จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้‘สามก๊กฉบับใหม่’ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’เล่นบท‘ซือหม่า อี้’ : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

การประชุมขั้นสุดยอดจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2019 ณ เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ประเทศจีน เป็นการวางแผนความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศเป็นเวลา 10 ปี

เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ “หลี่ เค่อเฉียง” นายกรัฐมนตรีจีนได้อ้างอิงเรื่อง “สามก๊ก” ยืนยันว่า 3 ประเทศสามารถร่วมมือกันได้ ไม่ควรเอาอย่าง “อุ้ย สู่ อู๋” (魏 蜀 吳) อันเป็นการทะเลาะเบาะแว้ง แก่งแย่งชิงดี สงสัยคลางแคลงใจ และเปี่ยมด้วยความโป้ปด

แม้จะเป็นการเหน็บแนม กระทบกระเทียบเปรียบเปรย

แต่เป็นอุทาหรณ์ที่ดี มีความสร้างสรรค์ เป็นคติสอนใจให้เกิดความรักและความสามัคคี เป็นการอันเหมาะสมกับกาลและการณ์ เพราะหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจีน-ญี่ปุ่น ไม่ว่าญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

Advertisement

ศรศิลป์ไม่กินกัน

อมตะวาจาของ “หลี่ เค่อเฉียง” จึงทรงคุณค่ายิ่ง

ทรงคุณค่าที่ก่อให้เกิดสันถวไมตรีโดยทั่วไป

Advertisement

และน่าเชื่อว่าคำพูดของ “หลี่ เค่อเฉียง” มิใช่ “อิเหนาเมาหมัด”

“หลี่ เค่อเฉียง” กล่าวว่า “ปัจจุบันขอบเขตทางการค้าระหว่างจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ได้นำหน้าสหภาพยุโรป เพียงรองจากเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือเท่านั้น โอกาสความร่วมมือนั้นสูง พื้นที่กว้างใหญ่ ในขณะเดียวกันชี้ว่า ในเรื่อง “สามก๊ก” มีเงื่อนปมแห่งความขัดแย้งมากมายในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศใดเปลี่ยนแปลงหรือมีความหย่อนยาน ก็จะเกิดเหตุการณ์กระทบถึง 3 ประเทศอย่างเป็นนิตย์ อันเป็นเหตุให้เกิดจินตนาการถึง “สามก๊กฉบับใหม่” แต่เบื้องหลังความสัมพันธ์แห่ง “ไตรภาคี” ยังมีสหรัฐเป็น “ภาคีที่ 4” หากจะกล่าวว่า “สามก๊กยกให้แก่ซือหม่า อี้ไปหมด” นั่นเป็นเพียงข้อสรุปของคนรุ่นหลังที่เบื่อหน่ายต่อการสู้รบอย่างต่อเนื่องอันยาวนานระหว่าง “อุ้ย สู่ อู๋” ดังนั้น จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ก็ควรต้องยึดถือประวัติศาสตร์เป็นบทเรียน อันต้องเพิ่มความเชื่อถือซึ่งกัน พยายามหาทางป้องกันมิให้เกิดความแตกแยก ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาชัยชนะร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย”

ต้องยอมรับสัจธรรม 1 ว่า นายกรัฐมนตรีจีนเน้นเอาเนื้องาน ไม่จัดฉากสร้างภาพ ไม่ใช้ลัทธิประชานิยม อันเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล และไม่มีตรรกะให้อธิบายได้

การที่ “หลี่ เค่อเฉียง” ยกเรื่อง “สามก๊ก” เปรียบเทียบกับเรื่องราว “สามประเทศ” นั้น

ตรรกะดี มีเหตุผล เป็นความเรืองรองแห่งปัญญาของผู้นำประเทศ เป็นคติสอนใจมนุษย์ เตือนสตินักการเมือง และเป็นกรณีศึกษา โดยเฉพาะกับประเด็นปัญหา “สามประเทศ”

“หลี่ เค่อเฉียง” เป็นตัวอย่างที่ดีของนักการเมืองในแถบนี้ ควรแก่การเลียนแบบ

ต้องไม่ลืมว่า ไปปักกิ่งมิใช่เพียงเพื่อกิน “เป็ดปักกิ่ง” เท่านั้น

ทศวรรษที่ 20 ของศตวรรษที่ 21 กำลังจะมาถึง การเสนอให้มีการวางแผนความร่วมมือ 10 ปีของการประชุมสุดยอด “เฉิงตู” ครั้งนี้ ถือเป็นแบบแผนและพิมพ์เขียวที่สุดยอด ทั้ง 3 ประเทศตกลงยินยอมให้มีการเจรจาโดยด่วนเพื่อบรรลุสัญญาการค้าเสรีจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เพื่อจะได้ลงนามอันเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

เหมันตฤดูกำลังจะผันผ่าน วสันตฤดูกำลังกระชับเข้ามาทุกขณะ

ทั้ง 3 ประเทศยังได้ตกลงยินยอมช่วยเหลือผลักดันการเจรจาระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือ อันเกี่ยวการผลักดันให้หมู่เกาะเกาหลีเหนือปลอดอาวุธนิวเคลียร์

ประเทศจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้เป็นเพื่อนบ้านกัน

แม้มีการช่วยเหลือซึ่งกันทางเศรษฐกิจตั้งแต่กาลอดีต

แต่เนื่องจากมีความขัดแย้งอันเกี่ยวกับประเด็นทางประวัติศาสตร์และปัญหาเขตแดน ตลอดจนปัญหาไม่ลงรอยระหว่างประเทศเบอร์ใหญ่

อันเป็นอุปสรรคขัดขวางความร่วมมือระหว่างจีน-ญี่ปุ่น

และกลายเป็นเหตุให้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้นำ 3 ประเทศต้องหยุดชะงักขาดตอน

การชะงักขาดตอนเกิดขึ้นหลังจาก “การประชุมอาเซียนและจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ (10+3)”

ย้อนอดีต การประชุมผู้นำ 3 ประเทศเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อ 2008

มีการประชุมเพียง 8 ครั้งเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจาก

1.ความสัมพันธ์ 3 ประเทศคุ้มดีคุ้มร้าย เป็นเหตุให้การประชุมชะงัก

2.ปัญหา “fishing island” จีน-ญี่ปุ่นเกิดความขัดแย้ง การประชุมก็ชะงักเช่นกัน

หลังเหตุการณ์ “fishing island” เวลาผ่านไป 7 ปี

วันนี้ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมขึ้นใหม่ เพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทั้ง 3 ประเทศ

ดังนั้น การที่ “หลี่ เค่อเฉียง” นำเรื่อง “สามก๊ก” มาเปรียบเทียบกับ ปัญหา “สามประเทศ” นั้น

จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมแก่เหตุ และถูกใจของคนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพราะพวกเขานิยมอ่าน “สามก๊ก” อยู่แล้ว แต่ไม่อ่าน “Animal Farm” เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ได้แนะนำให้อ่าน

การอ้างอิงเรื่อง “สามก๊ก” นั้น จึงเป็นการแสดงถึงวุฒิภาวะของนายกรัฐมนตรีจีน

การอ้างอิง “สามก๊ก” เพื่อกระชับไมตรีของ “สามประเทศ”

เป็น sense of humor มีรสชาติ ได้บรรยากาศ

สรรเสริญชื่นชมไม่พอ ต้องสดุดีด้วย

ความสำคัญของการประชุมระหว่างจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ครั้งนี้ คือเน้นย้ำการใช้กลไกทางยุทธศาตร์เพื่อสร้างความร่วมมือระยะยาว และเพื่อความอยู่รอดของ “สามประเทศ”

รัฐบาลจีนนอกจากเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ยังทำหน้าที่เป็น lobbyist เพื่อจูงใจโน้มน้าวให้ “ชินโสะ อาเบะ” กับ “มุน แจ-อิน” หันหน้าเข้าหากัน และเปิดการประชุมทวิภาคีด้วย

ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้เกิดกรณีพิพาทกัน

อันเนื่องจากประเด็นทางประวัติศาสตร์และปัญหาทางการค้า

แม้การพบกันครั้งนี้ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

แต่อย่างน้อยก็เป็นโอกาสที่ผู้นำทั้ง 2 ได้หันหน้าเข้าหากัน และแสดงเจตนาที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป ตลอดจนคลายความตึงเครียดของ 2 ประเทศได้ระดับหนึ่ง

แต่การแก้ปัญหาย่อมต้องประสบพบพานกับอุปสรรคแน่นอน

อุปสรรคนั้นคือ สหรัฐ “เตะขัดขา” เสมอ “จระเข้ขวางคลอง”

การทำหน้าที่ของ “หลี่ เค่อเฉียง” ครั้งนี้ เสมอ “หลู่ จ้งเหลียน” ในสมัยจั้นกั๋ว

“หลู่ จ้งเหลียน” เป็น lobbyist ระบือนาม ไม่ต้องการตำแหน่งทางการเมือง เพียงเพื่อทำหน้าที่เจรจาต่อรอง จูงใจโน้มน้าวบรรดาผู้ใช้อานาจรัฐ ให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดที่ถูกต้องและชอบธรรม ทั้งนี้ มิได้มุ่งหวังผลประโยชน์อื่นใดเป็นการส่วนตน

เป็นที่เข้าใจทั่วไปว่า ตอนอวสานของ “สามก๊ก” ต้องตกเป็นของ “ซือหม่า อี้” (司馬懿)

ก็เพราะ “อุ้ย สู่ อู๋” ยังพิพาทไม่ยอมเลิกรา ในที่สุดไม่มีผู้ใดชนะ

และผู้ชนะที่แท้จริงก็คือ

“วงศ์วานว่านเครือ” ของ “ซือหม่า” (司馬) ซึ่งถือเป็น “ภาคีที่ 4”

อุปมาก็คือ หากจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ยังเกิดความขัดแย้งแตกแยกกัน เหมือนในเรื่อง “สามก๊ก” ในที่สุด ก็อาจจะตกอยู่ในสภาพเหมือน “อุ้ย สู่ อู๋” หากต่างกันที่ผู้ปกครอง

จาก “ซือหม่า อี้” เป็น “โดนัลด์ ทรัมป์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image