สะพานแห่งกาลเวลา : รัสเซียกับการคุมอินเตอร์ขั้นสูงสุด

กฎหมายเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตฉบับใหม่ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการในรัสเซียไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

เรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า “กฎหมายว่าด้วยอธิปไตยบนอินเตอร์เน็ต” มีผลบังคับใช้ทันทีที่มีการประกาศ

รัฐบาลรัสเซียอ้างเหตุผลในการบัญญัติกฎหมายนี้ออกมาว่า เพื่อความมั่นคงปลอดภัยจากการตกเป็นเป้า “การโจมตีทางไซเบอร์” ครับ

แต่รายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ทำให้รัสเซียไม่วายถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า ต้องการควบคุม สอดแนม และปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกผ่านอินเตอร์เน็ตแบบเบ็ดเสร็จ ทำนองเดียวกับที่จีนมี       “เกรท ไฟร์วอลล์” นั่นเอง

Advertisement

ข้อกำหนดที่น่าสนใจในกฎหมายใหม่ของรัสเซียมีอะไรบ้าง?

แรกสุด กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) ทุกราย ต้องติดตั้งอุปกรณ์ที่เรียกว่า “ดีพ แพคเกจ อินสเปคชัน” หรือ “ดีพีไอ” ไว้ในประเทศทุกรายที่ต้องการให้บริการเก็บเงินจากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั้งหลายในรัสเซีย

“ดีพีไอ” คืออุปกรณ์สำคัญ ที่ทำให้ไอเอสพีสามารถระบุตำแหน่งที่มาของเว็บทราฟฟิก, สามารถจัดการเปลี่ยนเส้นทางของทราฟฟิกเหล่านั้น หรือจะปิดกั้นทราฟฟิกแต่ละตัวได้นั่นเอง

เท่านั้นยังไม่ใช่การควบคุมเด็ดขาดสำหรับทางการรัสเซีย ขั้นตอนของการควบคุมที่สูงกว่านั้นก็คือ การกำหนดให้ไอเอสพีทุกๆ ราย ต้องจัดทราฟฟิกบนอินเตอร์เน็ตและข้อมูลข่าวสารทั้งหมดผ่าน “จุดควบคุมของภาครัฐ” ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเหมือน “ม่าน” หรือ “กำแพง” ปิดกั้นอินเตอร์เน็ตทั้งประเทศของรัสเซียไว้ภายใน

อินเตอร์เน็ตในรัสเซียสามารถกำหนดชื่อโดเมน และแอดเดรสใหม่ทั้งหมดยังได้ เมื่อผ่านจุดควบคุมนี้แล้วจึงเชื่อมต่อเข้าสู่โดเมนและแอดเดรสที่สากลโลกเขาใช้กันต่อไป

รัฐบาลบอกว่าภายใต้ระบบใหม่นี้ จะทำให้ทางการสามารถ “ปิด” อินเตอร์เน็ตของรัสเซียทั้งประเทศ กันออกจากอินเตอร์เนตสากลทั่วโลกได้ ในกรณีที่ถูกคู่สงครามไซเบอร์ถล่มเอา โดยที่อินเตอร์เน็ตภายในรัสเซียจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ

ตามกฎหมายยังระบุไว้ด้วยว่า ในกรณีที่ทางการเห็นว่าเว็บไซต์ใดเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัสเซีย ก็สามารถสั่งการให้ไอเอสพี “บล็อก” ไซต์นั้นๆ ได้ โดยอาศัยอุปกรณ์ดีพีไอนั่นเอง

ปัญหาก็คือ นิยามว่าด้วย “ภัยคุกคามความมั่นคงของรัฐ” ที่ระบุไว้ในกฎหมาย “คลุมเครือ” และ “ครอบคลุม” กว้างขวางมาก ซึ่งทำให้บรรดานักสังเกตการณ์ทั้งหลายเห็นว่า เป็นการเปิดช่องให้ใช้อำนาจรัฐจัดการปิดกั้นข้อมูล ข่าวสาร ทั้งหลายได้ตามอำเภอใจ

บางคนอย่างเช่น ราเชล เดนเบอร์ รองผู้อำนวยการประจำภาคพื้นยุโรปและเอเชียกลางของฮิวแมนไรท์วอทช์ เตือนว่า กฎหมายฉบับนี้ ให้อำนาจรัฐบาลรัสเซียควบคุมอินเตอร์เน็ตได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ ไม่ต่างอะไรกับ “เกรท ไฟร์วอลล์” ของจีน ซึ่งถูกใช้ทั้งเพื่อควบคุมการเข้าถึงข้อมูล เซ็นเซอร์เนื้อหาของประชาชนผลิตขึ้นบนอินเตอร์เน็ต เรื่อยไปจนถึงสอดแนมบรรดาคนที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ

แน่นอน รัสเซียย่อมปฏิเสธว่าไม่ได้ต้องการทำเช่นนั้นแต่เป็นการบัญญัติกฎหมาย “เผื่อไว้” สำหรับเกิดเหตุรุนแรงสุดโต่งต่ออินเตอร์เน็ตของประเทศจริงๆ

คำถามที่น่าสนใจคือ การควบคุมขั้นสูงเช่นนี้ มีประสิทธิภาพจริงหรือ? โนวายา กาเซตา หนังสือพิมพ์แนวสืบสวนสอบสวนของรัสเซียเอง ตอบเอาไว้ว่า ถึงได้ก็ไม่ทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้บอกว่า มีการนำเอาทั้งระบบไปทดลองกันในเขตอูราลทางตะวันตกของประเทศเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ด้วยเทคโนโลยีดีพีไอล่าสุดที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อการนี้ ปรากฏว่าล้มเหลว

ล้มเหลวเพราะผู้ใช้อินเตอร์เน็ต สามารถ “บายพาส” อ้อมข้ามระบบตรวจจับทราฟฟิกของทางการไปได้แบบสะดวกโยธิน

โนวายา กาเซตา ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า รัฐบาลเคยแถลงไว้ตั้งแต่ต้นปี ว่าจะปิดอินเตอร์เน็ตทั้งประเทศ เพื่อทดลองประสิทธิภาพของระบบใหม่ตามกฎหมายฉบับนี้

จนป่านนี้ยังไม่มีการปิดอินเตอร์เน็ตทั้งประเทศที่ว่าเกิดขึ้นเลยครับ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image