ฮ่องกง‘สนามรบ’จีน-สหรัฐ : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

และแล้วประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้ลงนามในกฎหมายอันว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฮ่องกง เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า

นโยบายวอชิงตันที่มีต่อฮ่องกงมีการปรับเปลี่ยนขนาดใหญ่

ความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐอย่างร้อนแรงจะต้องปรากฏขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ก็เพราะพฤติเหตุเป็นการอันคุกคามอธิปไตยของประเทศจีน

Advertisement

ดูประหนึ่งว่า โอกาสอันประนีประนอมจักหามิได้

อาจกลายเป็นประเด็นการต่อสู้ที่ร้อนแรงระหว่างจีน-สหรัฐในรอบ 100 ปี

กรณีน่าเชื่อว่า ฮ่องกงอาจกลายเป็น “สนามรบ” ระยะยาวจีน-สหรัฐ

ตัดกลับไปที่สหรัฐ แม้พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันมีการต่อสู้กันทางการเมืองอย่างดุเดือด แต่นโยบายที่เกี่ยวกับจีน นับวันเป็นเอกฉันท์ยิ่งขึ้น จึงกลายเป็น “ความรับรู้ร่วมกัน”

ดังนั้น เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน สภาคองเกรสจึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกง

โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในกฎหมายตามมติของสภาคองเกรส

ตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ดูเหมือนไม่มีความสนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน

วันนี้ เรื่องที่ โดนัลด์ ทรัมป์ สนใจที่สุดน่าจะเป็นการเจรจาสงครามการค้า

จึงพอจะอนุมานได้ว่า ทรัมป์คงไม่หันมาเล่นเรื่อง “กฎหมายฮ่องกง”

เพราะเกรงว่าจะกระทบถึงการเจรจาการค้า

ประเด็นจึงมีอยู่ว่า แล้วลงนามเพื่อวัตถุประสงค์ใด

ก็พอจะอนุมานได้อีกว่า คงทำไปตามกระแสการเมือง

แต่ระยะนี้ ดูเหมือนทรัมป์มีอาการลังเล สองจิตสองใจ ส่อพิรุธบางประการ กล่าวคือ

ด้าน 1 กล่าวว่ายืนอยู่เคียงข้างกับผู้ชุมนุมประท้วงฮ่องกง

อีกด้าน 1 กล่าวว่าได้เดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

แต่ในที่สุด ทรัมป์ก็ลงนามในกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฮ่องกง

พฤติการณ์เป็นการบ่งบอกว่า พูดสบถแล้วสะบัดไม่ขัดสน เพราะแต่คำน้ำจิตคิดประจญ ปากเป็นผลใจเป็นพาลเหลือมารยา

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฮ่องกง หากคำนึงถึงหลักการ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังมีทางออกหลายทาง

1 เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ทรัมป์สามารถใช้สิทธิยับยั้งมติของสภา

1 ใช้กลยุทธ์ “เตะบอล” โดยการเดินสายให้สมาชิกสภาคองเกรสสนับสนุนการตัดสินใจ

1 ใช้มาตรการ “ซื้อเวลา” โดยรอให้สภาลงมติ แต่ต้องได้คะแนนเสียง 2 ใน 3 จึงจะล้มล้างการตัดสินใจของประธานาธิบดีได้

สัจธรรม 1 คือ ในเอกภพนี้ไม่มีนักการเมืองใดที่ “เตะบอล” ไม่เป็น

ในบรรดาตัวเลือก สำหรับทรัมป์ ดูเหมือนว่าเบื้องหลังของตัวเลือกมีข้อมูลที่แตกต่างกันไป

1 ถ้าตัดสินใจยับยั้ง “กฎหมายฮ่องกง” ย่อมต้องถือว่าเป็นการเอาใจจีนในเชิงสัญลักษณ์

1 หากต่อไปสภาลงมติยับยั้งการตัดสินใจของทรัมป์ เขาก็สามารถอ้างกับจีนว่ามิใช่เป็นการตัดสินใจของเขา หากเป็นมติของสภา เพื่อหลีกเลี่ยงผลการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐ

มีข่าวว่า การลงนามในกฎหมายฮ่องกง น่าจะมีส่วนเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งเขตที่ฮ่องกง อันมีนักการเมืองฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย

ไม่ว่าเหตุการณ์จะปรากฏออกมาในรูปแบบใด ล้วนเป็นการสร้างแรงกดดันให้แก่ โดนัลด์ ทรัมป์ เหตุผลคือ

1 หากทรัมป์ใช้สิทธิยับยั้งกฎหมายฮ่องกง อเมริกันชนก็จะมองว่าเป็นการอ่อนข้อต่อจีน อันอาจกลายเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตี ทำลายคะแนนความนิยมการป้องกันแชมป์

1 หากปล่อยให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ ก็จะเป็นการทำลายความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ

ส่วนปักกิ่ง ไม่ว่าการเจรจาทางการค้า ไม่ว่าทางการทูต รัฐบาลยืนยันมาโดยตลอดว่า จักต้องยืนอยู่บนพื้นฐานแห่งความเคารพซึ่งกัน และมีความเสมอภาค

ดังนั้น การเจรจาการค้า ถ้าไม่มีการใดที่กระทบต่อผลประโยชน์หลัก และแทรกแซงอธิปไตยของจีน เชื่อว่าน่าจะดีลกันได้

ถ้าย้อนกลับไปในอดีต ก่อนที่ฮ่องกงกลับคืนสู่ประเทศจีน สหรัฐได้ออกกฎหมายที่เรียกว่า “นโยบายฮ่องกง” คือเน้นที่ประเด็นการค้าระหว่างฮ่องกงกับสหรัฐเท่านั้น

แต่วันนี้ “กฎหมายฮ่องกง” คือกฎหมายที่สามารถแทรกแซงการเมืองฮ่องกงได้ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีต่อฮ่องกงครั้งใหญ่

และถือเป็นการคุกคามอธิปไตยของประเทศจีนที่เข้มข้นรุนแรงยิ่ง

ประเด็นปัญหาในปัจจุบัน จึงไม่อยู่ที่กฎหมายฉบับนี้จะเป็น “เสือที่ไร้เขี้ยวเล็บ” หรือ “มีเขี้ยวเล็บ” หรือโดนัลด์ ทรัมป์ จะถือเป็น “อาวุธป้องกันตัว” ก็ตาม

หากประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ ทำลายพื้นฐานความเสมอภาค เคารพซึ่งกัน และความร่วมมือ

กระทรวงต่างประเทศจีนจึงประณามสหรัฐว่าเป็นพฤติการณ์ที่ปราศจากความบริสุทธิ์ใจและอุดมด้วยลัทธิเจ้าโลก กรณีย่อมถือเป็นการคุกคาม

การทำสงคราม เชื่อได้ว่าเจ็บทุกคน การต่อสู้กันระหว่างจีน-สหรัฐ ทุกหมัดที่แลกกันมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะก่อให้เกิดการสู้รบขนาดใหญ่

ครั้นเมื่อกฎหมายอันเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกงมีผลบังคับใช้ อุปมาเสมือนวอชิงตันได้เพิ่มอุปกรณ์นโยบายขึ้นมาอีก 1 ชุด อย่างไรก็ตาม

ที่ฮ่องกง มีคนที่จะต่อสู้กับสหรัฐ

ที่สหรัฐ มีคนมองประเทศจีนว่ามีพฤติกรรมคุกคาม

จึงไม่แปลกที่ไฟแนนเชียลไทม์ ได้พรรณนาว่า จีน-สหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะการต่อสู้กันในรอบ 100 ปี หากความขัดแย้งยังดำรงอยู่ในทำนองนี้อย่างต่อเนื่อง

ฮ่องกงอาจหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะกลายเป็น

สนามรบระยะยาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image