ว่าด้วยเรื่องกองทุนฉุกเฉินสำหรับเด็กและเยาวชนของยูนิเซฟ

“59ล้านคน คือจำนวนของเด็กทั่วโลกที่ยูนิเซฟ (UNICEF) ตั้งใจที่จะให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (Humanitarian Action) ในปี ค.ศ.2020” ผมฟังตัวเลขแล้วแทบไม่เชื่อหูตัวเอง แต่นี่คือคำยืนยันจากคุณ Henrietta H. Fore ผู้ดำรงตำแหน่ง Executive Director หัวเรือใหญ่ขององค์กรยูนิเซฟเมื่อผมได้เจอเธอตอนไปร่วมขึ้นเวทีกล่าวในฐานะตัวแทนภาคเอกชนกับการประกาศแผนของปีหน้า สำหรับการดำเนินการด้าน Humanitarian Action for Children ของยูนิเซฟที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากจบงานผมเลยลองเข้าไปอ่านรายงานประจำปีของยูนิเซฟจากลิงก์ที่ได้รับและได้พบข้อมูลที่น่าตกใจเพิ่มอีกหลายอย่าง

จากตัวเลขของรายงานประจำปียูนิเซฟบอกว่า 1 ใน 4 ของประชากรเด็กทั่วโลกหรือกว่า 500 ล้านชีวิต อาศัยอยู่ในพื้นที่มีสงครามความขัดแย้งหรือพื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติขั้นรุนแรง ตัวผมเองในฐานะตัวแทนองค์กรที่ให้การสนับสนุนรายปีสำหรับกองทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนทั่วโลกของยูนิเซฟ เคยมีโอกาสติดตามทีมงานไปยังแคมป์ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในเลบานอนเมื่อหลายปีก่อน ทำให้เข้าใจถึงสภาพความเป็นจริง ความโหดร้ายของสงครามกลางเมืองที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ อนาคตของเด็กๆ และครอบครัวของพวกเขาในแบบที่เป็นใครก็ยากที่จะรับมือได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ ท่านทราบไหมครับว่า ณ ปัจจุบันยังเป็นช่วงเวลาที่โลกเรามีสงครามความขัดแย้งสูงสุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ที่ถูกรับรองเมื่อ ค.ศ.1989 สงครามกลางเมืองของซีเรียยืดเยื้อมากว่า 9 ปีแล้ว ในขณะที่สงครามในประเทศเยเมนก็ยาวนานมากว่า 4 ปีแล้ว นี่ยังไม่นับความขัดแย้งและสงครามในอีกหลายประเทศที่ส่งผลกระทบให้เด็กๆ กว่า 30 ล้านคน ต้องโยกย้ายถิ่นที่อยู่เดิม หลายชีวิตถูกทารุณกรรม เอาเปรียบ ใช้แรงงาน พวกเขาเหล่านี้ใช้ชีวิตแบบไม่มีเอกสารระบุตัวตนและไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการศึกษาพื้นฐานได้ ในขณะที่โรคระบาดร้ายแรงอย่างอีโบลาก็กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งเนื่องจากระบบสาธารณสุขที่ล้มเหลวอันเป็นผลมาจากสงคราม นี่ยังไม่รวมความยากลำบากที่เกิดจากภัยพิบัติร้ายแรงไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย พายุไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้กำลังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชีวิตและอนาคตของเด็กและเยาวชนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงเวลาที่ผ่านมา เด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้มีความเสียเปรียบอยู่แล้วจากสภาพความเป็นอยู่ที่ยากไร้ ไม่ได้รับสารอาหารอย่างที่ควร พลาดการศึกษาพื้นฐานและสุ่มเสี่ยงต่อการถูกใช้แรงงาน ยิ่งเกิดปัญหาสงครามและภัยธรรมชาติไปซ้ำเติมยิ่งน่ากังวลและอาจทำให้การพัฒนาทางสังคมที่ไปได้ช้าอยู่แล้วยิ่งถอยหลังไปกันใหญ่

Advertisement

องค์กรยูนิเซฟมีหน้าที่ในการวางแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นรูปแบบ รวมถึงการทุ่มเทปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ยูนิเซฟทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนที่ลงพื้นที่หรือที่อยู่เบื้องหลัง อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่จะเสริมสร้างศักยภาพในการช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ก็คือความช่วยเหลือสนับสนุนด้านการเงินที่ยูนิเซฟได้รับมาจากการบริจาคเพื่อใช้ในการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินนั่นเอง

ย้อนหลังไปในอดีต กิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กรที่ผมบริหารงานเราสนใจเรื่องของเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจับเรื่องใกล้ๆ ตัวที่เราสนใจเองมาเลือกสนับสนุน ซึ่งก็เป็นแค่การโฟกัสไปเฉพาะกลุ่มและความช่วยเหลือที่เราให้ไม่ได้ถูกกระจายออกไปยังสังคมหมู่มาก แม้จะเป็นเรื่องที่ดีและคนอื่นก็ทำกัน แต่นั่นไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าได้สร้างผลกระทบในทางบวกกับสังคมอย่างที่เราต้องการ ครั้นเมื่อถูกแนะนำให้รู้จักกับยูนิเซฟและได้เข้าใจการทำงานของ NGO ระดับสากลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน ที่มีเครือข่ายในหลายๆ ประเทศ ได้เห็นตัวเลขสถิติต่างๆ จากรายงานของยูนิเซฟที่เกิดจากการลงพื้นที่ของทีมงานเพื่อเก็บข้อมูล การพบปะพูดคุยกับหน่วยงาน NGO ระดับท้องถิ่น ฯลฯ ทำให้เราเกิด “ความเชื่อมั่น เชื่อใจ” ว่านี่อาจเป็นพันธมิตรที่จะช่วยให้เราช่วยเหลือเด็กและเยาวชนได้ถูกจุดมากขึ้น

จึงเป็นที่มาของการที่เมื่อ 10 ปีที่แล้วเราได้ตัดสินใจเสนอเข้าที่ประชุมกรรมการเพื่อบริจาคให้กับยูนิเซฟ รายปี เพื่อให้นำไปใช้สำหรับกองทุนฉุกเฉินสำหรับเด็กและเยาวชนที่ประสบภาวะลำบากจากภัยพิบัติ หรือสงครามกลางเมืองทั่วโลก โดยมีการตกลงกันไว้เลยว่าเราจะไม่กำหนดข้อแม้ของเงินบริจาคนั้นแต่อย่างใด เงินบริจาคที่เราให้ยูนิเซฟมีสิทธิตัดสินใจจะนำไปช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภูมิภาค สถานการณ์ และเหตุการณ์ใดๆ ก็ได้ตามความเหมาะสม โดยไม่กำหนดกรอบเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา และชนชั้น

Advertisement

ที่เราตัดสินใจเช่นนี้ก็เพราะว่าเรามีความเชื่อมั่นอย่างสูงในความโปร่งใสและความชำนาญการของยูนิเซฟ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นแนวคิดที่ต่างจากบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ หลายแห่งที่บริจาคให้ยูนิเซฟเพราะบางรายจะกำหนดตายตัวไปเลยว่าให้นำเงินบริจาคที่ได้จากตนไปใช้ในกิจการเรื่องใด

ต้องยอมรับครับว่าเงินบริจาครายปีของเรา ถ้าเทียบกับเม็ดเงินที่ยูนิเซฟต้องการในแต่ละปีนั้นไม่ได้เยอะเลย และถ้าเปรียบเทียบกับเงินบริจาคจากบริษัทข้ามชาติระดับโลกใหญ่ๆ แล้วถือว่าเทียบกันไม่ติด แต่อย่างน้อยผมคิดว่าเจตนารมณ์ของเราถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของพันธมิตรที่มีความเชื่อใจกันในความโปร่งใส และเชื่อมั่นในกลยุทธ์และประสบการณ์ของคนที่จะนำเงินไปใช้ว่าจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิผลในภาพรวมมากที่สุด ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์สุดท้ายก็คือเด็กและเยาวชนที่ต้องการความช่วยเหลือในทุกพื้นที่ที่ได้รับความลำบาก

โอกาสที่ผมตัวแทนจากองค์กรขนาดย่อมจากประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยได้รับเกียรติให้ไปกล่าวบนเวทีที่กรุงเจนีวา ถือเป็นการยืนยันว่าแนวคิดในเรื่องนี้ของเราถูกต้องและเหมาะสมที่สุด โดยแม้ว่าเราจะนับเป็นผู้บริจาครายเล็กในเวทีโลก แต่ผมสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากถึงการบริจาคแบบไม่มีเงื่อนไขผ่านการถ่ายทอด live streaming ไปยังหลายสำนักงานยูนิเซฟทั่วโลกและองค์กรพันธมิตรทั้งหลายของเขาให้ได้ตระหนักว่า “ความเชื่อมั่นและเชื่อใจ” คือสิ่งสำคัญที่สุดในการที่จะเป็นพันธมิตรกับใครสักคนในระยะยาว และอยากให้ทุกคนมองเห็นตรงกันว่าเด็กและเยาวชนที่กำลังประสบความลำบากทุกคนนั้นควรมิสิทธิได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกันผ่านกระบวนการที่โปร่งใส ถ้าเราไปมัวแต่กำหนดเงื่อนไขของเงินที่บริจาค นั่นเท่ากับว่าเรากำลังลิดรอนสิทธิของพวกเขาไปโดยปริยาย

ก็หวังว่าเสียงเล็กๆ จากองค์กรธุรกิจของไทยอาจจะถูกรับฟังบ้างจากองค์กรพี่ใหญ่ระดับโลก นั่นคือความหวังของผมครับ

เศรษฐา ทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image