่นชนบท ครูหรือชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์หวงแหนโรงเรียนไว้แม้ไม่มีลูกหลานส่งเข้ามาเรียนก็เพราะเขามองว่าโรงเรียนคือสถาบันทางสังคมที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนามายาวนาน จนถือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน คนกลุ่มนี้บางคนไม่มีลูกไม่มีหลานจะส่งมาเรียนแต่ก็จะหวงเอาไว้เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์สถาบันทางสังคม กระทรวงศึกษาและรัฐควรหาวิธีการพัฒนาให้สถาบันเช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีครอบครัวแล้วแต่ขาดโอกาสทางการศึกษา

ปัญหาโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ มีข้อเสนอว่า นักบริหารระดับสูงไม่ควรคิดเฉพาะสมการที่ซับซ้อนเกินไป บางกรณีควรใช้สามัญสำนึก (Common sense) ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ ให้นำบทเรียนความพ่ายแพ้จากประวัติศาสตร์การเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 2 ได้ไหมครับ

Advertisement

คำตอบของการรบจะแพ้หรือชนะ

คำตอบอยู่ที่แนวหน้าสมรภูมิ กรุงศรีอยุธยาแตกเพราะอำนาจการสั่งการรบมีหลายขั้นตอน การจะสั่งยิงปืนใหญ่ถล่มศัตรูต้องทำรายงานขออนุญาตเข้าไปยังสำนักพระราชวัง ทางสำนักต้องแจ้งให้พระสนมทั้งหลายทราบว่าทหารจะยิงเมื่อใด ให้สนมได้อุดหูก่อน เมื่อสนมทราบแล้วอุดหูเสร็จทุกนางแล้วจึงอนุมัติให้ทหารในสมรภูมิแนวหน้ายิงปืนใหญ่ได้ กว่าจะยิงปืนใหญ่แต่ละลูกได้พม่าก็ประชิดกำแพงเมืองแล้ว จะเอาอะไรไปต่อสู้กับศัตรูได้

โครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการที่ คสช.ใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัดขึ้นมาโดยไม่ยุบองค์กรเดิมคือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานั้น ทำให้สายงานแนวหน้าใกล้สนามรบเกิดความซ้ำซ้อนและยืดยาวออกไป โรงเรียนซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการรบเพื่อให้ได้ชัยชนะ ไม่รู้ว่าจะฟังใคร นายหลายคนหลายซั้น ไม่ทราบเหตุผลใดที่คณะกรรมการยกร่างโครงสร้างดังกล่าว หรือมีเจตนาจะให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวในการสั่งการบังคับบัญชา หรือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ผลการปฏิบัติจากคำสั่งดังกล่าวได้ผ่านมานานพอสมควรแล้ว ก็ได้คำตอบว่าไม่จริง แก้ปัญหาไม่ได้ มีแต่สร้างปัญหาและเพิ่มปัญหา

ข้อเสนอต่อรัฐจากหน่วยรบหรือหน่วยปฏิบัติคือโรงเรียน เราต้องการให้มีหน่วยบังคับบัญชาที่มีอำนาจเต็มเพียงหน่วยเดียวอยู่ในระดับกระทรวง โดยสั่งการผ่านสำนักที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษาแต่ละประเภทแต่ละระดับตรงถึงศูนย์บัญชาการระดับจังหวัดและถึงโรงเรียนเลย ส่วนปัญหาการบริหารงานบุคคล การบังคับบัญชาในระดับหน่วยรบหรือหน่วยปฏิบัติ ต้องมอบให้ผู้บัญชาซึ่งทำหน้าที่เป็น CEO (Chief Executive Officer) ให้มีอำนาจเต็มสั่งการบังคับบัญชาได้เต็มที่อย่าให้มีอำนาจอื่นแทรกซ้อน ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด หรืออำนาจของอนุกรรมการบริหารงานบุคคลใดๆ ส่วนการบริหารงานบุคคลในรูปคณะกรรมการ เช่น อ.ก.ค.ศ. หรือ กศจ.ให้เป็นได้เพียง “คณะกรรมการที่ปรึกษาเท่านั้น” เพราะคณะบุคคลที่ถูกเลือกตั้งและสรรหาเขาโดยวิธีการเลือกตั้งหรือสรรหานี้ล้วนมาเพราะหวังผลประโยชน์ อันเป็นรากเหง้าของคอร์รัปชั่น บุคคลคณะอนุกรรมการเหล่านี้ไม่มีอำนาจหน้าที่ใน “ภาวะความรับผิด (Accountability)” หากมีความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจสั่งการที่ผิดพลาดขึ้นจะไม่มีคนรับผิดชอบ แตกต่างจากการมอบอำนาจเต็มให้ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือศึกษาธิการจังหวัด ที่มีหน้าที่โดยตรงต่อผลของการสั่งการบังคับบัญชา เพราะเป็น CEO ขององค์กร

แต่ที่ผ่านมามีข้อผิดพลาดคือ คณะกรรมการยกร่างโครงสร้างของกระทรวงได้ให้บุคคลที่เลือกตั้งมาหรือคัดเลือกมามาเป็นประธานคณะกรรมการบริหารงานบุคคล ให้ CEO ขององค์กรเป็นเพียงเลขานุการของคณะกรรมการ อ.ก.ค.ศ. หรือเป็นเพียงเลขานุการของ กศจ.เท่านั้น จึงเกิดการปัญหาการล็อบบี้ในกลุ่มเรียกทุนคืน การบริหารงานบุคคลในระดับจังหวัดและระดับประเทศจึงมีปัญหาไม่สิ้นสุด หากยังคงคณะอนุกรรมการบริหารงานบุคคลคณะนี้ไว้ ก็ให้เลือกผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดขององค์กรเท่านั้นเป็นประธานคณะอนุกรรมการชุดนี้

การศึกษาไทยที่ผ่านมา นอกจากมีวิกฤตทางด้านคุณภาพการศึกษาแล้ว ยังมีระบบการศึกษาที่ล้มเหลวทั้งองค์รวมเป็นองค์รวมทั้งหมดได้ทำลายล้างคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของมนุษย์ไปด้วยคือ คุณสมบัติพื้นฐานที่ 1 คือความรู้สึกอยากรู้อยากเรียน (Eager to Learn) คุณสมบัติประการต่อไปคือ ความต้องการแข่งขันกัน คือทั้งแข่งขันกับตนเองและแข่งขันกับคนอื่นเพื่อเอาชีวิตให้รอด เหมือนเด็กจีนเกิดมาต้องแข่งขันเพื่อแย่งที่เรียน ต้องเรียนให้เก่ง ต้องสอบให้ได้ลำตับที่ต้นๆ คุณสมบัติพื้นฐานประการต่อไปคือเด็กต้องมีความขยันอดทนเป็นนิสัย ต้องรู้จักทำงานหาเลี้ยงชีพช่วยพ่อแม่ เรียนรู้การทำมาหากินจากครอบครัวและชุมชน ต้องรู้จักวางแผนจัดบริหารเวลาของตนเอง ต้องมีความกล้าหาญกล้าเสี่ยงกล้าที่จะลงทุน กล้าที่จะเป็นผู้ประกอบการเองแสวงหารายได้เอง ต้องมีจิตสาธารณะช่วยเหลือส่วนรวมสังคมและผู้อื่น มี Empathy คือเข้าใจเห็นอกเห็นใจคนอื่น

ปัญหาความล้มเหลวของการวัดประเมินผลการศึกษาไทยเกิดจากการสอบตกไม่เป็น สอบตกแล้วไม่ต้องเรียนซ้ำชั้น ครูต่างชาติที่เข้ามาสอนนักเรียนไทยจะบ่นในคำเดียวกันนี้ เด็กไทยสอบตกไม่ได้ การสอบไล่ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นประจักษ์ ก็เหมือนนักกีฬาซ้อมกีฬามาเพื่อจะแข่งขันเข้ารอบในปลายปี พอถึงฤดูแข่งขันก็ปรากฏว่า ทุกทีมที่เข้าร่วมแข่งขันชนะหมดทุกทีม ไม่มีทีมแพ้ตกรอบ นักกีฬาก็ไม่ต้องกระตือรือร้นที่จะฝึกซ้อมเพราะถึงอย่างไรก็เข้ารอบแน่นอน การสอบซ่อมก็เหมือนการให้ยิงลูกโทษ ถ้ายิงไม่เข้าก็ให้ยิงใหม่จนลูกเข้าประตู ความขยัน ความอดทน ความมานะพยายามจึงไม่มี กีฬาการศึกษาไทยจึงไม่มีโอกาสถึงแชมป์โลก

การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาและการวัดประเมินผลที่ชี้เป็นชี้ตายจึงจำเป็นต่อทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 ทักษะรายวิชาใหม่ๆ ที่กำลังเปลี่ยนโลกอยู่ในขณะนี้ต้องนำมาบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา เช่น วิชา Coding, Programing, การบริหารจัดการด้านการเงินการลงทุน (money management, Investment), ความรู้ทางดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital Technology Literacy) และกลุ่มวิชา STEM, STEAM, Sciences, Engineering, Mathematic, Art.

ปัญหาภัยคุกคามจากการล่าอาณานิคมยุคดิจิทัล เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนไปธุระที่เขตห้วยขวาง กทม. ไปทานอาหารที่ร้านอาหารจีน มีคนจีนเป็นเจ้าของร้าน มีเด็กเสิร์ฟ มีพ่อครัว มีลูกค้า เป็นคนจีน ในย่านเดียวกันมีร้านอาหารที่คนจีนเป็นเจ้าของเป็นจำนวนมาก ลูกค้าส่วนหนึ่งเป็นคนจีน ขณะนี้แผ่นดินไทยถูกรุกเงียบโดยคนจีนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมทั้งเงินและความรู้ มีความขยันอดทนมากกว่าคนไทย ทำมาค้าขายเก่งกว่าคนไทย ธุรกิจหลายอย่างกำลังถูกคนจีนเข้าซื้อเอาเป็นเจ้าของ

บัดนี้ยุคล่าอาณานิคมได้เปลี่ยนรูปแบบจากเดิมไปแล้ว ตึกแถวอาคารพาณิชย์ โรงเรียน โรงแรม สวนทุเรียน สวนผลไม้ บ่อปลา กำลังเป็นของคนจีน การศึกษาของจีนเข้าสร้างคนเพื่อประกอบสัมมาอาชีพ ส่วนการศึกษาของไทยสอนคนให้เป็นลูกจ้างให้เป็นมนุษย์เงินเดือน ครับเป็นห่วงการศึกษาไทย

เพชร เหมือนพันธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image