การปะทะกันของมนุษย์ต่างรุ่น : โดย กล้า สมุทวณิช

มีผู้กล่าวไว้แบบตลกร้ายว่าข่าวดราม่าปลายสัปดาห์ที่แล้ว เรื่อง “เด็กตบอาม่า” นั้นคือเรื่องของ Generation Crash หรือการปะทะกันระหว่างคนต่างรุ่นแบบตรงตามตัวอักษร-ปะทะกันถึงหน้าถึงตัวเลยทีเดียว

ต้นสายปลายเหตุอันเป็นข้อเท็จจริงที่ยอมรับตรงกัน คือ หญิงสูงวัยผู้หนึ่ง (ซึ่งใครจะเรียกว่าป้าหรืออาม่าก็สุดแต่วัยและมุมมอง) ไปรอบุตรหลานที่โรงเรียนเกิดเหตุ ระหว่างนั้นก็สนทนาโทรศัพท์ด้วยเสียงอันดังจนรบกวนเด็กและผู้ปกครองคนอื่น จึงมีผู้ปกครองเข้าไปเตือนหญิงผู้นั้น แต่ก็กลับถูกด่าว่าอย่างหยาบคาย และเมื่อเด็กนักเรียนชายคนหนึ่งช่วยสำทับยืนยันว่า ที่นี่คือสถานที่ส่วนรวมซึ่งไม่ควรส่งเสียงดัง หญิงสูงวัยก็ปรี่เข้าทำร้ายร่างกายด้วยการตบหน้าเด็กชายคนนั้น ซึ่งทำให้ฝ่ายที่ถูกตบก่อนโต้กลับด้วยวิธีเดียวกัน จนหญิงสูงวัยคนนั้นร่วงลงไปหน้าแนบโต๊ะก่อนที่จะมีคนมาแยกกันไป จบคลิปที่สาธารณชนได้เห็นแค่นั้น

แต่สิ่งที่ไม่ได้อยู่ในคลิปอันเป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่ยุติ คือเด็กชายผู้โต้กลับนั้นไม่ได้เข้าสอบกลางภาค ข้อเท็จจริงนี้ยังแย้งกันอยู่ ข่าวแรกอ้างว่าเด็กถูกพักการเรียน ส่วนทางโรงเรียนออกมาโต้ว่ามิใช่เช่นนั้น เด็กขอเลื่อนสอบด้วยตัวเองเพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย ซึ่งเราจะไม่ก้าวล่วงไปตัดสินกันเรื่องนั้น

ถ้าคิดว่าเรื่องนี้เป็นการปะทะกันของรุ่นชนเพียงเพราะอายุของคู่กรณีก็อาจจะใช่ และปัญหาการปะทะที่ว่านี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในที่อื่นของโลกด้วย ก่อนหน้านี้ก็มีกระแสแฮชแท็ก “#OK Boomer” ที่เริ่มต้นจากคนรุ่นที่เกิดปี 1940-1960 (พ.ศ.2483-2503) ที่เรียกว่าเป็นรุ่น “Baby Boomer” ออกมาโจมตีคนรุ่นหนุ่มสาววัย 20-30 ในทุกวันนี้ว่าขาดความอดทน ไม่มีจิตสำนึกรับผิดชอบ ฯลฯ อะไรต่างๆ อย่างที่เราคงพอนึกออก ส่วนคนรุ่นที่ถูกกล่าวหาก็สวนกลับไปด้วยสองพยางค์สั้นๆ “OK Boomer” และกลายเป็นแฮชแท็กที่เอาไว้ใช้กล่าวสวนเมื่อต้องปะทะกับคนรุ่นดังกล่าว

Advertisement

หรือเอาแบบที่ใกล้ตัวเราหน่อย ก็คือการปะทะกันระหว่างผู้ใหญ่ที่เชื่อว่า คนรุ่นเด็กและรุ่นหนุ่มสาวที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกใน พ.ศ.นี้ ผู้ไปเลือกพรรคอนาคตใหม่จนได้ที่นั่งในสภามากมายเกินคาดนั้นเป็นพวกที่ถูกล่อถูกหลอกไม่รู้คิด ก็เกิดการตอบโต้ถกเถียงสวนกันกลับไปกลับมา

หากเรื่องของเด็กนักเรียนโต้กลับอาม่านี้ จะบอกว่าเป็นการปะทะกันระหว่างผู้คนต่างรุ่นเช่นก็อาจจะไม่ตรงประเด็นเท่าไร เพราะปัญหามันอาจจะมาจาก “ค่านิยม” และ “โลกทัศน์” ที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของทั้ง “อาม่า”และ “เด็กหนุ่ม”

ค่านิยมหรือโลกทัศน์แรก คือเรื่องของความขัดแย้งเกี่ยวกับความคิดเรื่อง “พื้นที่ส่วนรวม”

Advertisement

คนกลุ่มแรกอาจมอง “พื้นที่ส่วนรวม” (รวมถึงอะไรต่างๆ ที่เป็นของส่วนรวมหรือสาธารณะ) ในแง่ของการ “ไม่มีเจ้าของ” และไม่มีใครมี “สิทธิ” เหนือพื้นที่หรือสิ่งของนั้น ดังนั้นใครใคร่ใช้อย่างไรก็ได้ ไม่มีใครมีสิทธิหวงกันหรือห้ามปรามออกกฎระเบียบข้อปฏิบัติเอาแก่การใช้สิ่งซึ่งไม่มีเจ้าของนั้น

ในขณะที่คนในอีกแนวคิดหนึ่งมองสิ่งเดียวกันนั้นว่า “พื้นที่ส่วนรวม” (และสิ่งสาธารณะต่างๆ) นั้นหมายถึงพื้นที่ซึ่งทุกคน “เป็นเจ้าของ” ร่วมกัน และทุกคนจะมีสิทธิใช้สิ่งอันเป็นส่วนรวมนั้นได้เพียงเท่าที่ไม่รบกวนสิทธิในการใช้พื้นที่หรือสิ่งนั้นของผู้อื่นที่ร่วมใช้ด้วย อย่างเรื่องการใช้เสียงในที่สาธารณะนี้ก็เช่นกัน ถ้าใครเคยไปญี่ปุ่นคงจะทราบว่าการพูดโทรศัพท์ในรถไฟนั้นเป็นมารยาทที่แย่ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเราก็เริ่มรับค่านิยมเช่นนั้นเข้ามาแล้ว ผู้ที่พูดโทรศัพท์หรือดูคลิปเสียงดังโดยไม่ใส่หูฟังในที่สาธารณะก็ถูกนินทาลงโซเชียล หรือถ้ามีคนกล้าก็อาจจะถูกตักเตือนกันต่อหน้า

เพราะเมื่อเราลงลึกไปใน “บทสนทนา” ก่อนจะเกิดการลงไม้ลงมือ คือการที่หญิงสูงวัยผู้นั้นพูดโทรศัพท์เสียงดังในบริเวณโรงเรียน จนรบกวนผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นทั้งหมด จนมีคนออกปากเตือนให้เบาเสียงลง นั่นเพราะผู้ที่บอกเตือนนั้น รู้สึกว่าผู้ที่ใช้เสียงดังนั้นกำลังละเมิดสิทธิในการใช้พื้นที่ส่วนรวม

ส่วนฝ่ายที่ถูกเตือนนั้น ความที่เข้าใจว่านี่คือพื้นที่ส่วนรวมอันไม่มีใครเป็นเจ้าของ ดังนั้นไม่ควรมีใครจะมาบอกกล่าวให้นางต้องลดเสียงลงได้ โทสะจึงบังเกิด ตามด้วยคำบริภาษและการโต้เถียงที่จบลงด้วยการลงไม้ลงมืออย่างที่เราเห็นกัน

มันคงจะไม่ยุติธรรมหากเราจะเหมารวมว่าคนรุ่น “อาม่า” ทุกคนนั้นจะมีสำนึกหรือค่านิยมเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะแบบนั้น แต่ก็อาจจะต้องยอมรับว่ามันเป็นเช่นนั้นโดยส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมเราถือปฏิบัติต่อ “สิ่งสาธารณะ” ทั้งหลายมาตั้งแต่ยุคก่อน ใครที่อายุกว่า 40 ปี คงจะนึกออกว่า ห้องน้ำสาธารณะนั้นสกปรกแค่ไหน แม้แต่ในห้างสรรพสินค้า นั่นเพราะมันคือที่ปลดทุกข์ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ ค่านิยมเรื่อง “ส่วนรวม” เพิ่งมาเปลี่ยนไปไม่ถึงยี่สิบปีก่อนหน้านี้ พร้อมกับแนวคิดและค่านิยมของความเป็นส่วนตัวและปัจเจกชน

เรื่องต่อมาที่อาจเรียกได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงของค่านิยมและโลกทัศน์ คือเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่” ในสังคม

เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องของการถือลำดับอาวุโสนิ้วก้อยหัวแม่มือในบ้านหรือกลุ่มคนในที่ทำงานหรือสถานศึกษาเท่านั้น แต่หมายความไกลออกไปในระดับที่ว่า “เด็กทุกคน” คือ “เด็กในบ้านเรา” และในทางกลับกัน “ผู้ใหญ่ทุกคน” คือ “ผู้ใหญ่ที่บ้านเรา”

ค่านิยมเช่นนี้ส่งผลให้ ผู้ใหญ่ทุกคนจึงชอบที่จะสั่งสอนดุด่าเด็กที่ไหนก็ได้แม้ไม่จำต้องรู้จักกัน และเด็กทุกคนก็ต้องกลัวผู้ใหญ่แม้จะไม่ใช่ญาติใช่โยมของเราเลยก็ตาม แนวทางนี้ได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไป เช่นผู้ใหญ่ที่มีค่านิยมเช่นนั้นจะไม่นึกโกรธถ้าใครที่ไม่รู้จักมาใช้อำนาจเช่นนั้นดุว่าสั่งสอนลูกเรา เพราะรู้ว่าเราเองก็มีสิทธิจะทำเช่นนั้นกับลูกหลานของใครก็ได้เช่นกัน

หากค่านิยมนี้ในปัจจุบันเปลี่ยนไป ด้วยความคิดและวัฒนธรรมแบบปัจเจกชนนิยม สิทธิในความเป็นส่วนตัว และความหลากหลาย เรื่องนี้ก็ต้องทำความเข้าใจ เพราะในสมัยก่อนแม้คำสอนจะต่างกันบ้างในเชิงปลีกย่อย แค่คุณค่าทางศีลธรรม (เด็กดีต้องพูดจาสุภาพเรียบร้อย มือไม้อ่อน ขยันขันแข็ง) และวิธีการลงโทษ (ดุด่าหรือเฆี่ยนตี) ของผู้ใหญ่ทั้งหลายนั้นไม่ได้แตกต่างกันนัก เช่นนี้ ใครก็สั่งสอนเป็นหูเป็นตาแทนพ่อแม่คนอื่นกับเด็กคนไหนก็ได้อย่างการจัดการงานนอกสั่ง เพราะถ้าพ่อแม่ของเด็กคนนั้นมาเห็นก็คงจะจัดการแบบเดียวกัน

แต่วิธีการนี้ใช้ไม่ได้กับยุคสมัยที่การเลี้ยงดูเด็กของแต่ละครอบครัวนั้นมีแนวทางที่แตกต่างหลากหลาย อย่างที่เป็นเรื่องของ “บ้านใครบ้านมัน” โดยแท้ และแม้กระทั่ง “ค่านิยม” หรือ “คุณธรรม” บางอย่างแต่ละบ้านก็อาจจะแตกต่างกัน เช่นมีบ้านที่ไม่ยึดถือเรื่องอาวุโสเลย ลูกสามารถพูดจากับพ่อแม่ได้เหมือนเพื่อนที่โรงเรียน หรือมีแม้แต่บ้านที่ไม่ยึดถือเรื่องความซื่อสัตย์ แนะนำให้ลูกหาทางได้เปรียบผู้อื่นไม่เลือกวิธี ด้วยเหตุนี้ การที่ใครสักคนไป “สั่งสอน” ลูกหลานของคนอื่น ก็เป็นเรื่องของการสาระแนก้าวล่วง

เช่นนี้ในสายตาของ “อาม่า” เมื่อเด็กชายนั้นกล้าที่จะว่ากล่าวตักเตือน (ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เด็ดขาดในค่านิยมเก่าเช่นนั้น) ความเดือดดาลจึงบังเกิด และเมื่ออาม่ามองเห็นเด็กชายเป็นเหมือนเด็กในบ้านที่บังอาจสามหาว ทั้งด้วยบันดาลโทสะ นางจึงคิดว่ามีสิทธิที่จะใช้มือตบหน้าทำร้ายเด็กนักเรียนที่ไม่รู้จักได้

ส่วนมุมมองของผู้ถูกกระทำ เมื่อยายแก่ที่ไหนก็ไม่รู้ เป็นญาติโยมก็ไม่ใช่ มาทำร้ายถึงเนื้อถึงตัว การตอบสนองก็จึงเป็นไปในลักษณะของการตอบโต้การประทุษร้ายจากบุคคลแปลกหน้าโดยปกติ ก็คือการตบสวนอาม่าหรือมนุษย์ป้ามหาภัยให้ร่วงไป

เรื่องที่น่าสนใจที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงไปของค่านิยมตรงนี้ก็ยังมีอีกว่า แม้เราจะไม่รู้จริงๆ ว่าทางโรงเรียนดำเนินการอย่างไรกับเด็กชายผู้สวนกลับ แต่เมื่อเรื่องเป็นกระแสขึ้นมาโลกออนไลน์ ทางโรงเรียนก็ออกมาแก้ข่าวในทำนองที่ว่าเด็กชายผู้นั้น “ไม่ผิด” โดยทำไปเพราะป้องกันตัวจากการประทุษร้ายของฝ่ายหญิงมีอายุที่เป็นผู้เริ่มต้นละเมิดสิทธิตัวเองและคนอื่นในพื้นที่นั้นก่อน

ซึ่งเรื่องนี้จะแทบเป็นไปไม่ได้เลยในโลกสักยี่สิบหรือสามสิบปีก่อน ที่จะมีเด็กนักเรียนสักคน ต่อให้มีเหตุผลดีแค่ไหนก็ตามแต่ ก็ถ้าเรื่องจบลงด้วยการลงไม้ลงมือกับผู้ปกครองโดยเฉพาะเมื่อเป็นหญิงมีอายุแล้ว ไม่มีทางเลยที่โรงเรียนจะมาประกาศว่า “ไม่ใช่ความผิดของเด็ก” ได้

สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของ “ค่านิยม” และทางโรงเรียนก็ไวพอที่จะปรับบทบาทให้สอดคล้องกับค่านิยมของยุคปัจจุบันนั้น ที่ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการซาวกระแสในโลกออนไลน์ด้วย

จากนี้ไปเราจะได้พบเห็นการปะทะและทดสอบกันระหว่างค่านิยมเก่าและค่านิยมใหม่นี้อีกมาก เรื่องหนึ่งที่เหมือนไม่ใช่เรื่องเดียวกันแต่ก็เป็นเรื่องการทดสอบทานค่านิยมเช่นกัน คือการที่ ส.ส. จากพรรคอนาคตใหม่แถลงข่าวการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิย์ ให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ไม่จำกัดว่าต้องเป็นหญิงหรือชาย ที่ฮือฮาคือในการแถลงข่าวดังกล่าวนี้ คู่รักเพศเดียวกันที่ไปด้วยได้จูบกันเพื่อแสดงสัญลักษณ์ของความเท่าเทียมของคู่ชีวิตไม่จำกัดเพศ

แต่เรื่องนี้หากซาวกระแสในสังคมส่วนใหญ่แล้วจะเห็นว่าออกมาเป็นผลลบ นั่นอาจจะพอชี้ได้ว่า แม้สังคมเราจะเห็นเรื่องของคู่รักเพศเดียวเป็นเรื่องปกติแล้ว แต่การแสดงออกซึ่งความรักด้วยกิริยาอันเปิดเผยนั้นก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าไรนัก และยิ่งไปแสดงในสถานที่เช่นรัฐสภาก็ยิ่งไปกันใหญ่ ซึ่งทำให้เราอาจจะมองไกลไปได้ว่าการต่อสู้เพื่อแก้ไขกฎหมายให้คนเพศเดียวกันสมรสได้อย่างชายหญิงนั้นก็อาจจะเป็นแนวปะทะกันในเชิงค่านิยมได้อีกครั้งหนึ่ง

การสอบทาน การเคลื่อนขยายขอบเขตเพื่อหยั่งรู้ ประเมิน และรับมือกับกระแสค่านิยมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาและสภาวะแวดล้อม คงเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งระดับปะทะหรือปีนเกลียวกันได้ แต่นั่นก็เป็นไปตามครรลองของสังคมที่ยังมีพลวัต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image