ประชาธิปไตยที่จริงแท้ : โดย โสต สุตานันท์

ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ ปี 2475 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 87 ปี แต่ดูเหมีอนประชาธิปไตยในบ้านเมืองเราจะล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ผ่านการรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญถึง 20 ฉบับ มองไปข้างหน้าก็แทบไม่เห็นทางว่าอนาคตประชาธิปไตยของไทยจะพัฒนาก้าวหน้าไปได้อย่างไร
พอดีผู้เขียนได้อ่านหนังสือ “ประชาธิปไตยจริงแท้คือแค่ไหน” ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยที่ท่านเคยแสดงธรรมกถาไว้ในวาระโอกาสต่างๆ หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศแก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยในเดือนพฤษภาคม 2535 ที่วัดวชิรธรรมปทีป นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และในการตอบคำถามคณะบุคคลในเครือข่ายองค์กรพระพุทธศาสนาในช่วงที่เกิดวิกฤตก่อนการรัฐประหารปี 2549 ที่วัดญาณเวศกวัน เมื่ออ่านแล้วรู้สึกอัศจรรย์ใจในความเป็นปราชญ์ของท่านอย่างยิ่ง เพราะแม้ท่านจะเป็นพระสงฆ์อยู่ในเพศบรรพชิต แต่ก็สามารถวิเคราะห์ปัญหาการเมืองการปกครองได้อย่างทะลุปรุโปร่ง รู้แจ้ง แทงตลอด จึงขอนำเนื้อหาสาระบางส่วนบางตอนมาเผยแพร่บอกต่อ เพื่อว่าอาจจะมีส่วนช่วยทำให้มองเห็นแสงสวางที่ปลายอุโมงค์ได้บ้าง

⦁รูปแบบและสารธรรมของประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยจะเจริญก้าวหน้าได้ต้องให้ความสำคัญทั้งต่อรูปแบบและเนื้อหาสาระ อุปมาดั่งน้ำ (สารธรรม) ถ้าไม่มีภาชนะใส่ (รูปแบบ) หรือมีภาชนะที่ไม่ดีไม่เหมาะสม ก็ไม่สะดวกที่จะดื่มกินได้เต็มตามวัตถุประสงค์ ขณะเดียวกันถ้ามีแต่ภาชนะไม่มีน้ำก็ไม่มีประโยชน์หรือมีน้ำที่สกปรกเน่าเสียกินแล้วก็อาจทำให้ท้องร่วงท้องเสียได้
ประชาธิปไตยก็เช่นกัน ถ้ารูปแบบไม่ดีหรือไม่เหมาะก็จะใช้การไม่ได้ผล ไม่สะดวก ไม่คล่อง หรือมีปัญหาได้ แต่ถ้ามีแต่รูปแบบไม่มีเนื้อหา ไม่มีสาระแก่นสาร รูปแบบดีอย่างไรก็ไม่มีความหมาย บางทีไปเอารูปแบบของเขาทั้งดุ้น เลียนแบบเขาแล้วยังเอารูปแบบนั้นมาใช้อย่างไม่สุจริต ใช้ผิดๆ ใช้ไม่เป็นหรือใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของมัน เหมือนดั่งแก้วที่เขาทำสำหรับใส่น้ำกินกลับเอามาใช้กินเหล้า ใส่น้ำโคลนสาดกัน หรือได้แค่เอามาใส่ตู้โชว์ไว้เท่านั้น
การเรียกร้องประชาธิปไตยในระดับรูปแบบนั้น จะต้องมีความเพียรพยายามจริงจังที่จะเอามาโยงต่อเข้ากับการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในระดับเนื้อหาสาระให้ได้ ถ้าไม่ทำอย่างนั้น เมื่ออะไรๆ เงียบกันไปนานๆ หันกลับมามองอีกครั้ง เราอาจจะต้องสลดใจหรือสมเพชตนเองว่า นี่หรือคือผลที่ได้มาจากการลงทุนถึงเพียงนั้น

⦁สิทธิกับหน้าที่
สิทธิต้องคู่กันกับหน้าที่ พลเมืองของ
ประทศประชาธิปไตยนั้น เมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่ด้วย ดั่งคำกล่าวของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ.เคนเนดี ที่ว่า “อย่าถามว่าประเทศชาติจะทำอะไรให้ท่าน จงถามว่าท่านจะทำอะไรให้แก่ประเทศชาติของท่าน” เมื่อประชาชนทำหน้าที่ให้แก่รัฐตามสถานะของตน รัฐก็มีสิ่งที่จะนำมาสนองแก่สิทธิของประชาชน ถ้าประชาชนไม่ช่วยกันทำเหตุ แล้วรัฐจะเอาผลอะไรมาสนองความต้องการของประชาชนได้
ดังนั้น ถ้าจะเรียกร้องหรืออ้างสิทธิก็อย่าลืมถามหรือสำรวจตัวเองว่าได้ทำหน้าที่ของตนอยู่ด้วยดีหรือไม่ หากจะเรียกร้องสิทธิก็ต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีด้วย ผู้ที่รู้จักหน้าที่พร้อมทั้งทำหน้าที่ของตนเองอย่างถูกต้องนั่นแหละคือผู้ที่จะนำสิทธิไปใช้อย่างถูกต้อง

⦁เสรีภาพกับความรับผิดชอบ
เสรีภาพอย่างต่ำที่สุดคือ เสรีภาพของคนที่เข้าใจว่าทำอะไรๆ ได้ตามชอบใจ สูงขึ้นมาอีกหน่อยคือ คนที่บอกว่าทำได้ตามชอบใจแต่ต้องมีขอบเขต ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ความหมายที่สูงขึ้นไปอีกคือ มองว่าเสรีภาพของตนเองสัมพันธ์กับเสรีภาพของผู้อื่น ต้องไม่ใช้เสรีภาพของตนในสักษณะที่เป็นการลิดรอนหรือทำลายเสรีภาพของผู้อื่น และพร้อมที่จะให้โอกาสแก่ผู้อื่นด้วย เมื่อต่างก็มีเสรีภาพด้วยกันเท่ากันแล้ว จะทำให้เกิดความพอดีขึ้นเรียกว่าเสรีภาพที่ถูกจำกัดโดยสมภาพหรือความเสมอภาคกัน ซึ่งถือเป็นความสมดุลและเป็นลักษณะของทางสายกลาง
เสรีภาพแยกเป็น 2 ด้าน คือ เสรีภาพในการได้กับเสรีภาพในการให้ เสรีภาพในการได้เป็นส่วนของผล เสรีภาพในการให้เป็นด้านเหตุ ก่อนจะได้ผลเราต้องทำเหตุ ถ้าไม่มีเสรีภาพในการให้ เสรีภาพในการได้ก็จะเป็นไปได้ยาก เสรีภาพในการให้หมายความว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่พยายามเปิดโอกาสให้มนุษย์แต่ละคนแสดงศักยภาพของตนออกมาเพื่อเป็นส่วนร่วมที่เป็นประโยชน์แก่สังคมให้มากที่สุด ถ้าประชาชนไม่มีเสรีภาพในการพูด แสดงออก ให้ความคิดเห็น ก็จะเป็นการปิดกั้นสติปัญญาของมนุษย์ ไม่สามารถเอาสติปัญญาของแต่ละคนไปช่วยสังคมได้
การที่คนเราจะมีเสรีภาพแท้จริงภายนอกได้ จะต้องมีเสรีภาพภายในด้วย คือ จิตใจจะต้องเสรีเป็นอิสระปราศจากการครอบงำของกิเลส อันได้แก่ โลภ โกรธ หลง หรือตัณหา มานะ ทิฐิ หากถูกกิเลสครอบงำก็จะเขวออกจากธรรม การแสดงออกภายนอกก็เขวไปหมด ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเพราะความโลภบ้าง ทำการด้วยความเกลียดชังเคียดแค้นมุ่งจะทำลายเขาโดยโทสะบ้าง ทำการด้วยความลุ่มหลงมัวเมาโดยโมหะบ้าง ทำให้พฤติกรรมเสรีภาพเสียศูนย์เลยดุลไป กลายเป็นโทษก่อผลร้ายทำลายประชาธิปไตย ในทางตรงกันข้ามหากจิตใจพ้นจากการครอบงำของกิเลสปัญญาก็จะบริสุทธิ์ผ่องใส สามารถใช้วินิจฉัย คิดการ วางแผนได้อย่างถูกต้องเที่ยงธรรม ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในตัวความจริง ความถูกต้องดีงามและประโยชน์สุขที่แท้จริง
การใช้เสรีภาพต้องคู่กับความรับผิดชอบ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ช่วงตอน คือ รับผิดชอบต่อการที่ได้ทำหรือสิ่งที่ได้แสดงออกไปแล้วกับรับผิดชอบก่อนจะทำ ก่อนจะแสดงออก คนที่รับผิดชอบหลังทำถือว่ายังไม่ดีจริง เพราะเป็นการรับผิดชอบในขั้นผล และผลของความรับผิดชอบก็จำกัดอยู่ที่ตนเอง ซึ่งอาจจะสายไปเสียแล้วสำหรับความหมายที่จะมีต่อสังคมส่วนรวม ไม่ใช่ความรับผิดชอบในระดับของความมีสติและการใช้ปัญญาอย่างแท้จริง คนที่รับผิดชอบอย่างแท้จริงซึ่งเป็นที่พึงปรารถนาในระบอบประชาธิปไตยคือคนที่รับผิดชอบตั้งแต่ก่อนที่จะใช้เสรีภาพในการ กระทำหรือแสดงอะไรออกไป ใช้เสรีภาพด้วยความรู้ตระหนักว่าการแสดงออกหรือการ
กระทำของเขาจะก่อให้เกิดผลดีผลเสียอย่างไร และพยายามให้การแสดงออกหรือการกระทำนั่นเป็นไปอย่างถูกต้องก่อผลดีที่สุด

Advertisement

⦁เสรีภาพ สมภาพ ภราดรภาพ
สังคมประชาธิปไตยมีหลักการพื้นฐานสำคัญ 3 ประการ คือ เสรีภาพ สมภาพ (ความเสมอภาค) และ ภราดรภาพ (สามัคคี
เอกีภาพ) ซึ่งในทางพระพุทธศาสนามองหลักการทั้งสามอย่างนั้นโยงสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เวลานี้ประชาธิปไตยประสบปัญหาอย่างหนัก ทั้งในเรื่องการใช้เสรีภาพ การเรียกร้องความเสมอภาค กับทั้งไม่มีการพูดถึงภราดรภาพ ทำให้หลักการทั้งสามแตกแยกกระจัดกระจายไปหมด
สังคมอเมริกันได้ชื่อว่าเชิดชูหลักการแห่งเสรีภาพและความเสมอภาคอย่างดีเยี่ยม แต่ก็ทำท่าจะมาอับจนเพราะปัญหาในเรื่องภราดรภาพ ซึ่งแก้ไม่ตกและจะพาหลักการเรื่องเสรีภาพกับความเสมอภาคซวนเซไปด้วย ปัญหาความแตกแยกร้าวรานขาดความประสานสามัคคีในทางเชื้อชาติศาสนาและวัฒนธรรม ถือเป็นรอยด่างและโรคร้ายที่กัดกร่อนบ่อนทำลายบั่นทอนสังคมประชาธิปไตยอเมริกันมาโตยตลอดตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะการแบ่งผิวหรือเหยียดผิว เป็นปัญหาที่ลุกลามรุนแรงขึ้นมาเป็นระยะๆ ตลอดจนกระทั่งปัจจุบันและไม่มีความหวังว่าปัญหานี้จะสงบเรียบร้อยลงได้อย่างไรในอนาคต
นับว่าเป็นเครื่องเตือนใจสังคมที่จะพัฒนาประชาธิปไตยทั้งหลาย ให้พยายามรักษาเอกภาพและความสามัคคีในสังคมไว้ ระวังไม่ให้เกิดความแตกแยกแปลกพวก รังเกียจเดียดฉันท์ ดูถูกดูหมิ่นกันในเรื่องถิ่นฐาน ฐานะ เชื่อชาติ สีผิว ลัทธิศาสนา และวัฒนธรรม เป็นต้น
ปกติมักจะมองปัญหาว่าเริ่มจากเสรีภาพและความเสมอภาคก่อน เมื่อไม่มีก็สามัคคีเอกีภาพกันไม่ได้ หรือพูดย้อนกลับไปว่าที่
สามัคคีเอกีภาพกันไม่ได้ก็เพราะไม่ได้รับความเสมอภาค ที่ไม่เสมอภาคก็เพราะมีเสรีภาพไม่เท่าเทียมกัน แต่บางทีปัญหากลับในทางตรงข้ามคือ เริ่มเป็นปัญหาจากไม่มีสามัคคีเอกีภาพก่อน จึงลงไปสู่ปัญหาเรื่องความเสมอภาคและเสรีภาพคือ เมื่อประชาชนแตกแยกไม่รักใคร่สามัคคีกัน มีความรังเกียจเดียดฉันท์ต่อกัน ก็จะเพ่งจ้องมองกันว่า พวกนั้นได้ พวกนั้นมีอย่างนั้นๆ ทำไมพวกเราไม่ได้ ไม่มีอย่างนั้น พวกโน้นทำได้ เป็นได้อย่างนั้นๆ ทำไมพวกเราทำไม่ได้ เป็นไม่ได้ ปัญหาเรื่องการไม่ได้รับความเสมอภาคและขาดเสรีภาพก็ตามมาทันที แม้แต่เรื่องที่ไม่น่าจะเป็นปัญหา ก็มองให้เป็นปัญหาขึ้นมาจนได้ เพราะเมื่อใจไม่รักกันแล้ว ญาติดีกันไม่ได้ ก็คอยเพ่งมองเห็นแง่ร้ายกันอยู่เรื่อย
การป้องกันและแก้ไขปัญหาจะต้องทำจากจุดเริ่มทั้งสองทางคือ ทั้งจากต้นไปหาปลายและจากปลายมาหาต้น เริ่มจากต้นไปหาปลายคือ ต้องจัดให้ประชาชนมีเสรีภาพอย่างถูกต้องและให้ได้มีเสรีภาพนั้นอย่างเท่าเทียมกัน เกิดความเสมอภาค แล้วจะได้ไม่ทะเลาะวิวาทแก่งแย่งขัดแย้งกัน และทำให้เกิดสามัคคีเอกีกาพขึ้นมา เริ่มจากปลายมาหาต้นคือ พยายามสร้างความสมัครสมานสามัคคี ให้ประชาชนมีความรักใครพร้อมเพรียง มีความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันดุจเป็นพี่น้อง เมื่อมีสามัคคีเอกีภาพนี้แล้วก็จะปรับเรื่องความเสมอภาคและเสรีภาพให้เข้าที่ลงต้วสอดคล้องไปกันได้อยางดี
ในทางพระพุทธศาสนามีหลักการใหญ่แห่งภราดรภาพหรือเอกภาพเรียกว่า “สาราณียธรรม” แปลว่าธรรมเป็นเครื่องระลึกถึงกัน มีสาระสำคัญสอนว่า สังคมประชาธิปไตยจะต้องมีเครื่องผูกพันคนให้มีความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกัน เพราะการที่แต่ละคนจะอยู่ได้ด้วยดีและเอาศักยภาพของตนมาร่วมสร้างสรรค์สังคมได้ จะต้องมีความสามัคคีรู้จักร่วมมือกันและอยู่ร่วมกันได้ด้วยดี ทั้งนี้ การร่วมมือกันและอยู่ร่วมกันด้วยดีนั้น มีลักษณะการแสดงออกต่างๆ ซึ่งเน้นความมีเมตตาปรารถนาดีหวังประโยชน์สุขต่อกันอันจะโยงไปหาหลักการพื้นฐานคือ การที่คนเราจะต้องใช้ปัญญาโดยมีเมตตาประกอบ
หลักสาราณียธรรมมี 5 ประการ คือ ทำต่อกันด้วยเมตตา พูดต่อกันด้วยเมตตา คิดต่อกันด้วยเมตตา มีกินมีใช้เผื่อแผ่ให้ทั่วถึงกัน ประพฤติดีมีวินัยอยู่ภายใต้กฎหมายเสมอกัน และมีแนวคิดความเห็นร่วมหลักการลงกัน
การใช้ปัญญาในจิตใจที่มีเมตตาจะทำให้ไม่เกิดการแบ่งแยก แม้จะมีความแตกต่างโดยผิวพรรณ เชื้อชาติ ลัทธิ ศาสนา สติปัญญา ฯลฯ มองทุกคนเป็นมนุษย์เสมอเหมือนกัน ในฐานะที่ทุกคนนั้นเป็นเพื่อนรวมเกิดแก่เจ็บตาย อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติอันเดียวกันหรือภายใต้อำนาจของพญามัจจุราชอย่างเดียวกันทำให้สัมพันธ์คบหากันโดยไม่มีอุบายซ่อนเร้นต่อกัน ไม่มีลักษณะที่เรียกว่า แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง แต่เป็นแบบที่ว่า ยอมรับจุดต่าง อยู่กันบนฐานของจุดร่วม

⦁ประชาธิปไตยกับธรรมาธิปไตย
อำนาจการตัดสินใจสูงสุดคือ ตัวกำหนดระบอบการปกครองนั้นๆ ถ้าอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่บุคคลผู้เดียวก็เป็น “เผด็จการ” ถ้าอำนาจการตัดสินใจอยู่กับคณะบุคคลก็เป็น “คณาธิปไตย” ถ้าอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ประชาชนก็เป็น “ประชาธิปไตย”
การตัดสินใจโดยเอาตัวเอง เอาความยิ่งใหญ่ของตน เอาความทะนงตัว เอาทิฐิความเห็นความเชื่อยึดถือส่วนตัว เอาผลประโยชน์ของตนเป็นเกณฑ์ตัดสิน เรียกว่า “อัตตาธิปไตย” การตัดสินใจตามกระแสความนิยม เสียงเล่าลือ ไม่เป็นตัวของตัวเอง คอยฟังว่าใครจะว่าอย่างไร แล้วแต่พวกมากลากไป หรือตามแรงกดดัน จะเอาใจเขาหรือตอบแทนการเอื้อประโยชน์ เรียกว่า “โลกาธิปไตย” การตัดสินใจโดยเอาความจริง ความถูกต้องดีงาม หลักการ กฎกติกา เหตุผล ประโยชน์ที่แท้จริงของชีวิตและสังคม เป็นเกณฑ์ตัดสิน โดยใช้ปัญญาหาข้อมูล ตรวจสอบข้อเท็จจริงและความคิดเห็นที่รับฟังอย่างกว้างขวาง ให้ถ่องแท้ชัดเจนและพิจารณาอย่างดีที่สุดเต็มขีดแห่งสติปัญญา เรียกว่า “ธรรมาธิปไตย”
ธรรมาธิปไตยจึงไม่ใช่ระบอบการปกครอง แต่เป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจของบุคคลที่อยู่หรือร่วมอยู่ในระบอบการปกครองนั้นๆ ไม่ว่ากิจกรรมการปกครองระบบไหนก็ตาม ก็เป็นอัตตาธิปไตยโลกาธิปไตยหรือธรรมาธิปไตยได้ทั้งนั้น ถ้าเผด็จการใช้เกณฑ์ตัดสินแบบธรรมาธิปไตยก็เป็นเผด็จการที่ดีแต่เรากลัวว่าเขาจะตัดสินใจไม่รอบคอบ เพราะรู้ข้อมูลไม่ทั่วถึงหรือปัญญาอาจจะไม่พอ ถ้าคณาธิปไตยที่ไหนเป็นธรรมาธิปไตยก็เป็นคณาธิปไตยที่ดี แต่เราเห็นว่ายังมีจุดอ่อนอยู่มาก
ทีนี้เราหวังว่าถ้าระบอบเป็นประชาธิปไทยและคนใช้อำนาจตัดสินใจด้วยเกณฑ์ธรรมาธิปไตยก็จะดีที่สุด ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ได้ก็ต้องให้ประชาชนทุกคนเป็นธรรมาธิปไตย ยอมตัวและยอมกันได้เพื่อเห็นแก่ความจริง ความถูกต้องดีงาม และประโยชน์ที่แท้ ถือธรรมเป็นใหญ่เหนือกว่าตัวตนของเขา ยกธงธรรมขึ้นนำหน้า เอาธรรมเป็นตราชู เมื่อตัณหา มานะ ทิฐิ มาถึงเส้นขีดของธรรม ตัณหา มานะ ทิฐิ นั้นจะต้องหยุด ถ้าประชาชนไม่ถือธรรมเป็นใหญ่ก็จะปกครองตัวเองไม่ได้ ประชาธิปไตยก็ไปดีไม่ได้และประชาชนนั้นแหละจะเดือดร้อน เพราะเบียดเบียนข่มเหงเอารัดเอาเปรียบแย่งชิงกันเอง แล้วในที่สุดประชาชนนั้นเองก็อาจจะเป็นผู้เรียกเชื้อเชิญผู้เผด็จการให้เข้ามารวบยึดอำนาจไปปกครอง

⦁การศึกษากับการพัฒนาประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยคือ ระบอบการปกครองที่ให้ประชาชนปกครองตัวเอง เพราะประชาชนเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ เสียงประชาชนเป็นใหญ่ เป็นเสียงสวรรค์ ดั่งวาทะของประธานาธิบดีลินคอล์นที่ว่าเป็น “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” ดังนั้น คุณภาพของประชาธิปไตยจึงขึ้นต่อคุณภาพของประชาชน แล้วคุณภาพของประชาชนขึ้นกับอะไร ก็ขึ้นต่อการศึกษา ประชาธิปไตยจึงสัมพันธ์กับการศึกษาโดยตรง ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาคนให้สามารถปกครองตัวเองได้แล้ว การที่จะมาร่วมกันปกครองประเทศชาติที่รวมกันอยู่ก็เป็นไปด้วยดีไม่ได้
การตัดสินใจเป็นเรื่องสำคัญมาก หากตัดสินใจถูกก็ดีไป ถ้าตัดสินใจผิดก็อาจเกิดความเสื่อมความพินาศทุกอย่างทุกประการ การที่จะตัดสินใจผิดหรือถูกก็อยู่ที่ความเป็นคนดีและมีปัญญาคือมีคุณธรรมและมีความรู้ความเข้าใจเฉลียวฉลาด สามารถในการคิด เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ประชาชนควรจะมี ถ้าประชาชนเป็นคนดี ตั้งใจดี มีความรู้ความเข้าใจ มิปัญญาชัดเจน คิดเป็น มองเห็นความจริงก็ตัดสินใจได้ถูกต้อง
เสียงข้างมากตัดสินความต้องการได้แต่ตัดสินความจริงไม่ได้ ถ้าเราไม่ต้องการให้เสียงสวรรค์กลายเป็นเสียงนรกก็ต้องพัฒนาประชาธิปไตยให้ดี โดยพัฒนาประชาชนให้มีคุณภาพ ถ้าคนส่วนใหญ่โง่เสียงข้างมากที่วินิจฉัยก็จะเป็นการตัดสินใจเลือกอย่างโง่ๆ
ผู้แทนเป็นอย่างไรก็แสดงว่าผู้เลือกคงเป็นอย่างนั้น ถ้าผู้เลือกเป็นคนดีก็คงได้ผู้แทนที่เป็นคนดี ถ้าผู้แทนชั่วก็ต้องสงสัยไว้ก่อนว่าผู้เลือกก็คงจะชั่วหรือมีคุณภาพต่ำ ผู้แทนหรือ ส.ส. ก็ประชาชนชาวบ้านนี่แหละเลือกส่งเขาไป ชาวบ้านจึงตัดความรับผิดชอบไม่ได้ ถึงจะตัดก็ไม่พ้น
การศึกษาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดสติปัญญาที่จะมาประสานความต้องการให้ตรงกับความจริง ความถูกต้องดีงามและประโยชน์สุขที่แท้ ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจการครอบงำของโลภะ โทสะ โมหะ ไม่เลือกตัดสินใจหรือทำการใดเพราะเห็นแก่จะได้ผลประโยชน์ส่วนตัว มุ่งหาอำนาจความยิ่งใหญ่หรือด้วยความเคียดแค้นชิงชังมุ่งทำลายใครหรือโดยไร้ความรู้ความคิดไม่มีวิจารณญาณ อีกทั้งเพื่อให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันที่จะไม่เอาอำนาจตัดสินใจไปยกให้แก่พ่อมดสังคม ตกอยู่ใต้อิทธิพลของคนบางพวก
มีคาถาพุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งบอกว่า คนเขลาอ่อนปัญญามาประชุมกันมากมายเกินพัน พวกเขาได้แต่คร่ำครวญรำพันตัดพ้อต่อว่ากัน ปัญหาก็ไม่ได้แก้ แต่บัณฑิตเพียงผู้เดียวเข้ามา เขารู้จักใช้ปัญญาพาคนทั้งพันผ่านพ้นปัญหาไปได้ แต่ที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่า จะให้หันไปนิยมการปกครองแบบบุคคลเดียว เพราะถ้าบัณฑิตผู้เดียวเปลี่ยนมาเป็นคนพาลก็จะกลายเป็นว่า คนพาลผู้เดียวมาตัดสินใจก็จะยิ่งยุ่งกันใหญ่ เรายอมรับว่าบัณฑิตคนเดียวดีกว่าคนพาลตั้งพัน แต่ใครๆ ก็ต้องยอมรับว่า มีบัณฑิตพันคนดีกว่ามีบัณฑิตคนเดียว ประชาธิปไตยต้องการให้คนทั้งพันเป็นบัณฑิต การเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้เป็นสิ่งที่จะต้องทำกันตลอดเวลาไปอีกนาน เป็นการเรียกร้องที่ต้องทำต่อประชาชนทุกคน

Advertisement

⦁วิกฤตร้อนวิกฤตลึก
สถานการณ์ปัญหาร้ายในขณะนี้ (สนทนากับผู้ไปเยี่ยมคณะหนึ่งเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2554) พูดกันว่าถึงขั้นเป็นวิกฤตของสังคมไทย ที่จริงควรเรียกว่าเป็นวิกฤตร้อน เพราะว่าที่แท้นั้นสังคมไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤตมานานแล้ว มีปัญหาเลวร้ายมากมายกัดกร่อนสังคมไทยตลอดเวลาซึ่งควรคิดแก้ไขกันอย่างจริงจังไม่น้อยกว่าปัญหาวิกฤตร้อนนั้นหรือยิ่งกว่าเสียอีก เพราะมันเป็นรากเหง้าของวิกฤตร้อนนั้นด้วยซ้ำ
ตัวอย่างเช่น พฤติกรรมที่หวังลาภลอย นอนคอยโชค รอผลดลบันดาล ลุ่มหลงในบริโภคนิยมค่านิยมฟุ้งเฟ้อ ชอบโก้อวดกัน ฉาบฉวยอ่อนแอ ขาดความใฝ่รู้ ไม่มีวัฒนธรรมแสวงปัญญา คอยตามกระแสความเจริญของประเทศอื่น หมกมุ่นในกามและอบายมุข อาชญากรรมรุนแรงแพร่ระบาด ไม่รู้จักใช้เทคโนโลยี เอาประโยชน์จากข่าวสารข้อมูลไม่ได้ ใช้เทคโนโลยีและเสพข้อมูลในทางที่เกิดโทษ การทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงแพร่ขยายจนกลายเป็นเหมือนของปกติสามัญ ฯลฯ
สภาพผุโทรมของสังคมอย่างนี้ เป็นมูลเหตุอยู่เบื้องหลังวิกฤตร้อนที่เรากำลังเผชิญอยู่ มันเป็นวิกฤตทางสังคมที่ยืดเยื้อและเป็นวิกฤตที่ลึกลงไปในชีวิตจิตใจของคน เป็นวิกฤตแห่งคุณภาพคน ไม่ช้านานนักวิกฤตร้อนจะต้องจบลง แต่ไม่ว่าเมืองไทยจะมีรัฐบาลใดวิกฤตลึกก็จะยังคงอยู่ แล้วเราก็จะต้องเดือดร้อนกับมันต่อไป
บางรัฐบาลแม้ในยามปกติก็อาจจะคิดและทำการโดยไม่แยบคายแล้วเสริมเติมวิกฤตลึกให้ซ้ำหนักลงไปอีก ถ้ายังไม่มีการแก้ไขวิกฤตลึกนั้นอย่างจริงจังมันก็จะนำเราไปสู่วิกฤตร้อนครั้งใหม่ ทำให้สังคมหมุนเวียนอยู่ในวงจรบาป
ถึงจะมีวันที่พูดได้ว่า วิกฤตร้อนจบแล้ว ประชาธิปไตยฟื้นคืนมา แต่ถ้าวิกฤตลึกยังอยู่เราจะมีประชาธิปไตยที่น่าภูมิใจได้จริงหรือ มันจะเป็นเพียงประชาธิปไตยคุณภาพต่ำของสังคมที่เป็นเหยื่อในโลกแห่งทุนนิยม ที่ถูกซัดพัดพาลอยไปในกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นสังคมที่ถูกกระทำ ไม่สามารถเป็นผู้นำที่มีอะไรให้แก่อารยธรรมของโลก
เมื่ออ่านบทความนี้จบ หลายท่านคงถอนหายใจเฮือกใหญ่และรำพึงในใจว่า ชีวิตในชาตินี้คงพ้นวิสัยที่จะได้พบเจอกับประชาธิปไตยที่จริงแท้ได้ ผู้เขียนเองก็คิดเช่นนั้น แต่ถึงกระนั้นก็อยากจะเชิญชวนประชาชนคนไทยทั้งหลายพยายามเข้าถึงซึ่งธรรมาธิปไตยด้วยตัวเราเอง ถือธรรมเป็นใหญ่ ยกธงธรรมนำหน้า เอาธรรมเป็นตราชู ยืดถือความจริง ความถูกต้องดีงาม หลักการ กฎกติกา เหตุผล ประโยชน์ที่แท้จริงของชีวิตและสังคม เป็นเกณฑ์การตัดสินใจในทุกเรื่อง โดยใช้ปัญญาหาข้อมูล ตรวจสอบข้อเท็จจริงและความคิดเห็นที่รับฟังอย่างกว้างขวาง ให้ถ่องแท้ชัดเจนและพิจารณาอย่างดีที่สุดเต็มขีดแห่งสติปัญญา
ไม่แน่ว่าด้วยอิทธิพลของ social media ยุคปัจจุบัน บางทีอาจเกิดปาฏิหาริย์ขึ้นก็เป็นได้ เพราะสมเด็จท่านกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ถ้ามีธรรมาธิปไตยตัวเดียวก็อยู่เลย พอถึงตอนเลือกตั้งก็แค่ราษฎรตัดสินใจด้วยธรรมาธิปไตยเท่านั้นแหละ แผ่นดินก็พลิกเลยใช่ไหม ประชาธิปไตยตัวจริงก็เผยโฉมโผล่หน้าขึ้นมาเลย” หรือแม้นหากปาฏิหาริย์ไม่มีจริง
อย่างน้อยที่สุดในวาระสุดท้ายของชีวิตเราจะได้ไม่รู้สึกผิดหรือเป็นตราบาปต่อลูกหลานเผ่าพันธุ์ที่ได้รับมอบมรดกบ้านเมืองไปจากเราในสภาพที่ผุกร่อนทรุดโทรมเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง เพราะเราได้พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแก้ว ไม่ได้เพิกเฉยละเลย ประพฤติกระทำ มีส่วนร่วม หรือส่งเสริมสนับสนุนอัตตาธิปไตยและหรือโลกาธิปไตย ซึ่งถือเป็นมหันตภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติและได้ชื่อว่าเป็นคนชังชาติที่แท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image