ความซับซ้อนและสับสน ของการแยกขยะในสังคมไทย : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

สังคมไทยมีความตื่นตัวกับเรื่องการบริหารจัดการขยะและความเชื่อมโยงกับประเด็นสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นมาก ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจพยายามจะแยกขยะ แต่ยอมรับตรงๆ ว่าผมแยกขยะในรายละเอียดไม่เป็น และเกิดความสับสนตลอดเวลาว่าควรจะแยกอย่างไร

ตัวอย่างเช่น เราถูกสอนและประชาสัมพันธ์ว่า พลาสติกเป็นขยะที่รีไซเคิลได้ (นำไปผ่านกระบวนการแล้วนำกลับมาใช้ใหม่) แต่คำถามว่า หลอดกาแฟที่ใช้แล้วแล้วไปทิ่มเต่า หรือ ถุงพลาสติกใส่ก๋วยเตี๋ยวมาเปียกๆ เนี่ย ตกลงจะทิ้งยังไง (ไม่นับหนังยางรัดถุง)

สืบถามและสอบถามแล้ว บ้านเรานั้นยังไม่มีระบบแยกขยะอย่างจริงจังในระดับครัวเรือน (ซึ่งถ้าแยกได้จะทำให้การบริหารการจัดเก็บและกำจัดง่ายขึ้น ลดปริมาณขยะไปถึงบ่อหรือเตาได้มาก) และที่สำคัญกว่าการแยกขยะคือความรู้เท่าทันประเภทขยะว่าจะแยกอย่างไร

เริ่มต้นจากเอกสารวิชาการของสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรื่องการจัดการขยะมูลฝอยในประเทศไทย (2562) ได้ระบุถึงการจัดประเภทขยะว่าอยู่ในกฎกระทรวงสาธารณสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป พ.ศ.2560 ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ที่แบ่งประเภทของขยะออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ 1.มูลฝอยทั่วไป 2.มูลฝอยนำกลับมาใช้ใหม่ 3.มูลฝอยติดเชื้อ และ 4.มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน

Advertisement

ในเอกสารของสำนักวิชาการฯ อ้างถึงประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560 ที่อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 34/1 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคเจ็ด แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2560 โดยกำหนดให้มีสีเฉพาะสำหรับรองรับมูลฝอยแต่ละประเภท หรืออาจกำหนดข้อความหรือสัญลักษณ์อื่นซึ่งแสดงถึงมูลฝอยประเภทนั้นไว้อย่างชัดแจ้งที่ภาชนะรองรับมูลฝอยแทนก็ได้ โดยแบ่งเป็น 1.สีน้ำเงิน สำหรับมูลฝอยทั่วไป 2.สีเขียว สำหรับมูลฝอยอินทรีย์ 3.สีเหลือง สำหรับมูลฝอยนำกลับมาใช้ใหม่ และ 4.สีส้ม สำหรับมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน โดยให้ราชการส่วนท้องถิ่นประกาศกำหนดวัน เวลา สถานที่ และเส้นทางการเก็บและขนมูลฝอยให้ผู้ก่อให้เกิดมูลฝอยทราบล่วงหน้าเป็นเวลาพอสมควร (หมายถึงในส่วนที่องค์กรปกครองท้องถิ่นต้องเอาถังไปวางในที่สาธารณะ)

ต้องย้ำก่อนว่าประเด็นที่ขอเน้นในวันนี้คือการแยกขยะ (จากครัวเรือนและชุมชน) ไม่ได้รวมไปถึงการกำจัดขยะที่มีหลายรูปแบบที่ในประกาศของกระทรวงมหาดไทยให้รายละเอียดเอาไว้ ส่วนที่พบในประกาศก็คือไม่มีการเน้นเรื่องของการแยกขยะในระดับครัวเรือนในส่วนของการออกกฎบังคับ แต่ก็ได้ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นไปจัดการในแง่ของการกำจัดขยะมูลฝอย และไปส่งเสริมการจัดหาภาชนะรองรับ ในที่สาธารณะ ไม่ใช่จัดให้แต่ละบ้าน

และมักมีคำถามกันมากมายว่าตกลงรถเก็บขยะนั้นเก็บรวมขยะทุกประเภทไปในรถเดียวกันอยู่ดีใช่ไหม

ในกรณีของ กทม. ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ชี้ว่ามีถังขยะอยู่ 3 สีที่ กทม.จัดหาไว้ให้ก็คือ น้ำเงินคือขยะทั่วไป สีเหลืองคือขยะรีไซเคิล และ สีส้มแดงคือขยะอันตราย และเริ่มมีรถเก็บขยะที่เก็บขยะแยกตามถังสี แต่เก็บไปทีเดียว (“เช็กเส้นทางขยะ กทม. 10,706 ตัน/วัน ไปไหน?” thebangkokinsight.com, 19/08/62)

จะเห็นว่าขนาด กทม. ซึ่งมีทรัพยากรครบทุกอย่าง เรื่องของการแยกขยะนั้นยังไม่ได้มีข้อบังคับในระดับครัวเรือน (แต่มีความพยายามในการขึ้นราคาค่าขยะจากเดือนละ 20 บาท เป็น 80 บาท แต่ก็ยังเลื่อนไปเรื่อยๆ เข้าใจว่าถึงเกือบปลายปี 2563) และการรองรับการแยกขยะเองก็ยังไม่ครบ 4 ประเภท (ตามเอกสารที่ค้นเจอนะครับ) และในภาพข่าวเองก็เริ่มมีถังขยะสีเขียวที่เรียกว่าขยะเศษอาหาร ซึ่งก็น่าจะหมายถึงมูลฝอยอินทรีย์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย สีเหล่านี้ก็ไม่ได้เข้ากันพอดีกับคำจำกัดความของกระทรวงสาธารณสุข

ขณะที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ตีพิมพ์หนังสือ “ทิ้งได้ถูกต้อง ช่วยโลกได้ถูกทาง” (ไม่ปรากฏปีพิมพ์) โดยแยก (ถัง) ขยะเป็น 4 ชนิดคือ 1.ถังขยะเปียก/ย่อยสลายง่าย 2.ขยะทั่วไป 3.ถังขยะรีไซเคิล และ 4.ถังขยะอันตราย ในหนังสือมีตัวอย่างที่น่าสนใจ อาทิ การไม่ได้อธิบายแต่ยกตัวอย่างการจัดการไม้ลูกชิ้นโดยให้หัก แต่ไม่ได้อธิบายว่าไม้ลูกชิ้นเป็นขยะแบบไหน หรือให้คำอธิบายว่า ขยะทั่วไปจะถูกนำไปฝังกลบเพราะไม่คุ้มค่าที่จะนำไปใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิล โดยไม่แน่ใจว่าใครจะตีความว่าคุ้มค่าไหม แต่กระนั้นเอกสารของ สสส. นี้ก็เป็นเอกสารเดียวที่พยายามใส่รายละเอียดตัวอย่างประเภทขยะเอาไว้ในรายละเอียด

แต่กระนั้นก็ตาม เอกสารของราชการไทยกับการปฏิบัติก็ยังใช้ชื่อประเภทไม่เหมือนกัน มิพักต้องตั้งข้อสงสัยว่าประชาชนจะมีความเข้าใจตรงกันไหมในรายละเอียด

ตัวผมตอนมีโอกาสไปใช้ชีวิตในเยอรมันหลายเดือนก็งงเพราะการแบ่งประเภทขยะซับซ้อน แต่ชอบที่เอาขวดพลาสติกเพดมาทำลายในเครื่องบดขวด และคืนขวดแก้ว ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต แล้วจะได้เงินนิดหน่อยเป็นเครดิตไว้ซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือผมประหลาดใจว่าขยะพวกเฟอร์นิเจอร์นั้นเราจะมาทิ้งหน้าบ้านไม่ได้ ต้องเอาไปทิ้งเองที่บ่อขยะ

หรือในกรณีของลูกศิษย์ผมที่ไปเรียนญี่ปุ่น ตอนที่เข้าหอนักศึกษาต้องไปเข้าอบรมการแยกขยะที่ซับซ้อนกว่าบ้านเรา และเมื่อย้ายจากหอมาอยู่บ้านก็ต้องซื้อถุงขยะแยกประเภทเพื่อทิ้ง ไม่ใช่จะมาเก็บค่าขยะโดยไม่ดูปริมาณละเอียดแบบที่เราพยายามจัดเก็บ รวมทั้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็เข้าใจว่าต้องมีการจ้างคนมาจัดเก็บอย่างมืออาชีพ ไม่ใช่โยนทิ้งหน้าบ้านแล้วเชื่อว่าจะมีคนเก็บไป

มีตัวอย่างในออสเตรเลียที่น่าสนใจ งานวิจัยของนักศึกษามหาวิทยาลัย Murdoch ที่เมือง Perth พบว่าประชาชนในเมืองดังกล่าวมีความสนใจ รับรู้ และกระตือรือร้นในการแยกขยะ แต่เอาเข้าจริงก็เกิดการสับสนว่าที่แยกขยะไปน่ะถูกหรือเปล่า

นอกจากนั้นยังพบว่า ในแต่ละเขตการปกครองท้องถิ่นนั้นก็มีกฎในรายละเอียดในการแยกขยะไม่เหมือนกันเข้าไปอีก (เพราะไม่มีกฎระดับประเทศ) โดยในการวิจัยมีการทำแบบทดสอบโดยถามประชากรที่อาศัยในบริเวณต่างๆ ว่าขยะแต่ละอย่างนั้นจะทิ้งลงถังไหน ก็พบว่า บางอย่างประชาชนก็เข้าใจตรงกัน เช่น พวกกิ่งไม้ใบไม้แห้ง ขวดแก้ว กระดาษหนังสือพิมพ์ แต่หลอดไฟ กล่องพิซซ่า แบตเตอรี่ กระป๋องสเปรย์ และพวกเศษกระถางแตกนั้นประชาชนเองก็ยังงงๆ ว่าจะทิ้งตรงไหน เมื่อพิซซ่าเป็นอาหารที่กินกันปกติอย่างกับ (ถุง) ข้าวแกงการจัดการกล่องพิซซ่าก็จะต้องแยกโดยตัดส่วนที่เป็นส่วนที่ไม่เปื้อนไปทิ้งในถังรีไซเคิล ส่วนที่เปื้อนน้ำมันและอาหารให้เอาไปทิ้งในถังขยะที่สามารถเผาได้ (บางประเทศเผาขยะแทนการฝังขยะ) หรืออาจจะมองเป็นขยะเปียก (ทีนี้ถ้าในมุมบ้านเราเราจะมองว่าเป็นขยะอินทรีย์หรือขยะทั่วไป ก็ต้องคิดดูละครับ แต่ตอนนี้ปนกันอยู่เพราะไม่ได้แยกสีทุกที่)

งานวิจัยยังชี้ต่อว่าความพยายามในการที่จะมีตำรวจตรวจถังขยะแต่ละบ้าน เพื่อตรวจว่าทิ้งถูกถังไหม (ไม่ใช่แค่ทิ้งลงถังแบบบางประเทศ) ทำให้ประชาชนไม่พอใจ เพราะจะรู้สึกเหมือนถูกละเมิดสิทธิ เหมือนกรณีถังขยะใส แต่ก็นั่นแหละครับ บางทีถังขยะใสข้อดีก็คือ ทำให้เรามีความรู้เพิ่มขึ้นว่าตกลงในถังนั้นเราทิ้งถูกประเภทแน่หรือเปล่า (รวมถึงเรื่องความปลอดภัยจากการก่อการร้าย)

อีกข้อค้นพบก็คือ ทัศนคติขององค์กรปกครองท้องถิ่นนั้นมักมองว่าประชาชนไม่ใส่ใจเรื่องการแยกขยะ ทั้งที่ในมุมของประชาชนนั้นพวกเขาอยากมีส่วนร่วมมาก แต่เขาไม่มีความรู้หรือไม่แน่ใจในนาทีสุดท้ายที่จะทิ้งขยะลงถังที่มีหลายถัง

ข้อเสนอหนึ่งก็คือการให้การศึกษานอกจากแผ่นพับ ก็ควรจะมีเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลและตอบคำถาม หรือการจัดทัวร์ไปดูที่สถานที่แยกขยะจะได้เห็นตัวอย่างที่ชัดเจน (E.Wyne. “Most people support recycling but are confused about which bin to use, research finds.” ABC Radio Perth. 25/07/18.)

กรณีของอังกฤษมีการทำสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ ว่าคนอังกฤษเองก็ยังงงว่าจะทิ้งขยะบางอย่างที่ถังไหน โดยเฉพาะกับเรื่องขยะรีไซเคิล อาทิ พวกพลาสติกว่าพลาสติกแบบไหนทิ้งที่ไหน และที่สับสนมากคือ จะทิ้งโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าอย่างไร แก้วกาแฟที่ใช้แล้วทิ้ง และตัวแผ่นฟิล์มพลาสติกที่ใช้คลุมอาหารตอนเข้าตู้อบไมโครเวฟหรือตู้เย็น ขณะที่ข้อมูลยืนยันว่าสองในสามของประชาชนอังกฤษนั้นทำการรีไซเคิล แต่อีกหนึ่งในสามไม่แน่ใจว่าทำถูกไหม และก็พบปัญหาเดียวกับออสเตรเลีย คือแต่ละองค์กรปกครองท้องถิ่นก็มีกฎในรายละเอียดในการแยกขยะที่ต่างกัน (ถ้าย้ายบ้านแล้วไม่ศึกษาอาจจะทำผิดหรืองง)

รายละเอียดที่มีการนำเสนอในรายงานข่าวของอังกฤษก็คือ กล่องพิซซ่านั้นรีไซเคิลไม่ได้ เพราะน้ำมันเปียกกระดาษ กระดาษห่ออาหารก็ไม่ได้เพราะเปียกอาหารและน้ำมัน กระดาษฟอยล์รีไซเคิลได้ ถ้าล้างเศษอาหารแล้ว แก้วกาแฟกระดาษรีไซเคิลได้ (น่าจะเพราะไม่มัน หรือแก้วมีไขกันความมัน ถ้าเทียบกับกระดาษกล่องพิซซ่า) ส่วนขวดแชมพูต้องล้างให้สะอาดแล้วตัวปั๊มให้ทิ้งขยะทั่วไป พรมนั้นถือเป็นขยะรีไซเคิล ขวด สเปรย์อัดก๊าซนั้นรีไซเคิลได้เพราะเป็นวัสดุ ส่วนหลอดไฟรุ่นเก่าให้ทิ้งขยะทั่วไป และหลอดไฟใหม่ที่เขียนว่ารีไซเคิลได้ก็ทิ้งตรงรีไซเคิล ส่วนถุงอาหารสัตว์นั้นรีไซเคิลไม่ได้เพราะมีส่วนประกอบของอะลูมิเนียมบางอย่างที่ถุงที่รีไซเคิลไม่ได้ จุกไม้ก๊อกของไวน์ก็รีไซเคิลเพราะไม่สลาย ส่วนแบตเตอรี่ก็ต้องมีที่ทิ้งเฉพาะ และแว่นตาให้ส่งไปที่มูลนิธิที่เปิดรับบริจาค (M.Dorking. “People are confused about recycling, here’s what you can and can’t recycle.” Yahoo Style UK. 15/07/19)

กรณีของยุโรปอย่างเนเธอร์แลนด์ มีงานวิจัยที่ชี้ว่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเองก็อยากจะรีไซเคิล แต่ก็ไม่ค่อยรู้ว่าจะแยกขยะอย่างไร มีเพียงครึ่งเดียวที่แยกขยะที่โรงอาหารถูกประเภท มีการเสนอว่าต่อให้เผยแพร่ข้อมูลเพิ่มก็ไม่ได้ช่วยให้แยกถูก เท่ากับการให้ข้อมูล ณ จุดที่จะทิ้ง เพราะช่วงเวลาก่อนทิ้งขยะคือจังหวะสำคัญในการตัดสินใจ (A.Arnadottir. Etal. Waste separation in cafeterias: A study among university students in the Netherlands. International Journal of Environment Research and Public Health. 16(1): 93, Dec. 2018)

อินโดนีเซียก็มีกรณีคล้ายบ้านเรา คือ ระเบียบของรัฐบาลที่ว่าด้วยเรื่องการจัดการขยะครัวเรือน (Government Regulation No.81/2012) แบ่งขยะเป็น 5 ประเภท คือ ขยะพิษ ขยะที่ย่อยสลายตามธรรมชาติ ขยะที่วัสดุนำมาใช้ใหม่ได้ ขยะที่นำมารีไซเคิล (ผ่านกรรมวิธี) และขยะอื่นๆ แต่ในระเบียบก็ไม่มีรายละเอียด และในความเป็นจริงแต่ละแห่งก็มีวิธีการสื่อสารและแยกขยะต่างกัน เช่นแบ่งเป็นขยะอินทรีย์ และขยะที่ไม่ใช่อินทรีย์ หรือบางที่แบ่งเป็น ขยะเปียก ขยะแห้ง และขยะพิษ สังคมอินโดนีเซียก็เลยเรียกร้องว่าควรจะให้มันชัดว่าจะเอาการแบ่งแบบไหน อย่าให้ซับซ้อนมาก (H.Wibowo. “Time to end confusion over waste separation” tulodo. 20/03/19)

เอาเข้าจริงแล้ว สิ่งที่สำคัญในการแบ่งประเภทขยะนั้นไม่ใช่การท่องล้วนๆ แต่มันต้องมีหลักทำความเข้าใจ ไม่งั้นประชาชนจะพิจารณาและจัดประเภทขยะของเขาไม่ได้ จากที่ผมลองพิจารณาข้อมูลแต่ละประเทศ เรื่องที่สำคัญในการทำความเข้าใจไม่ใช่แค่การท่องหรือมีรูป แต่ต้องชี้ให้เห็นว่า ขยะนั้นถูกกำจัดอย่างไรในระดับท้องถิ่น เมื่อเราเข้าใจประเภทของการกำจัดขยะ เช่น เผา ฝัง เอาไปรีไซเคิล เอาไปจัดการไม่ให้เกิดสารพิษ เราก็จะสามารถประเมินสภาพและวัสดุที่เราทำให้มันเป็นขยะได้ เราจึงจะเอาลงถังให้ถูกวิธี การท่องจำอย่างเดียวไม่ทำให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เว้นแต่พวกเกร็ดและข้อยกเว้น ตัวอย่างเช่นในญี่ปุ่นเขาแยกพื้นฐานว่าเผาได้หรือไม่ได้ แล้วเผาไม่ได้ค่อยแยกประเภท (แต่คำถามคือบางคนอาจจะคิดว่าทุกอย่างเผาได้ ดังนั้น การชี้แจงและให้ข้อมูลกับประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญอยู่ดี)

มาจนถึงหน้านี้ ในกรณีบ้านเราผมเองก็ยังงงๆ และหาคำตอบไม่ได้ว่าไม้ลูกชิ้นเปียกน้ำจิ้มจะโยนลงถังไหนดีครับ !!!

ป.ล. ขอขอบคุณ ดร.ภูมิ เพชรกาญจนาพงศ์ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย สำหรับข้อมูลและความรู้ในบทความนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image