ภัยแล้งซ้ำเติม ทำคนเลี้ยงหมูอ่วมหนัก

คณะรัฐมนตรีมีมติประกาศสถานการณ์ภัยแล้งของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562-30 เมษายน 2563 ซึ่งนับว่าเป็นสถานการณ์ที่ “แล้งที่สุด” ในรอบ 30 ปีของประเทศไทย หากพิจารณาจากสถานการณ์น้ำในเขื่อนเฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา อันได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนใหญ่ที่สุด พบว่ามีน้ำใช้การได้เพียง 15% ของปริมาณความจุ ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนใหญ่อันดับสอง เหลือน้ำใช้การได้24% เขื่อนป่าสัก 32% และเขื่อนแควน้อย 46% โดยหากอยู่ในสถานการณ์ปกติปริมาณน้ำใช้การของทั้ง 4 เขื่อนหลัก จะมีรวมกันมากกว่า 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันมีเพียง 4,986 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ปริมาณน้ำเท่านี้ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งถึง 22 จังหวัด 56 อำเภอ

เป็นที่ทราบดีว่า ภาวะภัยแล้งส่งผลกระทบโดยตรงภาคเกษตร อย่างพืชผลต่างๆ โดยเฉพาะพืชเกษตรหลักอย่าง ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง อ้อย หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่จะมีผลผลิตในปริมาณน้อย ระดับราคาพืชผลเหล่านี้จะสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ และแน่นอนว่าจะส่งผลเป็นลูกโซ่ไปถึงภาคปศุสัตว์ด้วย

สงสารคนเลี้ยงสัตว์
ภาคปศุสัตว์ทุกส่วน ไม่ว่าสัตว์บกหรือสัตว์น้ำต่างได้รับผลกระทบจากภัยแล้งโดยถ้วนทั่ว แต่ที่น่าเห็นใจที่สุด เห็นจะเป็น “คนเลี้ยงหมู” เพราะนอกจากจะกำลังเผชิญสถานการณ์อันหนักหน่วงจากโรค ASF ในสุกร ที่ระบาดอยู่รอบทิศของประเทศ มีการเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการป้องกันโรค ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษต่างๆ ค่ายาฆ่าเชื้อ ค่าแรงงาน ค่าโอเวอร์เฮด ฯลฯ ล้วนต้องใช้เงิน เกิดเป็นต้นทุนการผลิตหมูที่สูงขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ มาปีนี้เจอภาวะแล้งจัดซ้ำเติมเข้ามาอีกระลอก ก็แทบจะยืนหยัดเลี้ยงหมูต่อไปไม่ไหว บางพื้นที่ถึงกับต้องซื้อน้ำจากแหล่งอื่นเข้ามาใช้ภายในฟาร์ม หากเป็นไปตามคาดการณ์ว่าภัยแล้งจะกินพื้นที่ครอบคลุม 22 จังหวัดด้วยแล้ว ลองคิดดูว่าค่าน้ำจะเกิดเป็นต้นทุนหนักหนาสาหัสเพียงใด

ผลพวงของภัยแล้งไม่ใช่เพียงแค่ขาดน้ำ แต่ยังรวมถึงต้นทุนอาหารสัตว์ เพราะพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์จะมีราคาสูงขึ้น จริงอยู่แม้เกษตรกรจะรับรู้สถานการณ์ มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับต้นทุนที่จะเกิดขึ้นจากภัยแล้งที่ยาวนานกว่าทุกปีแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการเก็บน้ำสำรอง การเจาะน้ำบาดาลเพิ่ม หรือการปรับวิธีการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การใช้น้ำซ้ำ หรือใช้อีเอ็มมาช่วยยืดเวลาการใช้น้ำ แต่มันก็คงไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรรอดพ้นจากภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้สักเท่าไหร่

Advertisement

คำกล่าวที่ว่า “ชีวิตเกษตรกรแขวนไว้กับธรรมชาติ” ยังคงเป็นจริงเสมอ สถานการณ์แล้งจัดและแล้งยาวนานครั้งนี้ เป็นภัยธรรมชาติที่กำลังก่อตัวทดสอบความเข้มแข็งของเกษตรกรคนเลี้ยงหมู สุดท้ายแล้ว ต้นทุนทั้งหมดจะผลักดันให้ราคาหมูสูงขึ้น…หากผู้บริโภคไม่เข้าใจต้นสายปลายเหตุดังกล่าวแล้วข้างต้น รวมถึงไม่เข้าใจว่ากลไกตลาดต้องทำหน้าที่ของมันในแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิต…ก็คงเป็นอวสานของคนเลี้ยงหมูหลายคนที่ต้องเลิกอาชีพนี้ไปโดยปริยาย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image