เดินหน้าชน : มี‘ส.ส.’ไว้ทำไม

วันก่อน วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 พบความผิดปกติมากมายเกี่ยวกับการจัดทำเอกสารของบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง อาทิ กรมวิชาการเกษตรตั้งงบประมาณเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ 87 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 60,000 บาทต่อเครื่องต่อปี ถือว่าเป็นการใช้งบประมาณที่ส่อทุจริต ทั้งๆ ที่สำนักงบประมาณเคยมาชี้แจงว่า หากซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้จะอยู่ที่ราคาเครื่องละ 17,000 บาท และจากการตรวจสอบพบว่ากรมวิชาการการเกษตร มีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวมาก่อนแล้วหลายปี จึงเรียกขอดูทีโออาร์ แต่อธิบดีกรมวิชาการตอบเพียงว่าไม่มี

ผู้ที่มาชี้แจงไม่สามารถให้คำตอบได้ และตอบคำถามไม่ชัดเจนว่าทำไมต้องเช่าและตอบไม่ได้ในหลายประเด็น

เช่นเดียวกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทหาร สภาผู้แทนราษฎร ที่ได้เชิญปลัดกระทรวงกลาโหม และเสนาธิการเหล่าทัพต่างๆ มาชี้แจงข้อสงสัยกรณีที่งบประมาณกระทรวงกลาโหม จำนวน 233,000 ล้านบาท ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ซึ่งหลายรายการไม่ได้แจกแจงรายละเอียดการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะงบเกี่ยวกับการจัดซื้ออาวุธ และงบการปรับปรุงสมรรถนะกองทัพ ที่เขียนแค่บรรทัดเดียว

ซึ่งทุกเหล่าทัพที่มาชี้แจง ต่างไม่ยอมชี้แจง เหมือนมีสัญญาณบอกมาว่า ไม่ให้พูด บอกเพียงสั้นๆ ว่า เป็นเรื่องความมั่นคง และจะไปชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ต่อคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯเท่านั้น

Advertisement

เมื่อมาในขั้นตอน กมธ.งบฯ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะ กมธ.งบฯ ซักถามงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ที่ตั้งงบประมาณผูกพันข้ามปีกว่า 69,000 ล้านบาท โดยหลังรัฐประหาร 2557 งบก้อนนี้ขยายตัวเกือบ 100% ส่วนใหญ่คือการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ งบฯก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยและหอประชุมจำนวนมาก และถูกใช้เพื่อสร้างความโอ่อ่าหรูหราให้บุคคลระดับสูงในกองทัพมากกว่าเป็นสวัสดิการของทหารจริงๆ

5 ปีที่ผ่านมา คสช. ปู้ยี่ปู้ยำใช้จ่ายงบประมาณอย่างมือเติบ สนองตอบเฉพาะกลุ่มข้าราชการ อยากซื้ออาวุธก็ซื้อ ทั้งรถถัง เครื่องบิน เรือดำน้ำ ขณะที่ชาวบ้านทุกข์ยากแสนเข็ญ

ภายใต้อำนาจเผด็จการของ คสช. ใช้ช่องทาง ม.44 บัญญัติกฎหมายต่างๆ ขึ้นมาอย่างบิดๆ เบี้ยวๆ โดยขาดการตรวจสอบ ยิ่งบรรดาสภาฝักถั่วที่ถูกตั้งขึ้นโดยทหาร ไม่มีทางที่คนเหล่านี้จะกล้าออกมาปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติ เพราะคนเหล่านี้จะยกมือโหวตกฎหมายใดๆ ก็ตาม ก็จะทำตามใบสั่งของผู้มีอำนาจ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ในตำแหน่งและเงินเดือน แต่หลงลืมไปว่าเงินเดือนเหล่านี้ไม่ใช่มาจาก คสช. แต่คือภาษีหยาดเหงื่อของชาวบ้านทั้งนั้น

Advertisement

เห็นหรือยังว่า เหตุใดประเทศเราจึงมีความจำเป็นต้องมี ส.ส. หรือสภาผู้แทนฯ

ระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา มี 3 เสาหลัก คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ที่มีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน แต่ 5 ปีที่ผ่านมา อำนาจมันขาดการถ่วงดุล อำนาจประชาชนถูกตัดขาด ขณะที่ระบบราชการเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก

ผมว่าหลังเลือกตั้งอาจเป็นความโชคดีที่ได้ ชวน หลีกภัย เป็นประธานรัฐสภา เพราะตลอดอาชีพนักการเมืองของ “นายชวน” มีจุดยืนชัดเจน คือ ยึดมั่นในระบบรัฐสภา และผมก็เชื่อมั่นว่าช่วงปลายอาชีพนักการเมืองของนายชวน คงอยากกอบกู้วิกฤตศรัทธาของสภาผู้แทนฯและ ส.ส.กลับคืนมา

ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ส.ส.และสภาผู้แทนฯกำลังถูกบททดสอบอีกครั้ง คณะกรรมาธิการรัฐสภาถูกท้าทาย ถูกป่วน ถูกตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ ญัตติต่างๆ ที่เสนอเข้าสภาหลายญัตติซึ่งจะเป็นช่องทางประจานความเหลวแหลกของเผด็จการ กำลังถูกท้าทายถูกตีให้ตกหล่นเพราะไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับรู้

เสาหลักอย่าง “นิติบัญญัติ” เริ่มถูกตั้งคำถามขึ้นอีกครั้งว่า ส.ส.และคณะกรรมาธิการรัฐสภา ประชาชนหวังพึ่งพาได้แค่ไหน

ระบบรัฐสภาที่นายชวนยึดมั่นกำลังเดินเข้าสู่วิกฤตศรัทธาอีกครั้ง ศักดิ์ศรีของ ส.ส.ที่อ้างตัวว่ายึดโยงกับประชาชน กำลังถูกท้าทายจากพรรคข้าราชการและทหารที่กำลังกลืนกินประเทศนี้ หากระบบรัฐสภาพ่ายแพ้ก็กลับเข้าสู่วังวนเดิม

วันนี้ผมจึงตั้งคำถามให้ตัวเองอีกครั้งว่า ประเทศนี้มี ส.ส.ไว้ทำไม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image