ดุลยภาพดุลยพินิจ : วัตถุนิยมของชาวพุทธ ธาตุและสภาวธาตุ : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

ภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดบางขุนเทียนใน เจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรคนเจ็บ คนแก่ คนตายและสมณะ

ท่านพระอาจารย์ทิวา อาภากโร ได้กล่าวไว้ว่า ธาตุในพระพุทธศาสนาที่จริงแล้วเป็นสภาวะหรือ State มิใช่ Elements เหมือนดังที่แปลกันแบบตะวันตก

งานนิพนธ์ที่รจนาโดยพระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางพระอภิธรรมทั้งในไทยและพม่าต่างได้รับการแปลโดยใช้คำว่า Elements ในหนังสือฝ่ายพุทธทิเบตเล่มใหม่ๆ ก็ถูกแปลออกมาอย่างเดียวกัน คำภาษาอังกฤษนี้ให้นัยยะในทางที่เป็นตัววัตถุจึงอาจใช้ได้ดีกับความรู้ก่อนพุทธกาลซึ่งเชื่อว่าธาตุล้วนเป็นตัวตนทั้งสิ้น

ในพระพุทธศาสนา ธาตุถือเป็นความรู้ฝ่ายวัตถุที่สำคัญยิ่ง ทว่าสัจธรรมทางวัตถุเป็นสภาวะที่ไม่เที่ยงและไม่เป็นตัวตน พระพุทธศาสนาจึงแตกต่างจากลัทธิวัตถุนิยมทั้งเก่าและใหม่ทั้งหมด

พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องกายและกายในกายเพื่อให้เห็นความเป็นจริงของชีวิตและสังขารทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมสลายไป แม้แต่ในระดับปรมาณูและอนุภาคปรมาณูก็ไม่อาจคงตัวถาวร ทั้งกายหยาบและกายละเอียดล้วนเกิดขึ้นและเสื่อมดับไป

Advertisement

ชีวิตเป็นสิ่งที่ประกอบด้วยกายและจิตหรือรูปและนาม ในสมัยก่อนพุทธกาลฝ่ายจิตนิยมมองว่าจิตเป็นนิรันดร์และกำหนดวัตถุ ฝ่ายวัตถุนิยมมองว่าวัตถุเป็นนิรันดร์และกำหนดจิต ฝ่ายทวินิยมมองวัตถุบางส่วนกำหนดจิตได้ในขณะที่จิตบางส่วนกำหนดวัตถุ

พราหมณ์พระเวทเชื่อในลิขิตของพระผู้เป็นเจ้าและเป็นฝ่ายจิตนิยม เมื่อกายดับจิตยังคงอยู่ ลัทธิวัตถุนิยมสุดขั้วหรือโลกายัตซึ่งมีจารวากและอชิตเกสกำพลเป็นเจ้าลัทธิเชื่อในวัตถุเท่านั้น เมื่อกายดับจิตก็สูญไป ส่วนลัทธิทวินิยมแบบทราวิฑอันได้แก่ลัทธิสางขยะ (พระอาจารย์อาฬารดาบส กาลามโคตร) ลัทธิไวเศษิกะ (พระอาจารย์อุทกดาบส รามบุตร) และลัทธินิครนถ์เชื่อว่าทั้งกายและจิตไม่ดับจริง

ความรู้เรื่องกายและกายส่วนย่อยมีมาก่อนพุทธกาลโดยมีคำหลายคำที่ใช้กันมาก่อน แต่ไม่ควรตีความว่าความรู้ด้านวัตถุในพระพุทธศาสนามาจากลัทธิอื่น

Advertisement

ลัทธิสางขยะเป็นสำนักความรู้ทางศาสตร์ที่สืบทอดมาแต่ก่อนพุทธกาล มีการแบ่งกายเป็นอินทรีย์ จากอินทรีย์แบ่งเป็นธาตุซึ่งได้แก่มหาภูตห้า (ดิน ไฟ ลม น้ำและ “อากาสะ”) จากธาตุก็เป็นปรมาณู ลัทธิไวเศษิกะขยายความรู้ต่อโดยเน้นลักษณะพิเศษและหน่วยย่อยที่สุดคือปรมาณูซึ่งได้แก่ ปรมาณูดิน ปรมาณูไฟ ปรมาณูลมและปรมาณูน้ำ ส่วนอากาสะคือช่องว่าง ไม่ใช่อภาวะหรือความไม่มี นอกจากนี้ก็มีธาตุที่เกี่ยวกับจิตและอื่นๆ อีก

สำนักสางขยะและไวเศษิกะมีมติด้านวัตถุว่ากายส่วนที่ย่อยลงไปถึงปรมาณูมีความเที่ยงและเป็นผู้สร้างวัตถุที่เป็นกายหยาบ วัตถุที่ละเอียดและจิตอยู่ร่วมกันโดยประกอบเป็นชีวิต เมื่อชีวิตดับ กายหยาบก็จะสลายไปแต่ตัวต้นธาตุหรือปรมาณูยังคงอยู่เป็นนิรันดร์

ปกุทธกัจจายนะซึ่งเป็นเจ้าลัทธิวัตถุนิยมแบบไวเศษิกะก็เชื่อแบบเดียวกัน โดยเห็นว่าชีวิตเป็นเพียงการรวมตัวของปรมาณูหรือธาตุ กองดินรวมกันเป็นกองดิน กองน้ำรวมกันเป็นกองน้ำ การทำร้ายชีวิตเป็นเพียงการที่อาวุธเข้าไปที่ช่องว่าง ธาตุทั้งสี่ยังคงอยู่ การปลงชีวิตจึงถือว่าไม่มีจริง

ความรู้ด้านวัตถุในพระพุทธศาสนามิได้เป็นแบบดังกล่าว อีกทั้งมีรายละเอียดที่พิสดารกว่ามาก มีความถูกต้องกว่าวิทยาศาสตร์ที่เคยค้นพบอะตอมและเชื่อว่ามีขนาดเล็กที่สุดแล้ว

กายในคัมภีร์พระพุทธศาสนาแบ่งเป็นกายย่อยหรือกายในกาย กายเป็นกองรูปขันธ์ เช่นอวัยวะของร่างกาย อายตนะก็เป็นกายในกาย ย่อยลงไปเป็นกลาปะอันเป็นกองของกายหน่วยย่อยแต่มิได้เป็นหน่วยวัดเหมือนอณูและปรมาณู อณูมีขนาดเล็กประมาณละอองอากาศซึ่งพอจะเห็นได้ด้วยตาเนื้อ เล็กลงไปกว่านั้นเป็นขนาดของปรมาณูซึ่งสมาธิหรือฌานอาจช่วยให้เห็นขนาดระดับนั้นได้ ถ้าเราอาศัยความในอรรถกถา ปรมาณูถือว่าเล็กกว่าอะตอมของก๊าซไฮโดรเจนเล็กน้อย ปรมาณูนี้มิใช่ปรมาณูตามความเห็นของไวเศษิกะ หากยังแบ่งย่อยเล็กลงไปได้อีกมากมาย

อัฏฐกลาปะเป็นกลาปะที่เล็กที่สุด โดยมีองค์ประกอบ 8 อย่างที่อยู่ร่วมกัน ได้แก่ธาตุที่เป็นมหาภูตรูปทั้งสี่และธาตุอื่นที่เป็นอุปาทายรูปอีกสี่ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รสและโอชา อุปาทายรูปเป็นรูปที่อาศัยอยู่กับมหาภูตรูป ทำให้ธาตุสี่แสดงคุณลักษณะแตกต่างกันออกไป

กลาปรูปอาจมีองค์ประกอบมากกว่า 8 อย่าง มีองค์ประกอบที่ทำหน้าที่หลักและหน้าที่ประกอบ แต่ต้องอาศัยองค์ประกอบทั้งหมดร่วมกัน บางกลาปะทำหน้าที่ให้รูปคงตัวอยู่ได้ เมื่อกลาปะ
นั้นดับไป รูปก็หมดความคงตัวเช่นเน่าเปื่อยไปเป็นต้น

กลาปะก่อกำเนิดและเติบโตได้ตามเหตุปัจจัยเช่นกัน กลาปรูปเริ่มแรกของชีวิตในครรภ์มารดาเรียกว่ากลละ โดยเป็นจุดน้ำใสที่มีปฏิสนธิจิตและสามารถเติบโตจนประกอบเป็นก้อนเนื้อและร่างกายที่คลอดออกจากครรภ์มารดา แต่เมื่อเติบโตแล้วก็ย่อมเสื่อมและสลายไปตามปัจจัยและกาลเวลา กลละเป็นปฐมชีวิตที่มีความเป็นเพศจึงนับว่ามีจำนวนองค์ประกอบแรกเริ่มเท่ากับ 9

ธาตุในพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงกันมากที่สุดคือมหาภูตรูปหรือธาตุสี่ บางทีเรียกกันว่าต้นธาตุหรือแม่ธาตุ ในสมัยก่อนพุทธกาลเรียกว่าจตุมหาภูต เข้าใจว่ายังไม่มีการแยกรูปและนาม ธาตุดินมีลักษณะแข็งหรืออ่อน ธาตุไฟมีลักษณะร้อนหรือเย็น ธาตุลมมีลักษณะพัดไหวหรือตึง ธาตุน้ำมีลักษณะที่ไหลหรือเกาะกุม

ธาตุ 6 ได้แก่ ธาตุ 4 บวกด้วยอากาศธาตุและวิญญาณธาตุ อากาศธาตุเป็นช่องว่างระหว่างธาตุเหมือนความรู้ก่อนพุทธกาล วิญญาณธาตุเป็นธาตุที่ทำหน้าที่รับรู้ของคนและสัตว์ บางทีเรียกกันสั้นๆ ว่าธาตุรู้ วิญญาณธาตุนี้ยังมีรายละเอียดออกไปอีกมากมาย เราจะสังเกตได้ว่าในสมัยพุทธกาลและก่อนพุทธกาลคำว่าธาตุไม่จำกัดอยู่กับเรื่องวัตถุธาตุเท่านั้น

ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ยมกปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า
กายจริงและกายเนรมิต

ธาตุทั้งหลายมีความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบหรือคุณลักษณะได้และไม่เป็นตัวตน รูปธาตุในพระพุทธศาสนาจึงเป็นสภาวะ มิใช่ตัวธาตุ

ความคุ้นเคยเกี่ยวกับกาย กายในกาย กายหยาบ กายละเอียด กลาปรูป มหาภูตรูปและอุปาทายรูปล้วนมีผลต่อความทรงจำและการตีความของจิต

ในแง่ของการปฏิบัติธรรม ชาวพุทธมีแนวทางให้จิตเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะของกายและจิตและความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงต่อกัน มักเริ่มที่ความเข้าใจเกี่ยวกับกายหรือรูปซึ่งผู้ปฏิบัติเห็นชัดก่อนแล้วค่อยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับจิตหรือนามต่อไป

การสังเกตพิจารณากายมีตั้งแต่ระดับหยาบจนกระทั่งละเอียดมากได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟันและหนัง (มูลกรรมฐานห้า) กายส่วนต่างๆ (อาการ 32) การเคลื่อนไหวหลักของร่างกาย (อิริยาบถ) ความรู้ตัวตามการกระทำทางกาย (สัมปชัญญะ) ลมหายใจ (อานาปานสติ) จนถึงสภาวธาตุ (ธาตุสี่)

กองธาตุที่สังเกตได้ง่ายคือกองธาตุดินเพราะแสดงสภาวะที่แข็งทึบ แต่ธาตุทั้งหลายนั้นมิได้อยู่โดดเดี่ยว ผม ขน เล็บ ฟันและหนังซึ่งมีสภาวธาตุดินมากก็มีสภาวธาตุทั้งสี่อยู่ร่วมด้วย แม้แต่ลมหายใจก็มีธาตุทั้งสี่ มิได้เป็นตัวธาตุลมล้วนๆ

สำหรับคำอธิบายดังกล่าวนี้ หลวงปู่หลุย จันทสาโรได้ชี้แนะท่านพระอาจารย์ทิวา อาภากโรตั้งแต่เมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว

ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา สสารมีองค์ประกอบที่เคลื่อนไหวเกิดดับด้วยความถี่อันละเอียดยิ่ง เปลวไฟมิใช่ตัวเปลวไฟ หากแต่มีการเปลี่ยนแปลงของธาตุที่แสดงความเป็นไฟและมีการเกิดดับนับครั้งไม่ถ้วน การกะพริบตาก็มีการเคลื่อนไหวที่เกิดดับนับครั้งไม่ถ้วนเช่นเดียวกัน

นักวิทยาศาสตร์เรียกสิ่งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาวธาตุว่าพลังงานในขณะที่ชาวพุทธเรียกการเปลี่ยนแปลงของสภาวธาตุว่าเป็น “การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี” (Biochemical changes) และ “ความสั่นสะเทือน” (Vibrations)

ผู้ที่เจริญฌานแบบพุทธมักเรียกประสบการณ์บางประการว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี เป็นปีติและสุขที่เกิดขึ้นในทุติยฌานหรือสูงกว่านั้น ความรู้สึกทางกายที่เบาสบายมักเกิดขึ้นและบางทีอาจรู้สึีกสงบเย็นอย่างยิ่งคล้ายการหลั่งของสารเอ็นดอร์ฟิน

ปีติมักเป็นความรู้สึกสั่นสะเทือนตามร่างกายที่รับรู้ได้ในระดับอุปจารสมาธิจนถึงระดับที่ละเอียดในอัปปนาสมาธิและทุติยฌาน

ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าอบรมอานาปานสติและการสังเกตความรู้สึก ท่านได้เคยบรรยายย้ำถึงความโดยย่อในพระไตรปิฎกว่าโลกทั้งหมดเต็มไปด้วยความสั่นสะเทือนซึ่งมีในภาษาบาลีว่า “สัพพะโลโก ปกัมปิโต”

ข้อความนี้อยู่ในอุปจาลาสูตร

ในทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ สสารมีพลังงานที่มาจากความสั่นสะเทือนและในพลังงานก็มีสสาร การค้นพบนี้ถือว่าสนับสนุนคำสอนในพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม ในทางพระพุทธศาสนา ทั้งกายและจิตต่างก็มีการสั่นสะเทือนอันละเอียดและรวดเร็ว

การทำงานของทั้งกายและจิตมีอยู่ตลอดเวลาและมีความเชื่อมโยงที่ส่งผลต่อกันแบบปัจจยาการ ความสัมพันธ์ระหว่างกายและจิตมีลักษณะกลางๆ ไม่สุดโต่งไปทางหนึ่งทางเดียว พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเป็นคำเฉพาะในระดับที่ละเอียดลึกซึ้งว่าปฏิจจสมุปบาท

ในปัจจุบันมีศึกษามากขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมแบบพุทธและผลที่มีต่อร่างกาย มีการค้นพบสารฮอร์โมนที่ช่วยลดความเครียดอย่างคอร์ติซอล มีการพบผลที่มีต่อความถี่ของคลื่นสมองซึ่งสัมพันธ์กับการพักสมอง (แต่ยังต้องศึกษาว่ามีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมองหรือไม่) และมีการใช้ความสั่นสะเทือนสร้างพลังงานชีวิตควบคู่ไปกับการดูแลทางการแพทย์ การศึกษาเหล่านี้เกิดจากความรับรู้ที่ได้จากการปฏิบัติธรรมแล้วนำไปใช้ในอาชีพและชีวิตประจำวัน

สำหรับความสั่นสะทือนทางกายในระดับที่หยาบ ปุถุชนอาจพอรับรู้ได้บ้าง แต่ในระดับที่ละเอียดต้องอาศัยการปฏิบัติทางจิต ผู้เจริญฌานจะรับรู้ความสั่นสะเทือนได้มากกว่าปกติมากแต่จิตอาจมุ่งต่อไปที่เอกัคคตาหรืออุเบกขาจิตแทน

ผู้ที่เจริญฌานจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีหรือสารความสุขได้ชัด ผู้ที่เจริญอานาปานสติจะเห็นความสั่นสะเทือนได้ง่าย

การรับรู้สภาวธาตุเป็นเรื่องที่แต่ละบุคคลสามารถรับรู้ได้ตามผลแห่งการปฏิบัติของตน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image