เมื่อไหร่‘นโยบายประชานิยม’จะหมดไป : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรัดร์

เดือนสุดท้ายของปี 2562 ธันวาคม มีเวลาเพียง 25 วัน หักวันหยุดเสาร์อาทิตย์ 8 วัน วันหยุดรัฐธรรมนูญ 1 วัน วันส่งท้ายปีเก่า และวันหยุดพิเศษของรัฐบาลอีก 1 วัน เหลือเวลาทำงาน 15 วันรวมวันนี้

หมายถึงวันเวลาทั้งรัฐบาลและข้าราชการทำงานเต็มที่นะครับ

ข้าราชการบางคนอาจขอหยุดวันที่ 9 วันหนึ่ง ทำงานวันศุกร์ที่ 27 ครึ่งวัน เท่ากับมีเวลาปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ 13 วันครึ่ง

เวลาทำงานของคณะรัฐมนตรีเดือนธันวาคม จากวันนี้มีเพียง 15 วัน ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ 3 นัด คือวันพุธที่ 11 แทนวันอังคารที่ 10 วันอังคารที่ 17 กับอังคารที่ 24 แล้วโอนวาระการประชุมเร่งด่วนไปปีหน้า

Advertisement

เริ่มต้นนโยบายใหม่ ตั้งความหวังให้ประชาคนไทยใหม่ ส่วนนโยบายในโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ถึงปีใหม่นี้ จะต่อปีหน้าห้วงตรุษจีน ค่อยมาว่ากันอีกครั้ง

โครงการนี้ มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจำนวนไม่น้อย แต่มีผู้ไม่เห็นด้วยคนหนึ่ง แจกแจงว่า หากยังลดแลกแจกแถมต่อไป ในอนาคตอาจเหมือนผู้นำประเทศหนึ่งจากประเทศเคยร่ำรวยกลายเป็นประเทศยากจนไปได้เหมือนกัน

ความเห็นที่ว่า คือ โครงการนี้ “ชิม ช้อป ใช้” 1. รัฐบาลไปกู้มาแจกประชาชน ไม่ใช่เงินฟรี ๆ ต้องเก็บภาษีคืนในอนาคต

2. พ่อแม่จะไม่ไปกู้เงินมาแจกลูก ๆ ให้ไปเที่ยวไปกิน แต่จะลงทุนให้การศึกษาช่วยลงทุนเพื่อตั้งตัว

3. ผู้นำที่ดี เช่นจีน ไม่แจกเงินอย่างนี้ แต่จะทำโครงสร้างพื้นฐาน ให้เงินร่วมลงทุน เพื่อให้ประชาชนมีผลผลิต มีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น

4. มีแต่ผู้นำที่ไม่ดี เช่นเวเนซุเอลา ที่แจกเงิน จนประเทศที่เคยร่ำรวยกลายเป็นยากจน ไม่มีกินทุกวันนี้

ผู้แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ผ่านไลน์ คือ ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกระทรวงศึกษาธิการ / 29 ตุลาคม 2562

ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็นนักเรียนรุ่นพี่ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ

น่าจะเป็นรุ่นไล่ๆ กัน ทันเห็นหน้าเห็นหลังไวๆ แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ พร้อมพิมพ์ตัวใหญ่ว่า “ต้องอ่าน”

มีภาพรูปหน้าปรากฏชัดเจนว่า ไม่ผิดตัว ใครเห็นต้องจำได้ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี

โครงการ “ชิม ช้อป ใช้” จะเกิดขึ้นอีกกี่โครงการ ไม่มีใครทราบได้ เมื่อเกิดโครงการนี้แล้ว คล้ายกับว่าจะหยุดหรือยุติยาก เพราะการลดแลกแจกแถมถูกจริตกับคนไทย ยิ่งได้ไปฟรีๆ เปล่าๆ ไม่ต้องใช้คืน รับรองไม่ใครก็ใครไม่ชอบใจเป็นไม่มี

ดูอย่างโครงการกู้เงิน หรือยืมเงินเพื่อการเรียนนั่นประไร อาจมีผู้ใช้คืนบ้าง นับแต่มีรายได้ ส่วนผู้ที่ยืมเพื่อการศึกษาแล้วไม่คืนมีจำนวนไม่น้อย

การกู้เงินยืมเงินเพื่อการศึกษา เป็นโครงการที่ดี หากเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น เพราะจะมีระบบคืนเงินที่เป็นรูปธรรม อาทิ กู้เงินแล้วออกไปทำงานมีรายได้ มีเงินได้ต้องเสียภาษี รัฐควรกำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินนั้นคืนเงินแก่รัฐบาล อาจเป็นรูปภาษีจำนวนหนึ่งของรายได้บุคคลธรรมดา สักร้อยละ 5 ร้อยละ 7 ยังดีกว่าไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย

แล้วเมื่อไหร่ประเทศไทยจะเลิกใช้นโยบาย ลดแลกแจกแถมเสียที หันมาให้ประชาชนกู้เงินไปทำมาค้าขายเพิ่มรายได้ให้ตัวเอง เพิ่มภาษีให้รัฐไม่ดีกว่าหรือ

เช่นเดียวกับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา สำเร็จการศึกษาแล้ว จัดที่ทางทำมาหากินให้ดีกว่า มีรายได้แล้วนำส่วนหนึ่งมาคืนให้รัฐในรูปภาษี หรือรูปแบบหนึ่งแบบใด บัณฑิตไทยจะได้ไม่ตกงาน

หรือว่าสู้นโยบาย “ประชารัฐ” ลดแลกแจกแถมไม่ได้ ฮือ !!!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image